HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 23/06/2563 ]
ปลดล็อกเฟส5เข้มเปิดผับ-บาร์

  ‘4,500ร.ร.’ทั่วประเทศ! ให้เรียนแบบสลับกัน ไทยไร้โควิด28วันแล้ว
          ศบค.ยิ้มหน้าบาน ไทยปลอดคนติด เชื้อโควิด-19 ในประเทศครบ 28 วัน พร้อมออกมาตรการเข้มรองรับคลายล็อกเฟส 5 เปิดผับบาร์ จัดการศึกษารับเปิดเทอมใหญ่ 1 ก.ค. 4.5 พันโรงเรียนให้สลับกันเรียน แต่ “วิษณุ” ยังกั๊กเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะเดียวกันลูกหนี้โล่งแบงก์ชาติงัดมาตรการช่วยเหลือระยะ 2 ทั้งขยายเวลาพักชำระหนี้รถ-บ้าน-บัตร-สินเชื่อ พร้อมลดดอกเบี้ยลงอีก ขณะที่ “มูลนิธิช่วยเหลือหญิงบริการ” จับมือ 51 องค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ขอความชัดเจนเปิดสถานบริการ โอดทุกคนเดือดร้อนหนักยิ่งโรงเรียนใกล้เปิดแต่ไม่มีเงินจะจ่ายค่าเทอมลูก ด้านกรมควบคุมโรคยังมึนต้นตอระบาดของ 4 เมียนมาติดเชื้อหลังกลับประเทศ ส่วนอีก 19 ราย ยืนยันรักษาหายแล้วแน่นอน ส่วนการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในลิงฉลุย ฉีดเข็ม 2 เรียบร้อย มั่นใจ ก.ค.นี้ได้ฉีดเข็มที่ 3
          ในที่สุดไทยก็รักษามาตรฐานจนปลอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง (โควิด-19) เป็นวันที่ 28 ซึ่งอาจทำให้การผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 5 ในเดือน ก.ค. ที่จะถึงนี้ มีความเป็นไปได้สูง
          “วิษณุ” ยังกั๊กเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
          ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 มิ.ย.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณีหากไม่ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้กิจการ/กิจกรรมที่เหลือได้รับการปลดล็อกทั้งหมดโดยอัตโนมัติเลยหรือไม่ว่า ใช่เว้นแต่จะนำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อมาตรา 34 และ 35 ก็ล็อกได้ แต่ไม่เหมือนล็อกที่ผ่านมา ที่การปิดบาร์ทุกบาร์ผับทุกผับ สนามบินทุกแห่ง เกิดจากอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะล็อกได้เป็นร้านๆ เป็นจุดๆที่มีปัญหา และเป็นวันๆ ซึ่งอาจไม่ทันการณ์ เพราะโรคติดต่อมันมากับคนเราไม่รู้ว่าคนไปไหนมาบ้างทั้งหมดที่อธิบายมาคือ จะบอกว่าคำว่าล็อกไม่มีในกฎหมาย เราพูดเอง มันแปลว่าปิด เราพูดคำว่าปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ อันนั้นเรียกล็อกดาวน์จริงๆ จะทำอย่างนั้นได้ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะล็อกดาวน์แบบนี้ไม่ได้ แต่จะล็อกดาวน์เป็นร้านหรือห้างสรรพสินค้าได้ โดยปิดเป็นจุดๆ เป็นวันๆไป พอแก้ไขปรับปรุงแล้วก็เปิดให้เขา ดังนั้น ขึ้นอยู่กับว่าถ้ามันไม่ระบาดอะไรมาก และยังคงไม่มีการติดเชื้อในประเทศเหมือนทุกวันนี้ มันก็ทันการณ์ แต่ถ้าตูมเดียวมามันไม่ทันการณ์ที่จะไปไล่ปิดทีละร้าน เหมือนกรณีสนามมวยที่ต้องไปไล่เรียกมาทีละคนว่าไปร้านไหนมาบ้าง ฉะนั้นขอให้หมอ ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายความปลอดภัยเขาไปคิดชั่งน้ำหนัก เขาไม่มั่ว ไม่เดา แต่จะเอาสถิติทั้งหมดมาดูล่วงหน้า
          คาดคุยต่ออายุปลายสัปดาห์
          เมื่อถามว่าจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะขยายหรือไม่ขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ยินว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากข้อมูลยังน้อยและไม่เพียงพอ อย่าลืมว่าเราเพิ่งผ่อน คลายระยะที่ 4 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.จึงยังเร็วไป แต่สัปดาห์นี้ เขาคงได้คุยกันในวันที่ 25 หรือ 26 มิ.ย.นี้ เพราะได้ตัวเลขที่มากขึ้น
          ไทยไม่พบเชื้อใน ปท.28 วัน
          จากนั้นเวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก แถลงว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย พบในสถานที่กักตัวของรัฐทั้งหมด เป็นเพศหญิงอายุ 11 ปี 21 ปี และ 34 ปี เดินทางกลับจากอินเดียถึงไทยวันที่ 18 มิ.ย. เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อวันที่ 20 มิ.ย. แต่ไม่มีอาการทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,151 ราย หายป่วยสะสม 3,022 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 71 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เพิ่มเติม ทำให้ยอดคงที่ 58 ราย วันนี้ถือเป็นวันที่ 28 ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ทำให้เราอุ่นใจและสบายใจขึ้น แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะสถานการณ์ประเทศต่างๆทั่วโลกยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงอยู่ นอกจากนี้ ในวันที่ 22 มิ.ย.จะมีคนไทยเดินทางกลับ 5 เที่ยวบิน จำนวน 429 ราย และวันที่ 23 มิ.ย. 4 เที่ยวบิน จำนวน 476 ราย ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก 9,046,067 ราย เสียชีวิต 470,703 ราย
          เล็งเพิ่มผ่อนคลายคนเข้าประเทศ
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศ 28 วัน ถือเป็นสองเท่าของระยะฟักเชื้อ เป็นที่น่าไว้วางใจมากขึ้น คณะกรรมการกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คุยกันว่าเราแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มที่จะผ่อนคลาย คือ 1.กลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับการกักตัวก่อนเข้าประเทศ แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ นักธุรกิจ นักลงทุน ที่ลงทะเบียนไว้ 700 คน กลุ่มแรงงานมีฝีมือ ผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเข้ามาทำงานด้านธุรกิจ ประมาณ 2.2 หมื่นคน กลุ่มคนต่างด้าวที่มีครอบครัวเป็นคนไทย 2 พันกว่าคน และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ต้องการเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล 3 หมื่นกว่าคน โดย 4 กลุ่มนี้จะมีการเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ว่าสามารถทำได้เลย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนธุรกิจ
          พิจารณากลุ่มมาไม่ต้องกักตัว
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า 2.การจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศที่มีความปลอดภัยจากโควิด-19 สูง (ทราเวล บับเบิล) เป็นกลุ่มที่ขอผ่อนผันไม่อยู่ในสถานกักตัวของรัฐ แบ่งเป็น นักธุรกิจ นักลงทุน เพราะเข้ามาเจรจาธุรกิจในระยะสั้นๆ 3-5 วัน แขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการ ที่เชิญมาประชุมหรือมาเป็นวิทยากร เข้ามาเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาในระยะสั้น การกักตัวจึงไม่เหมาะสม กลุ่มนักท่องเที่ยวตามโครงการทราเวลบับเบิล กลุ่มนี้ต้องคิดกันเยอะ ต้องมีมาตรการมากเพื่อรองรับ เพราะมีจำนวนมากที่ต้องการเข้ามา เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็น 3 ประเทศหลักที่นิยมมาประเทศไทย และ 3 ประเทศนี้ก็พยายามควบคุมดูแล มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะดูแลพวกเขา โดยคณะกรรมการกลั่นกรองฯจะนำเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณา
          4.5 พันโรงเรียนสลับกันเรียน
          ด้านนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ แถลงว่า กรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ออกคู่มือการปฏิบัติของสถานศึกษา เพื่อเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดกรมอนามัย 20+24 ข้อ ซึ่งสถานศึกษาต้องมีการคัดกรองสุขภาพ ตรวจสอบการสวมหน้ากาก ล้างมือ จัดเตรียมสบู่ แอลกอฮอล์ ทำความสะอาด เว้นระยะห่างและลดความแออัด ทั้งนี้ โรงเรียนที่สามารถจัดห้องเรียนเว้นระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ทำให้นักเรียนมาเรียนพร้อมกันได้มีทั้งหมด 31,000 โรงเรียน ทั้งโรงเรียนของรัฐบาล นานาชาติและอาชีวศึกษา ส่วนโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถให้นักเรียนมาเรียนพร้อมกันได้ และต้องจัดให้สลับกันมาเรียนมีจำนวน 4,500 โรงเรียน ในส่วนนี้คนที่ไม่มาเรียนที่โรงเรียนก็ให้เรียนทางออนแอร์หรือออนไลน์ที่บ้าน โดย 4,500 โรงเรียน จะมีการจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน 5 รูปแบบ 1.เรียน 5 วัน หยุด 9 วัน 2.สลับวันคี่/คู่ 3.เรียนผสม 4.สลับเรียน และ 5.สลับเช้า-บ่าย
          7 ประเด็นน่าห่วงช่วงเปิดเทอม
          นายวราวิชกล่าวว่า มี 7 ประเด็นที่มีข้อห่วงใย 1.รถโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการมอบงบประมาณให้โรงเรียนไปจัดหาซื้อรถโรงเรียนเพิ่มเติม 2.เด็กเล็ก โดยโรงเรียนขนาดเล็กนอกจากมีครูประจำแล้วจะมีครูผู้ช่วยร่วมดูแล รวมการจัดให้เด็กนอนห่างกัน 1.5 เมตร หันเท้าชนกัน และไม่สวมหน้ากากระหว่างนอน 3.การรับประทานอาหารกลางวัน ให้แบ่งเป็น 4 รอบ รอบละ 30 นาที 4.เรื่องการสอบกระทรวงศึกษาฯจะมีการประกาศภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ว่าจะต้องสอบหรือไม่ แต่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องสอบ 5.กรณีปิดโรงเรียน ให้มีการคัดแยกคนที่มีอาการ แจ้งผู้ปกครอง แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ หากไม่พบก็สามารถเปิดโรงเรียนได้ตามปกติ แต่หากพบว่ามีคนติดเชื้อให้ปิดโรงเรียน 3 วันเพื่อทำความสะอาด ผู้ใกล้ชิดหยุด 14 วัน 6.ศบค.ได้ประสานกับกระทรวงศึกษาฯ อยากให้มีการใช้แอปไทยชนะ อีกส่วนหนึ่งจะให้ครูจดรายชื่อเด็กที่มาเรียน และ 7.โรงเรียนชายขอบ ที่เด็กจะข้ามชายแดนเข้ามาเรียน ยังไม่เปิดให้เข้ามาเรียน ก็มีการประสานกับ ตม. เพื่อเอาใบงานไปใส่ในกล่อง และเด็กนักเรียนมาเอาใบงานและทำการบ้านมาใส่กล่อง โดยไม่ต้องเจอกัน ส่วนการเรียนการสอนก็เรียนทางโทรทัศน์
          แจงยิบ 22 กฎรองรับเปิดผับบาร์
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการเฉพาะกิจฯของ ศบค. โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ในฐานะรองประธานฯ ได้หารือกับตัวแทนผู้ประกอบการสถานบันเทิงฯแล้ว ได้ออก 22 มาตรการ รองรับการเปิดผับ บาร์ สถานบันเทิง โดยจะเสนอต่อที่ประชุม ศบค.ก่อนจะผ่อนปรนเฟส 5 ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจผ่อนคลายฯเตรียมร่างมาตรการเสนอ ศบค. สำหรับการเปิดสถานบริการผับ บาร์ รวม 22 มาตรการ คือ 1.ควบคุมจำนวนผู้เข้าใช้บริการให้เหมาะสมต่อพื้นที่มิให้แออัด และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม 2.ต้องมีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิพนักงานและผู้ใช้บริการทุกคน 3.จัดให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือบริเวณทางเข้า และตามจุดต่างๆตามความเหมาะสม 4.งดการเข้าใช้บริการเป็นกลุ่มเกิน 5 คนขึ้นไป 5.จัดระบบเข้าคิวบริเวณทางเข้าให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลโดยมีผู้ควบคุม 6.จัดให้มีระยะห่างระหว่างโต๊ะแต่ละโต๊ะไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรือทำฉากกั้นระหว่างโต๊ะ 7.กำหนดจุดวางเก้าอี้สำหรับแต่ละโต๊ะ ให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งอย่างน้อย 1 เมตร โดยควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายเก้าอี้ 8.จัดให้มีการระบายอากาศที่ดี
          งดตะโกน-ร้องรำทำเพลง
          9.อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น งดการส่งเสียงร้องเพลงและเต้นรำ 10.ใช้เมนูกระดาษแบบครั้งเดียวทิ้ง (disposable menu) แทนการใช้เมนูเล่ม 11.การสั่งเครื่องดื่มให้สั่งเป็นรายแก้ว โดยให้พนักงานเป็นผู้เสิร์ฟ แทนการสั่งเป็นเหยือกหรือเป็นขวด เพื่อเลี่ยงการสัมผัสขวด ถังน้ำแข็งและแก้วของผู้อื่น รวมถึงป้องกันการสลับแก้วกัน 12. พนักงานต้องใส่หน้ากากอนามัย และ face shield ตลอดเวลา 13.จัดให้มีฉากกั้นระหว่างเวทีหรือพื้นที่การแสดง กับพื้นที่ในส่วนของผู้ใช้บริการ หรือจัดระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร 14.พูดแสดงบนเวทีต้องสวม face shield ตลอดเวลา 15.จัดให้มีผู้ควบคุมไม่ให้เกิดการชุมนุม รวมกลุ่ม ตะโกน หรือใช้เสียงดัง และไม่ให้มีการเดินไปเดินมา 16.จัดให้มีอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มสำหรับแต่ละบุคคล โดยมีช้อนกลางและที่วางช้อนกลางส่วนตัวสำหรับผู้ใช้บริการแบบหมู่คณะ
          ห้ามมีพริตตี้เชียร์เบียร์งดโต๊ะพูล
          17.ต้องทำความสะอาดสุขาทุก 30-60 นาที 18.ทำความสะอาดพื้นที่บริการ โต๊ะ เก้าอี้ ราวจับ ลูกบิดประตู เคาน์เตอร์ จุดสัมผัสและอุปกรณ์อื่นๆ ด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ พร้อมกับจัดให้มีการระบายอากาศในพื้นที่ให้มีความเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง 19.ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเล่น การแข่งขัน หรือทำให้เกิดการรวมกลุ่มการเชียร์กัน 20.งดการใช้เครื่องเล่นหรืออุปกรณ์การเล่นเกมต่างๆ เช่น โต๊ะพูล เป้าลูกดอก ตู้เกม เป็นต้น 21.จัดพื้นที่สำหรับการสูบบุหรี่โดยเฉพาะและให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเหมาะสม 22.งดให้พนักงานบริการหรือตัวแทนประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มนั่งรวมกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้คณะกรรมการฯอยากให้สังคมคิดถึงพนักงาน ลูกจ้าง นักดนตรี ที่เดือดร้อน ไม่ได้คิดถึงเจ้าของ หรือผู้ประกอบการ หรือคนมาเที่ยวเป็นหลัก เพราะพนักงานเดือดร้อนมาก อีกทั้งเงินเยียวยาสิ้น มิ.ย.ก็จบแล้ว แต่บางคนไม่ได้รับเงินเยียวยา
          เอ็มพาวเวอร์ยื่น 4 ข้อช่วยสาวบริการ
          วันเดียวกัน น.ส.ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งทำงานช่วยเหลือหญิงบริการในประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายภาค ประชาชนและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนกลุ่มพนักงานบริการ ทั้งจากกรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต มุกดาหาร อุดรธานี เครือข่ายพนักงานบริการนานาชาติ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิอิสระชน ฯลฯ ลงนามในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกรัฐมนตรีและ ศบค.ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ประเด็นคือ 1.รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าสถานบริการจะปิดเป็นเวลานานเท่าไหร่เพื่อให้พนักงานบริการสามารถวางแผนชีวิตได้ 2.ขยายเวลาการช่วยเหลือเงินเยียวยากับพนักงานบริการทั้งที่เป็นคนไทย กลุ่มชาติพันธุ์และแรงงานข้ามชาติ 3.เร่งรัดการจ่ายเงินว่างงานให้กับพนักงานบริการที่เป็นผู้ประกันตน และขยายเวลาจาก 90 วันเป็น 180 วัน และ 4.รัฐต้องลบประวัติความผิดทางอาญากับคนที่เคยถูกจับในความผิดค้าประเวณีเพื่อสามารถสร้างชีวิตใหม่ นอกจากนี้ทางกลุ่มยังจะใช้ช่องทางรัฐสภา โดยส่งตัวแทนเข้าพูดคุยกับพรรคการเมือง เพื่อขอความช่วยเหลือในการส่งข้อเรียกร้องผ่านไปยังที่ประชุมรัฐสภา โดยจะรอคำตอบถึงวันที่ 26 มิ.ย. หากไม่ได้ผลอาจหาแนวทางอื่นในการเรียกร้องต่อไป
          ตกงานไร้เงินค่าเทอมลูก
          ผู้ประสานงานเอ็มพาวเวอร์กล่าวว่า หลายอาชีพได้กลับไปทำงาน แต่ ศบค.ยังไม่มีวิธีที่จะเปิดสถานบริการ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวดให้ปลอดภัยยิ่งพนักงานบริการที่เป็นชาติพันธุ์และคนที่ถือบัตรแรงงานข้ามชาติ ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆเลย ผลกระทบนี้รวมไปถึงลูกจ้างในสถานบริการมากกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ที่สำคัญหญิงบริการร้อยละ 80 ในประเทศล้วนเป็นแม่มีลูกที่จะต้องดูแล ตอนนี้ทุกคนเกิดความกังวลอย่างมากเพราะโรงเรียนใกล้จะเปิดต้องจ่ายค่าเทอมแล้วแต่ยังไม่สามารถหาเงินได้ หลายคนต้องไปทำงานก่อสร้าง รับจ้าง แต่สมัครงานได้บ้างไม่ได้บ้างเพราะคนว่างงานกันเยอะ
          แนะเอา “ออสซีโมเดล” มาปรับใช้
          “หากมีการผ่อนปรนให้เปิดบริการก็น่าจะวางมาตรการป้องกันได้เหมือนสถานที่อื่น เว้นการเช็กอินเพราะคงไม่มีใครอยากจะมาเช็กอินก่อนมาใช้บริการแน่ แต่ในออสเตรเลีย ซึ่งมีการผ่อนปรนให้เปิดสถานบริการ มีการเสนอข้อมูลการให้บริการทางเพศในแบบปลอดภัยจากโรคโควิด-19 น่านำมาปรับใช้ในประเทศ ไทยได้ อาทิ ลูกค้าที่เข้ามาจะต้องอาบน้ำล้างตัวให้สะอาดก่อน จัดจุดถอดเสื้อผ้าลูกค้าไว้เฉพาะ หรือเมื่อลูกค้ากลับไปก็จะต้องทำความสะอาดทั้งหมด ห้ามจูบปากลูกค้า เป็นต้น สถานบริการในไทยนั้นนอกจากอาบอบนวดแล้ว บาร์ อะโกโก้ คาราโอเกะ จะไม่มีการให้บริการทางเพศในร้าน ถ้ามีก็เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนสองคนและออกไปข้างนอก ต่างฝ่ายต้องเรียนรู้ความปลอดภัยของตัวเอง แต่ที่อยากให้เปิดไปก่อนเพราะเป็นสถานที่ทำงานของคนจำนวนมาก” น.ส.ทันตากล่าว
          ยืนยัน 19 เมียนมาป่วยในไทย
          ต่อมาช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงเพิ่มเติมถึงกรณีทางการเมียนมารายงานพบคนเมียนมาเดินทางกลับจากไทยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 23 ราย ว่าตรวจสอบรายชื่อตามพาสปอร์ต 19 รายเป็นคนเมียนมาที่อยู่ในสถานที่กักกันของไทย ที่ด่านสะเดา มีการติดเชื้อและรักษาหายแล้วตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย. ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ รักษาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นให้กักตัวต่อ 14 วัน สวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดต่ออีก 1 เดือน ซึ่งตลอดเวลาคนเหล่านี้อยู่ในศูนย์กักแยกของไทยตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง และนำมาสู่การกักกันที่ฝั่งเมียนมา ซึ่งมีการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เหมือนกับผู้ป่วยในไทยที่รักษาหายแล้วกลับพื้นที่ มีการตรวจซ้ำพบสารพันธุกรรม แต่เมื่อนำเพาะเชื้อก็ไม่ขึ้น แปลว่าเป็นซากเชื้อที่ไม่มีการแพร่โรค
          ไม่วางใจเร่งตรวจสอบเชิงรุก
          นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า ส่วนอีก 4 ราย ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสอบสวนโรคคาดว่าน่าจะมาจากภาคใต้ตอนบนเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นแถวด่านระนอง หรือที่อื่น ซึ่งยังต้องรอการสอบสวนที่ชัดเจน เบื้องต้นมีข้อมูลขึ้นมาจากภาคใต้เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. มาถึงแม่สอดเช้าวันที่ 5 มิ.ย. และอยู่ทำธุรกรรมต่างๆ ก่อนส่งข้ามฟากเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. มีการตรวจเชื้อวันที่ 17 มิ.ย. และรายงานผลวันที่ 19 มิ.ย.อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้นิ่งนอนใจคือ 1.มีการค้นหาผู้สัมผัสที่โดยสารรถมายัง อ.แม่สอด 2.ที่พำนักที่บริเวณแม่สอด 3.กระบวนการของผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งตัวทั้งหมดกลับไปยังฝั่งเมียนมา ขณะนี้ยังไม่มีใครติดเชื้อ แต่ได้กำชับสถานที่ต่างๆให้ทำความสะอาด พร้อมยกระดับการตรวจคักรองเชิงรุก ซึ่งที่ผ่านมาตรวจแรงงานเมียนมาประมาณ 1 หมื่นคนไม่พบติดเชื้อ
          ลุ้น 4 รายไม่ได้อยู่ศูนย์กัก
          ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีผู้ป่วยเมียนมา 4 ราย ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์กักมาก่อน แปลว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการติดเชื้อในไทย นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องมาดูเส้นทาง อย่าลืมว่ามีช่วงระหว่างเดินทาง และอยู่ศูนย์กักเป็นไปได้หมด ที่ผ่านมาไทยตรวจเชิงรุกในแรงงานต่างด้าวในประเทศ ก็ไม่พบ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะ 4 รายนั้นต้องหาที่มาว่าเข้าไทยมาช่องทางไหน ทั้ง 4 รายติดเชื้อไม่มีอาการ และไทยมีมาตรการให้ทุกคนสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง โอกาสแพร่-ติดโรคก็อาจน้อย แต่ไม่ละเลย มีการสอบสวนโรค และตามฆ่าเชื้อทุกจุด
          คุมเข้มสกัดโรคระบาดในวัด
          ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวัด เนื่องจากใกล้เข้าพรรษาว่า แบ่งเป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาขอให้พระภิกษุสงฆ์ดูแลสุขภาพ ไม่ไปพื้นที่เสี่ยงอย่างน้อย 14 วัน หากจำเป็นขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา หากมีความผิดปกติ โดยเฉพาะอาการทางเดินหายใจควรมารับการตรวจ ส่วนที่วัดเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่วัดโดยรอบ การตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ ลงทะเบียนออนไลน์ ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ดูแลสถานที่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก ลดความแออัดในสถานที่ปิด ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถและศาลาวัด ลดจำนวนคนเข้าไปร่วมกิจกรรม ส่วนช่วงเข้าพรรษา พระภิกษุต้องดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายที่เหมาะสมวันละ 30 นาที ฉันอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากมีโรคติดต่อในวงกว้างระหว่างเข้าพรรษาสามารถติดต่อ รพ.ใกล้บ้านเพื่อเข้าไปดูแล ตรวจรักษายังพื้นที่ และที่สำคัญคือขอความร่วมมือประชาชนที่จะไปทำบุญที่วัดขอว่าการ์ดอย่าตก และไม่ควรนำเชื้อเข้าไปในวัด
          มส.ไฟเขียววัดจัดกิจกรรมได้
          ขณะที่นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคมมีคำสั่งให้วัดทุกแห่งงดทำกิจกรรมทางศาสนาทุกประเภท แต่ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น สำนักเลขาธิการฯ จึงมีมติให้วัดทุกแห่งกลับมาทำกิจกรรมทางศาสนาได้ทุกประเภทแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฟังเทศน์ ฟังธรรม งานบวช งานเวียนเทียนต่างๆ แต่ต้องมีการคัดกรอง วัดไข้ มีเจลล้างมือ จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลพอสมควร ถ้าเยอะมากอาจจะต้องแบ่งเป็นรอบๆ เช่นเดียวกับการเวียนเทียนถ้าคนเยอะต้องระวัง ให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก มีเจลล้างมือ วัดที่เป็นที่ท่องเที่ยวต้องระวังให้มาก ที่ผ่านมาวัดมีการให้ ประชาชนลงทะเบียนในสมุด เพราะแอปฯ ไทยชนะ บางแห่งมี บางแห่งไม่มี
          เดินหน้าฉีดวัคซีนเข็ม 2 ในลิง
          ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ไทยทำเอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ศูนย์ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิง นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อม นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้เชี่ยวชาญ เดินทางมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 2 ในลิง จำนวน 15 ตัว โดยก่อนการทดสอบ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลจากการทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิงแสม 10 ตัว เข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทยของจุฬาฯ พบว่าลิงแสม จำนวน 10 ตัว แบ่งเป็นระดับโดสต่ำ 5 ตัว โดสสูง 5 ตัว พบว่าลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีน และเมื่อเจาะเลือดลิงมาทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี พบว่ามีข่าวดีมากที่ลิงที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับที่น่าพอใจ
          เป็นไปตามแผน ก.ค.นี้ ฉีดเข็ม 3
          “การฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 2 จากนั้นจะมีการเจาะเลือดมาตรวจเป็นระยะ ซึ่งคาดว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 ระดับจะเพิ่มขึ้นในอีกประมาณ 2 สัปดาห์นับจากนี้ และจะฉีดเข็มที่ 3 ต่อไปในเดือน ก.ค.ขณะนี้การวิจัยและพัฒนาเป็นไปตามแผนงาน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ประเมินผลการทดสอบในลิงทั้งในด้านผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและด้านความปลอดภัยเสร็จแล้วก็จะเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ต่อไป โดย วช.ได้ตกลงให้ทุนวิจัยเพิ่มเติมอีกเพื่อให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถเริ่มสั่งผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้พร้อมสำหรับทำการทดสอบในมนุษย์ไว้แล้ว หากเป็นไปตามที่คาดไว้จะทดสอบในมนุษย์ได้ประมาณเดือน ต.ค.-พ.ย. ตามแผน” นายสุวิทย์กล่าว
          ได้ผลดีเตรียมทดสอบในคน
          ด้านนางสุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ กล่าวว่า หลังจากฉีดวัคซีนเข้า ไปในลิงก็จะดูเรื่องความปลอดภัย 3 ระบบที่สำคัญต่อร่างกายมนุษย์ คือ ระบบประสาท ระบบสมอง/ระบบหลอดเลือดและหัวใจ และระบบหายใจ ขณะเดียวกันจะดูเรื่องของการแพ้ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากนั้น จะมีการเจาะเลือด ซึ่งถ้าหากผลเป็นไปในทิศทางที่นักวิจัยวางเป้าก็จะสามารถเริ่มการทดลองในคนได้
          เตรียม 1.3 พันคนทดสอบหมื่นโดส
          นพ.สิริฤกษ์กล่าวเสริมด้วยว่า นักวิจัยได้เตรียมวัคซีนต้นแบบกว่า 1 หมื่นโดสไว้สำหรับการทดลองในคน โดย 1 คนจะฉีดคนละ 2 โดส โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ กลุ่มแรกจะใช้อาสาสมัคร 50 คน เป็นคนปกติไม่เคยติดเชื้อ ในระยะที่ 2 จะเพิ่มอาสาสมัครเป็น 250 คน เป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และระยะที่ 3 จะใช้อาสาสมัคร 1 พันคน ดูการกระตุ้นภูมิและความปลอดภัยในการทดลองฉีดวัคซีนในคน ทั้งนี้ อว.เตรียมประสานโรงงานผู้ผลิตวัคซีนไว้ 2 แห่ง เพื่อทำการผลิตวัคซีนหลังผลการ ทดลองออกมาสำเร็จในมนุษย์
          ธ.ก.ส.อัดเงินกู้ใหม่ 1.7 แสนล้าน
          สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติมจากธนาคารของรัฐ วันเดียวกัน นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แบงก์มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระ ตั้งแต่งวดเดือน เม.ย.2563-งวดเดือน มี.ค.2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ แต่เมื่อถึงครบกำหนดเดือน มี.ค.64 จะมีการต่ออายุออกไปอีกหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ นอกจากนี้ ธ.ก.ส.จะประเมินก่อนว่า มาตรการของรัฐบาลที่ลงไปช่วยเกษตรกร ทั้งการประกันราคาพืชผล มาตรการฟื้นฟูท้องถิ่นวงเงิน 400,000 ล้านบาท มาตรการสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารจะออกในวงเงิน 170,000 ล้านบาทนั้น จะช่วยพยุงหรือฟื้นฟูภาคเกษตรให้ดีขึ้นหรือไม่ ยืนยันแม้ธนาคารจะพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าทั้งหมด 3.8 ล้านคน แต่ธนาคารยังมีเงินสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะนำมาปล่อยกู้ใหม่ให้แก่ลูกค้า โดยสินเชื่อใหม่ที่จะออกวงเงิน 170,000 ล้านบาทนั้น เป็นสินเชื่อที่เตรียมไว้ปล่อยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แบ่งเป็นสินเชื่อสนับสนุนการผลิตวงเงิน 100,000 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อคนรุ่นใหม่วงเงิน 60,000 ล้านบาท และ สินเชื่อเพื่อการเลี้ยงชีพอีก 10,000 ล้านบาท
          ธปท.ออกก๊อก 2 ช่วยลูกหนี้
          ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ รอ


pageview  1205133    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved