HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 20/04/2563 ]
ขอบริจาค พลาสมา คนหายป่วย

 ยังไร้ตายอีกวัน ชี้ ‘ฟ้าทะลายโจร’ ใช้ยับยั้งเชื้อได้ ป้องกัน-ไม่ได้!
          ไทยเฮต่อเนื่อง หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงเรื่อยๆ ไร้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม ขณะที่รักษาหายอีก 141 ราย ทำให้เหลือผู้ป่วยรักษาตัวแค่ 790 ราย แต่พบวัยรุ่น-วัยทำงาน กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูงสุดแทน โดย “กทม.-นนทบุรี” ยังมีแนวโน้มเจอผู้ป่วยเพิ่ม โฆษก ศบค.เรียกร้องคนหายป่วย มีภูมิคุ้มกันมาบริจาคพลาสมา เพื่อใช้รักษาต่อชีวิตให้ผู้อื่น ขณะเดียวกัน สธ.แจงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 เล็งจับมือจีนร่วมกันพัฒนา ส่วนผลวิจัยฟ้าทะลายโจร ยืนยันใช้ป้องกันไวรัสมรณะไม่ได้ แต่สามารถยับยั้งเชื้อได้ พร้อมศึกษาเพิ่มในผู้ป่วยโควิด-19 อาการไม่รุนแรง 4 เดือนรู้ผล ส่งยาฟ้าทะลายโจร 1 ล้าน แคปซูลให้บุคลากรทางการแพทย์
          ความหวังของไทยในการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรง (โควิด-19) เริ่มมีมากขึ้นเมื่อพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ไร้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม ขณะเดียวกันก็มีความคืบหน้าการทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสมรณะออกมาเป็นระยะ
          ขอคนหายป่วยบริจาคพลาสมา
          ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 19 เม.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 32 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 2,765 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 141 ราย หายป่วยสะสม 1,928 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 790 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 47 ราย โดยกลุ่มอายุ 20-29 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูงสุด หรือคิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ กทม. และ จ.นนทบุรี ยังมีแนวโน้มเจอผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีประชากรรวมกันกว่าสิบล้านคน มีการพูดกันว่าคนออกจากบ้านเยอะขึ้น นี่เป็นตัวชี้วัดด้านหนึ่งว่าเราจะคงตัวเลขการติดเชื้อได้เท่าไร ส่วนต่างจังหวัดมีจำนวนผู้ป่วยขึ้นๆลงๆ ขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่หายป่วยแล้ว ถือเป็นกลุ่มที่ปลอดภัย มีภูมิคุ้มกัน อยากให้มาบริจาคพลาสมา เท่าที่ทราบยังมาบริจาคน้อยไม่ถึง 100 คน ขณะนี้มี 33 จังหวัด ที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มใน 14 วันที่ผ่านมา มี 4 จังหวัดที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร และสุรินทร์
          กลุ่มวัยรุ่นติดเชื้อมากสุด
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของกองระบาดวิทยาตั้งแต่เดือน ม.ค.-18 เม.ย. พบว่าผู้ป่วยช่วงอายุ 20-39 ปี มีจำนวน 1,334 ราย คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ หรือครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมด เสียชีวิตไป 3 ราย มีอาชีพเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร 19 เปอร์เซ็นต์ รับจ้างทั่วไป 18 เปอร์เซ็นต์ พนักงานบริษัท พนักงานโรงงาน 14 เปอร์เซ็นต์ คนกลุ่มนี้เป็นวัยสังคมพบปะผู้คน และเป็นพาหะไปสู่คนในบ้าน เน้นย้ำว่าข้อมูลนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการพิจารณาว่าจะเปิดหรือไม่เปิด ต้องใช้สถิติเป็นตัวนำในการตัดสินใจ
          ยันชุมชนใกล้ที่กักตัวปลอดภัย
          นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่จะเดินทางกลับไทย ในวันที่ 19 เม.ย. มีคนไทยเดินทางกลับจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ 27 คน บาห์เรน 74 คน ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ และสหรัฐอเมริกา 162 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนเอเอฟเอสด้วย ลงที่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนคนไทยในประเทศเพื่อนบ้านที่จะเดินทางกลับผ่านด่านชายแดน ตั้งแต่วันที่ 18-30 เม.ย. มี 3,211 คน ส่วนคนไทยที่จะกลับจากมาเลเซียมีทั้งสิ้น 2,548 คน ในแต่ละวันสามารถรับได้ 350 คน ใน 5 ด่านจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากตัวเลขที่ลงทะเบียนไว้มีการกระจุกตัวในช่วงวันที่ 18-25 เม.ย. จำนวนมาก แต่ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. จะเหลือเพียงหลักหน่วยและหลักสิบ อยากให้กระจายตัวไปช่วงเวลานั้นด้วย ส่วนกรณีที่มีประชาชนโดยรอบพื้นที่กักตัวของรัฐมีความกังวลว่าจะติดเชื้อโรคนั้น ขอให้ประชาชนในชุมชนมั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าไม่มีโอกาสติดเชื้อแน่นอน เพราะผ่านการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายความมั่นคง
          ไทยจับมือจีนพัฒนาวัคซีน
          ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทย์แถลงข่าวเพิ่มเติมสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ในไทย โดย นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคโควิด- 19 ของไทยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้รวบรวมนักวิจัยทั้งจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล มาร่วมวิจัยขั้นทดลองพัฒนาวัคซีน โดยใช้เวลาทดลองระยะที่ฉีดในสัตว์ ต้องใช้เวลานานถึงเดือน ก.ค. ก่อนที่จะทดลอง ในคนอีกประมาณ 6 เดือน ขณะที่ทั่วโลก อาทิ สหรัฐ– อเมริกา จีน และอังกฤษ ได้พัฒนาวัคซีนเริ่มทดสอบในคนแล้ว มีวัคซีนทั้งหมด 6 ชนิด ประเทศจีนทดลองวัคซีนด้วยการฉีดในสัตว์ทดลองแล้วนั้น ถือว่ามีความก้าวหน้าในการทดลองระยะที่ 2 ทำให้ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ว่าจะร่วมมือผลิตวัคซีนกับจีนในการพัฒนาวัคซีนร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมลงนามความร่วมมือร่วมกัน จะเป็นโอกาสที่จะได้เข้าถึงวัคซีนที่เร็วขึ้น
          ย้ำจำเป็นลงทุนพัฒนาวัคซีนเอง
          นพ.นครกล่าวด้วยว่า เป้าหมายเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ให้เร็วที่สุด เราไม่สามารถรอไปเนิ่นนานมากนัก หากต้องรอให้เข้าสู่ภาวะสงบ ประเทศไทย จะต้องมีประชากรมากกว่าร้อยละ 60 หรือ 35 ล้านคน ติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกัน จะกินเวลานานมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างประเมินค่าไม่ได้ การรอซื้อวัคซีนโดยไม่ทำอะไรเลยก็ทำได้ยาก ต้องรอเวลานาน เพราะศักยภาพการผลิตวัคซีนตอนแรกจะไม่เพียงพอต่อคนทั้งโลก ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนา ต้องนำไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศ ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ถ้ามีการลงทุนพัฒนาศักยภาพด้านวัคซีน จะทำให้เราสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้นแม้เพียง 1 เดือน ก็นับว่าคุ้มค่า ถ้าเรามีศักยภาพการวิจัยพัฒนา และการผลิตวัคซีน จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตได้
          จุฬาฯทดลองในสัตว์แล้ว 2 ครั้ง
          ด้าน ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผอ.สถาบันชีววัตถุ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มจัดทำวัคซีนต้นแบบแล้ว โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มฉีดในสัตว์ทดลองแล้ว 2 ครั้ง กำลังส่งตรวจภูมิคุ้มกันในเลือดสัตว์ทดลองที่สถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะที่ ม.มหิดลได้ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์ เพิ่มจำนวนไวรัสให้มีปริมาณมากพอ เพื่อทำลายเชื้อให้เป็นวัคซีนเชื้อตาย ก่อนนำมาฉีดใน สัตว์ทดลองต่อไป
          ฟ้าทะลายโจรใช้ยับยั้งไม่ใช่ป้องกัน
          ดร.สุภาพรกล่าวด้วยว่า กรมวิทยาศาสตร์การ แพทย์ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ ทางเลือก ทดลองศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ต้านไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่ สรุปได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีผลในการฆ่าไวรัสโดยตรง และยับยั้งไม่ให้ไวรัสเพิ่มจำนวนในเซลล์ได้ แต่ไม่สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดการรักษาโรคโควิด-19 ต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการ อวดอ้างสรรพคุณ เพื่อจำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ขอเตือนว่าอย่าหลงเชื่อคำอวดอ้างดังกล่าว เพราะผลการศึกษาวิจัย ยืนยันแล้วว่าการรับประทานยาฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
          แนะหลักการใช้ยา “ฟ้าทะลายโจร”
          ผอ.สถาบันชีววัตถุกล่าวอีกว่า สำหรับข้อแนะนำ การใช้ยาฟ้าทะลายโจร คือไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโควิด-19 โดยที่ยังไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการคล้ายเป็นหวัด ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ควรกินยาฟ้าทะลาย โจรทันที และต้องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่คนใกล้ชิด หากกินยาฟ้าทะลายโจรแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ และหากมีข้อสงสัย ให้สอบถามได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ โทร. 0- 2149-5678 หรือแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
          วิจัยสารสกัดฟ้าทะลายโจร
          ขณะที่ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทำการศึกษาวิจัยนำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย มีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงที่ไม่ได้รับยาต้านไวรัส แบ่งกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ราย รวม 12 ราย จะใช้ระยะเวลาศึกษา 4 เดือน ระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ค.63 ในสถาบันบำราศนราดูรเพื่อทราบผลลัพธ์ความรุนแรงของอาการโควิด-19 ก่อนและหลังการรับประทานฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้มีการเตรียมจัดสรรยาฟ้าทะลายโจรให้สถานบริการของรัฐ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จำนวน 1 ล้านแคปซูล รวมถึงโรงพยาบาลรัฐที่ผ่านมาตรฐาน WHO GMP 44 แห่ง มีปริมาณยาฟ้าทะลายโจร 9.2 ล้านแคปซูล รองรับผู้ป่วย 1.9 แสนรายในอนาคตด้วย
          หายป่วยแล้วใช้ชีวิตได้ปกติ
          ส่วน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าร่างกายจะแข็งแรงดีแล้ว โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างนาน มีหลักการปฏิบัติก่อนกลับบ้าน จะมีการตรวจหาเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และหากพบว่าไม่มีเชื้อแล้วก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ แพทย์จะมีข้อแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพราะโอกาสแพร่เชื้อจะต่ำมาก จะแตกต่างจากกรณีที่พบอาการน้อยๆ แล้วให้กลับบ้านรับการกักตัวอยู่ 14 วัน ทีมแพทย์พิจารณาจากปริมาณที่พบเชื้อที่ผู้ป่วยแต่ละราย
          ปลดล็อกเปิดกิจการได้ต้องไม่เสี่ยง
          นพ.ธนรักษ์กล่าวอีกว่า กรณีเสนอให้มีการเปิดกิจการต่างๆได้นั้น จริงๆเรายังไม่ได้ปิดเมือง แต่ปิดสถานประกอบการ หากจะมีการทยอยเปิดเมือง ต้องพิจารณาสถานการณ์หลายอย่าง มาตรการทางสาธารณสุขต้องเข้มข้นต่อเนื่อง และบางมาตรการอาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นไปอีก ทั้งการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก การสอบสวนและควบคุมโรคหลังจากพบผู้ป่วย การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ขณะเดียวกันยังขอให้หน่วยงานทุกภาคส่วนจะต้อง สนับสนุนให้มีการทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาการ ทำงาน เพื่อลดการแออัด ส่วนมาตรการพิจารณาให้เปิดกิจการต่างๆ ได้นั้น มีข้อเสนอแนะ พิจารณาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำก่อนคือจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยต่อเนื่องในช่วง 14 วันติดต่อกัน ก่อนวันที่ 1 พ.ค. อาจจะเริ่มดำเนินการได้ก่อน พิจารณาเปิดกิจการหรือสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน อาทิ สถานที่ที่สามารถคงมาตรการระยะห่างระหว่างบุคคลได้ 1-2 เมตร มีอุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย ใช้เวลาไม่นานเกินไป ซุปเปอร์มาร์เกตอาจเพิ่มแคชเชียร์ให้มีช่องจ่ายเงินมากขึ้น เพื่อให้ลดการ รอคิวลดการแออัด สามารถปรับปรุงสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงให้เป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจจะได้รับการพิจารณาเปิดได้ก่อน
          เตรียมรับพระ–แม่ชีจากอินเดีย
          วันเดียวกัน ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม พร้อมปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับหน่วยขึ้นตรงและเหล่าทัพ ติดตามการบริหารจัดการมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ มีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศผ่านสายการบินที่ยังอยู่ในมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐจำนวน 938 คน และมีแผนเดินทางกลับมาวันนี้อีก 263 คน และวันที่ 24-25 เม.ย. จะมีพระสงฆ์ แม่ชี และญาติธรรม กลับจากการแสวงบุญที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย อีก 342 ราย (เป็นพระสงฆ์ 226 รูป แม่ชี 24 คน และญาติธรรม 92 คน) รมช.กลาโหมได้กำชับ ขอให้จัดเตรียมความพร้อมพื้นที่และระบบบริหารจัดการตามมาตรการควบคุมโรค รองรับพระสงฆ์และญาติธรรมที่จะเดินทางกลับจากกิจกรรมแสวงบุญในอินเดีย ขอให้ประสานกับสำนักงานพระ–พุทธศาสนาแห่งชาติอย่างใกล้ชิด
          พร้อมดันศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน
          พล.ท.คงชีพกล่าวว่า สำหรับด่านชายแดน ไทย-มาเลเซีย ทั้ง 5 ด่าน ที่เริ่มเปิดทำการตั้งแต่ 18 เม.ย. มีเดินทางกลับมาแล้ว 503 คน และมีแผนเดินทางกลับวันนี้อีก 303 คน ทั้งหมด กอ.รมน.ภาค 4 (สน.) ได้ร่วมกันคัดกรองอย่างเข้มข้น ต้องอยู่ในมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ นายกฯและ รมว.กลาโหม สั่งการขอให้ศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน ที่มีที่ตั้งในไทย ประสานกับกลาโหมอาเซียน ริเริ่มขับเคลื่อนแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และการฝึกร่วมกันผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับมือกับปัญหาโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมทั้งขอให้ใช้ศักยภาพของแต่ละเหล่าทัพ เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค นำผลผลิตตามฤดูกาล กระจายออกให้กับประชาชนทั่วประเทศได้เข้าถึง เช่นเดียวกับ “โครงการขนข้าวชาวนา เปลี่ยนปลาชาวเล” ที่กองทัพอากาศสนับสนุนเครื่องบินขนส่งผลิตภัณฑ์การเกษตรข้ามภูมิภาค เพื่อให้เกษตรกรสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าประมงและข้าวในภาวะเกิดวิกฤติโรคระบาด
          แรงงานไทยแห่กลับวันละ 350 คน
          สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศ วันเดียวกัน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.จ.ยะลา เปิดเผยกรณีแรงงานไทยทยอยเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียว่า ในส่วนของสถานที่สังเกตอาการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) จัดเตรียมไว้ประมาณ 10,000 เตียง ส่วนคนเข้าด่านจำกัดไว้ที่วันละ 350 คน เพื่อให้เวลาบุคลากรทางการแพทย์ได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ขอให้พี่น้องชาวไทยในมาเลเซียอดทน ยอดของแรงงานไทยที่ลงทะเบียนเดินทางเข้ามาลอตแรกจำนวน 262 คน ผ่านด่านสะเดา จ.สงขลา จำนวน 100 คน ด่านสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จำนวน 91 คน ด่านเบตง จ.ยะลา จำนวน 20 คน ด่านวังประจัน จ.สตูล จำนวน 35 คน และด่านตำมะลัง จ.สตูล 16 คน
          ลอบข้ามแดนกลางดึกมีไข้ 1
          ส่วนการคุมเข้มกันแรงงานไทยจากประเทศมาเลเซียลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารพรานจับกุมตัวแรงงานไทยลอบข้ามแดนบริเวณช่องทางธรรมชาติแม่น้ำสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้จำนวน 130 คน ปรากฏว่าในช่วงกลางดึกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาว จ.ยะลา ลอบข้ามพรมแดนด้าน อ.สุไหงโก-ลก มาอีก 10 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 3 คน นำไปเปรียบเทียบปรับที่ด่าน อ.สุไหงโก-ลก ตรวจคัดกรองพบ 1 ในนั้นมีไข้ และไอเจ็บคอ ส่งเข้าศูนย์สังเกตอาการโรคสำคัญโควิด-19 อ.เมืองยะลา ในศูนย์พัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานชายแดนภาคใต้ อ.เมืองยะลา อีก 9 คนส่งกักตัวที่ศูนย์สังเกตอาการฯในวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรยะลา
          คนไทยทะลักรอผ่านด่าน 300 คน
          ที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็น 1 ใน 5 ด่านผ่อนปรนให้คนไทยตกค้างในมาเลเซียเดินทางกลับเป็นวันที่ 2 มีคนไทยทำเรื่องขอเดินทางกลับ 101 คน กลับเข้ามาจริงแค่ 46 คน ขณะที่ด่านพรมแดนเมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มีคนไทยจำนวน 300 คนอออยู่บริเวณหน้าด่านตั้งแต่ช่วงเช้ามืด หลังไม่สามารถใช้ช่องทางข้ามธรรมชาติเล็ดลอดข้ามแดนได้อีก เนื่องจากตลอดแนวริมแม่น้ำสุไหงโก-ลก มีทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 48 และชุดป้องกันชายแดนที่ 3 กระจายกำลังเดินลาดตระเวน และปฏิบัติหน้าที่ประจำจุดช่องทางข้ามธรรมชาติอย่างเข้มงวด ทั้งหมดรอเวลาผ่านข้ามแดนในช่วงบ่าย คนไทยทั้ง 300 คน แยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มมีเอกสารหลักฐานหนังสือเดินทางเข้าเมืองถูกต้อง แต่ไม่ได้ขออนุญาตสถานทูต หรือสถานกงสุลในการผ่อนปรนเดินทางเข้าประเทศตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้ กับกลุ่มที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ หลังจากทางการมาเลเซียปล่อยให้ผ่านแดนเข้ามา ทำให้นายจักกฤช อุเทนสุต นายด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และ พ.ต.อ.ศุภชาติ เวชพร ผกก.ตม.จ.นราธิวาส ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรอง พร้อมเปรียบเทียบปรับคนละ 800 บาท ก่อนส่งไปกักตัวสังเกตอาการตามภูมิลำเนาของแต่ละคน
          แรงงานไทยเหมาเรือกลับ 3 กลุ่ม
          ส่วนที่ด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา คนไทยตกค้างในประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับเข้ามา 86 คน เป็นกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวังเนื่องจากมีไข้ 5 คน ส่งไปตรวจรักษาที่ รพ.สะเดา เช่นเดียวกับด่านผ่านแดนถาวรท่าเรือตำมะลัง อ.เมืองสตูล กลุ่มแรงงานไทย 3 กลุ่มรวม 28 คน เหมาเรือจากรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย ทยอยกลับเข้าประเทศตั้งแต่เช้า นำเข้ากระบวนการกักตัวเฝ้าระวังตามมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ที่ศูนย์คัดกรองกลาง COVID-19 จ.ปัตตานี ในสนามกีฬากลาง อบจ.ปัตตานี กลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียทยอยเข้ากระบวนการตรวจคัดกรองรวม 204 ราย พบผู้ต้องสงสัยเข้าข่ายต้องสอบสวนโรค 6 ราย อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้อ
          แห่ค้านใช้พื้นที่กักกลุ่มเสี่ยง
          ที่หน้าตลาดเกษตรหน้าบ้านทุ่งส้าน หมู่ 8 ต.จะโหนง อ.จะนะ จ.สงขลา และริมถนนสายเอเชีย มีคนนำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ มีข้อความ “ชาวจะโหนงไม่ต้องการผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19” มาติดตั้ง เพื่อแสดงความคัดค้านที่ทางจังหวัดประกาศจะใช้อาคารไอซีทีของ อบต.จะโหนง เป็นสถานที่กักตัวเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากต่างประเทศหรือพื้นที่เสี่ยง เพราะกลัวจะเกิดการแพร่ระบาดในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับชาวบ้านใหม่ศรีจำปา หมู่ 3 ต.หนองหมากฝ้าย อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว จำนวน 60 คน รวมตัวในวัดใหม่ศรีจำปา คัดค้านไม่ให้นำกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 มากักตัวเฝ้าระวังในหมู่บ้าน นายณัฏฐพงษ์ พัฒนรัฐ นายอำเภอวัฒนานคร ชี้แจงว่าทางการเพียงเตรียมสถานที่ไว้เท่านั้น และกลุ่มที่จะนำมากักตัวไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเป็นเพียงกลุ่มเฝ้าระวังเท่านั้น ขอให้ชาวบ้านเห็นใจด้วย
          เมียนมาส่ง 8 นักธุรกิจกลับไทย
          วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมียนมานำรถตู้รับกลุ่มนักธุรกิจไทย 8 คน อายุ 25-35 ปี เดินทางจากฝั่ง จ.เมียวดี เข้าประเทศไทยทางด่านผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมี พล.ต.อุกฤษฎ์ นุตคำแหง ผบ.กองกำลังนเรศวร ชุดประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา พ.ต.อ.สังคม ตัดโส ผกก.ตม.ตาก นำเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรแม่สอด และเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมรับตัว ทำการตรวจคัดกรองก่อนส่งไปกักตัวที่โรงแรมสวนสิน อ.เมืองตาก นับเป็นกลุ่มคนไทยกลุ่มแรกที่เดินทางเข้าทางด่านผ่านแดน อ.แม่สอด จ.ตาก
          101 ไทยกลับจากยุโรป-บาห์เรน
          ขณะที่อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณ-ภูมิ ตลอดวันที่ 19 เม.ย. มีเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศเดินทางกลับประเทศไทย 2 เที่ยวบิน ในช่วงเช้า เวลา 09.30 น. สายการบินเอแอลเอ็มแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KL875 ได้นำ 27 คนไทยในประเทศเนเธอร์แลนด์ กลับมาโดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค ตรวจพบผู้โดยสารมีไข้ 3 คน จึงนำส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้ออย่างละเอียด ส่วนคนที่เหลือถูกพาไปกักตัวเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงแรมรามาดา กรุงเทพ จากนั้นในเวลา 15.15 น. กลุ่มคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศบาห์เรน จำนวน 74 คน ได้เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินกัลฟ์แอร์ เที่ยวบินที่ GF0115 และผ่านคัดกรองควบคุมโรค ด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่พบคนใดมีไข้ ก่อนจะถูกพาไปกักตัวเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี เป็นเวลา 14 วัน
          นักเรียนทุนเอเอฟเอสถึงไทย
          ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า นักเรียนไทยทุนเอเอฟเอส และประชาชน รวม 162 คน เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาโดยเที่ยวบิน OAE 6200 มาถึงสนามบินอู่ตะเภาเรียบร้อยแล้วและพาขึ้นรถบัสไปที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา เพื่อตรวจคัดกรองโรค และกักตัวเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน
          โปรกอล์ฟดังเข้ากักตัว
          สำหรับคณะนักกอล์ฟไทยที่ติดค้างอยู่ในสหรัฐอเมริกา นำโดย “โปรอาร์ม” กิรเดช อภิบาลรัตน์, “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล, “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล และ “โปรแจน” วิชาณี มีชัย พร้อมครอบครัว ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยสายการบินโคเรียนแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ KE651 ในเวลาประมาณ 21.45 น. วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนไทยทั้งหมดหลังผ่านการคัดกรองแล้ว ได้เข้าระบบกักตัวเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงแรมรามาดา กรุงเทพฯ เป็นเวลา 14 วันแล้วเช่นกัน
          ติดเชื้อกว่า 2.3 ล้านคน
          ส่วนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน 210 ประเทศทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่า ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตรวมทั่วโลกอยู่ที่ 2,347,777 คน ผู้เสียชีวิตรวม 161,126 คน รักษาหายดีแล้ว 605,661 คน ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่เกิดการระบาดรุนแรง คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ จีน ตุรกี และอิหร่าน
          “ทรัมป์” สวนกระแสเปิดธุรกิจ
          อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังคงใช้มาตรการเข้มงวดปิดเมืองเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะก่อโรคโควิด-19 แต่ที่สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ แถลงที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ว่า หลายรัฐในสหรัฐฯได้ประกาศแผนเริ่มเปิดธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น เท็กซัสและเวอร์มองต์ จะให้เปิดธุรกิจบางประเภทได้ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ แต่ยังคงมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่เหมาะสมไว้ การแถลงของทรัมป์มีขึ้นขณะที่ชาวอเมริกันในหลายรัฐยังชุมนุมต่อเนื่องเรียกร้องให้เปิดภาคธุรกิจ อาทิ นิวแฮมพ์เชียร์ อินเดียนา และเท็กซัส ขณะที่ รัฐนิวยอร์ก ศูนย์กลางการระบาดในสหรัฐฯ ระบุยังไม่พร้อมผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด โดยยอดรวมผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯอยู่ที่ 738,923 คน ผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 39,015 ศพ
          ยุโรปทยอยคลายกฎเหล็ก
          ขณะที่หลายประเทศในยุโรป ก็อาจผ่อนคลายบางมาตรการเช่นกัน อาทิ สเปน ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 194,416 คน ผู้เสียชีวิตรวม 20,639 ศพ ปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. จะขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 9 พ.ค. แต่จะผ่อนคลายมาตรการเข้มงวด อนุญาตให้เด็กๆออกนอกบ้านได้เริ่มวันที่ 27 เม.ย.นี้ อิตาลี ที่มีผู้ติดเชื้อรวม 175,925 คน ผู้เสียชีวิตรวม 23,227 ศพ กำลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ อนุญาตให้ออกนอกบ้านได้เฉพาะทำงานจำเป็นหรือซื้ออาหารและไปเยี่ยมสมาชิกครอบครัว ส่วนเดนมาร์กเริ่มเปิดโรงเรียนที่สอนเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปีแล้ว นอร์เวย์ เปิดโรงเรียนอนุบาลในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เช่นเดียวกับ เยอรมนี จะให้เปิดโรงเรียนในบางพื้นที่ในวันที่ 4 พ.ค. สวีเดน ใช้นโยบายไม่เข้มงวด แนะนำให้ประชาชนยึด มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เปิดโรงเรียน บาร์และร้านอาหาร แต่จะยังเข้มงวดแค่ห้ามชุมนุมเกิน 50 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรวมในสวีเดนอยู่ที่ 13,822 คน ผู้เสียชีวิตรวม 1,511 ศพ
          อังกฤษขยายเวลาล็อกดาวน์
          ต่างจากที่อังกฤษที่มีผู้ติดเชื้อรวม 114,217 คน ผู้เสียชีวิตรวม 15,464 ศพ ขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีก 3 สัปดาห์ และปฏิเสธข่าวที่ว่ารัฐบาลจะเปิดโรงเรียนในวันที่ 11 พ.ค.นี้ ส่วนที่ ฝรั่งเศส มีผู้ติดเชื้อรวม 151,793 คน ผู้เสียชีวิตรวม 19,323 ศพ เตรียมผ่อนคลายคำสั่งล็อกดาวน์ในวันที่ 11 พ.ค. และจะเริ่มเปิดโรงเรียนก่อนนั้น ทางการกรุงปารีสแถลงว่าเมื่อมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ จะทำจุดติดเครื่องเจลล้างมือที่ป้ายรถเมล์และทางเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน ผู้โดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ต้องสวมหน้ากากอนามัย
       


pageview  1205149    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved