HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 21/02/2563 ]
สธ.เตรียมยกระดับ โควิด-19 ติดต่ออันตราย

ลำดับ14ในไทย พร้อมมาตรการ รับมือติดระยะ3 ไวรัสอยู่ได้9วัน แพร่ทางอากาศ
          กระทรวงสาธารณสุขจ่อประกาศ “ไวรัสโควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตรายในลำดับที่ 14 ของไทยและเตรียมจัดมาตรการเข้มรับมือเต็มรูปแบบ หากมีการแพร่ระบาดจากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ในอีก 2 เดือนข้างหน้า พร้อมมีกฎหมายมารองรับ ด้านนายกฯสั่งรับมือโควิด-19 ระยะ 3 แจงต้องแก้ปัญหาในภาพรวม วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนกและวางแผนตั้งรับการระบาดในไทย ส่วนยอดตายจากไวรัสโควิด-19 ในจีน พุ่งไปกว่า 2 พันคน ติดเชื้อเกือบ 75,000 คน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ระบุเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ระบาดผ่านละอองของเหลว เผยผลวิจัยเตือนคนเข้าห้องน้ำกดชักโครกให้ปิดฝาโถส้วม ป้องกันเชื้อโรคกระจายลอยในอากาศ
          ไทยยังเฝ้าระวัง “ไวรัสโควิด-19” อย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดกระจายในไทย ทั้งนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 20 ก.พ. มีการแถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไทยยังมีผู้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 18 รายเท่าเดิม ส่วนใหญ่อาการปกติแล้ว อีก 2 รายที่สถาบันบำราศนราดูร อาการทรงตัว มีแพทย์ดูแลใกล้ชิด สำหรับยาต้านไวรัสโควิด-19 ที่ค้นพบในจีน ไทยมีคณะทำงานวิชาการคอยติดตามอย่างตลอด ถึงขณะนี้ไทยลดการป่วยและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ ไม่เหมือนประเทศอื่นๆที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง
          ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อ ทั้งสนามบิน ท่าเรือ ได้คุมเข้มต่อเนื่อง ทำให้การตรวจคัดกรองมีประสิทธิภาพ ไทยไม่มีนโยบายกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งทางเครื่องบิน ทางเรือสำราญและไทยรักษาผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ได้ผลที่ดีมาก สามารถส่งผู้ป่วยกลับบ้านไปเกือบครึ่งหนึ่งแล้ว
          นพ.โสภณกล่าวด้วยว่า สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการด้านวิชาการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการร่างประกาศเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่จะประชุมวันที่ 24 ก.พ. และมีความเป็นไปได้สูงที่คณะกรรมการ 30 รายจะพิจารณาเห็นชอบและมีการลงนามประกาศเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ของไทย หลังมีการประกาศไปแล้ว 13 โรค เมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่อฉุกเฉินแล้ว ทำให้การบริหารจัดการโรคนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไทยปฏิบัติการรับมือเสมือนในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งระบบแล้ว สำหรับ ฟาวิลาเวียร์ เป็นยาต้านไวรัส ที่เป็นการใช้ยาสำหรับโรคหนึ่งมาใช้เพื่อรักษาอีกโรคใหม่ที่เพิ่งเกิด ถือว่าเป็นการใช้ยาในภาวะจำเป็น เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่าการที่นำมารักษา ถือว่าได้ผลดี เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ติดเชื้อโอกาสหายก็จะมากขึ้น
          ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะมีการระบาดระยะที่ 3 นพ.โสภณกล่าวว่า อีก 2 เดือนข้างหน้าไทยจะมีอากาศร้อนมาก คาดว่าโรคติดต่อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสต่ำสุด ทั้งไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคหัด ถ้าเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นแบบไวรัสทางเดินหายใจตัวอื่น ก็น่าจะเป็นช่วงที่ปัญหาลุกลามไม่รุนแรง แต่เราไม่ประมาท ต้องเตรียมความพร้อมทุกเรื่อง ทั้งสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ และทรัพยากรต่างๆ
          อีกด้าน ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ มีรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนประชุมว่า สิ่งที่เราต้องเตรียมการ คือเรื่องการแพร่กระจายจากหลายประเทศ ไทยยังอยู่ระยะที่ 2 คือ ควบคุมได้ แต่อยากให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือระยะที่ 3 หากมีการแพร่ระบาดภายในประเทศขึ้นมา ขอบคุณรองนายกฯและ รมว.ที่เกี่ยวข้อง หลังทราบข่าวว่าทุกคนให้ความสนใจและเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างดี หวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายได้โดยเร็วในทุกประเทศ
          ต่อมาเวลา 11.25 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าสำคัญ เกี่ยวกับความพร้อมในการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงร่วมหารือถึงมาตรการต่างๆ เรื่องแรกคือ รับทราบสถานการณ์ที่ผ่านมา มาตรการต่างๆในทุกมิติ ซึ่งได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพควบคุมได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ยังห่วงและกังวลว่า ถ้าการแพร่ระบาดเกิดขยายจากระดับ 2 ไปถึงระดับ 3 มีการแพร่กระจายในพื้นที่ ต้องมีมาตรการรองรับไว้ล่วงหน้าไม่ให้เกิดความฉุกละหุก ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือการผลิตหน้ากากอนามัย การจัดจำหน่าย ที่ยังขาดแคลนอยู่ การเตรียมแผนดูแลผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม เมื่อเกิดปัญหาแล้วต้องแก้ไขในภาพรวม คณะกรรมการที่ร่วมหารือถือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ขอขอบคุณทุกส่วนราชการอย่างมาก ที่ร่วมมือแก้ปัญหาจนเป็นที่น่าพอใจ เราต้องเตรียมมาตรการที่เหมาะสม
          นายกฯยังกล่าวด้วยว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก สิ่งที่รัฐบาลเตรียมมาตรการไว้ เป็นการคาดการณ์เผื่อไว้ในอนาคต ถ้าไม่เกิดอะไรขึ้นเราก็ไม่ต้องปฏิบัติ ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง เราไม่สามารถแก้ปัญหาในลักษณะที่ได้อย่างเสียอย่าง หรือได้อย่างแล้วเสียสองอย่าง รัฐบาลนี้จะไม่ทำแบบนั้น ขอร้องเพียงอย่างเดียวทุกฝ่ายอย่าตื่นตระหนก อย่าให้ข่าวบิดเบือน อย่าสร้างเฟกนิวส์ หรือเฮทสปีช เพราะจะทำให้การทำงานไปไม่ได้ วันนี้ทุกคนเสียสละและทำหน้าที่ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ และคงจะต้องทำต่อไปอีกจนกว่าสถานการณ์จะเรียบร้อย ไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยังรองรับได้ ยืนยันจะดูแลทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องการท่องเที่ยว การประกอบการต่างๆในที่ประชุม ครม.สัปดาห์ต่อไป มีหลายอย่างที่นำเสนอเข้ามาแล้ว ขอสรุปนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อหามาตรการปฏิบัติต่อไป
          หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เพิ่งเสร็จจากการประชุมติดตามสถานการณ์ไวรัส #covid19 ผมยืนยันว่าเราไม่มีการปิดบังหรือบิดเบือนตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทย ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่าประเทศ ไทยมีมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคที่ดี มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ
          ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ได้ให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมวางแผน กรณีไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้จำกัดอยู่ในระยะที่ 2 ได้ และจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่จะแพร่ระบาดในวงกว้างภายในประเทศ ที่คาด-การณ์ว่าเพียง 1-2 เดือนของการแพร่ระบาดอาจพบผู้ป่วยมากกว่า 1,000 รายต่อวัน และอาจทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน จำเป็นต้องออกแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี ประสานงานหน่วยงานทุก ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
          ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างทบทวนมาตรการวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือวีซ่า ออนอาร์ไรวัล (วีโอเอ) สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานความมั่นคงจะประชุมแสวงหาแนวทางการป้องกันในวันที่ 21 ก.พ. กระทรวงกลาโหมเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อได้รับการร้องขอ เตรียมออกกลยุทธ์ควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อในชุมชน รองรับการระบาดในระยะที่ 3 เช่น มาตรการให้ทำงานที่บ้าน เลื่อนหรืองดการ จัดงานชุมนุมขนาดใหญ่ ปิดสถานที่ที่เกิดการระบาดและควบคุมการระบาดในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน เรือนจำ ค่ายทหาร เป็นต้น จากนั้นจะพิจารณาประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อควบคุมการระบาดในชุมชน
          วันเดียวกัน นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ ได้ออกประกาศ เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ว่า ไม่อนุมัติหรืออนุญาตให้นักเรียน นิสิต หรือบุคลากร ลาหรือเดินทางไปยัง หรือแวะผ่าน ประเทศหรือเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ระหว่าง 20 ก.พ.-19 เม.ย.2563 กรณีที่ได้รับอนุมัติก่อนหน้าประกาศนี้ ให้เลื่อนการเดินทางจนพ้นกำหนดวันที่ 19 เม.ย. 2563 หากมีความจำเป็นต้องเดินทางให้เสนอเรื่องให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี เมื่อเดินทางกลับถึงไทยต้องไปรับการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเชื้อโรคโควิด-19 ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หรือสถานพยาบาลอื่นที่มีมาตรฐานในการตรวจคัดกรองและเฝ้าระวังเทียบเท่ากับโรงพยาบาลจุฬาฯ งดหรือเลื่อนการเชิญบุคคลจากต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน การประชุม สัมมนา หรือดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย ตามช่วงเวลาที่กำหนดดังกล่าว โดยให้นักเรียน นิสิตและบุคลากร ถือปฏิบัติตามประกาศนี้โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.2563 เป็นต้นไป
          ส่วนสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนและหลายประเทศทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน แถลงปรับยอดผู้เสียชีวิตและติดไวรัสโควิด-19 ว่า ผู้เสียชีวิตในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2,118 คน ผู้ติดเชื้ออีกเกือบ 75,000 คน ในจำนวนนี้ รักษาตัวจนหายขาดแล้ว 16,155 คน และยังมีผู้ติดเชื้อในอีก 28 ประเทศกว่า 1,000 คน ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อมากที่สุด 702 คน รวมทั้งอีก 621 คนบนเรือสำราญ “ไดมอนด์ ปริ๊นเซส” ที่จอดกักกันโรคที่เมืองโยโกฮามา ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.และพ้นกำหนดกักกันโรค 14 วันแล้ว ญี่ปุ่นยังมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน เป็นผู้โดยสารบนเรือไดมอนด์และติดไวรัสโควิด-19 ทั้ง 2 คนอายุอยู่ในช่วงวัย 80 ปี มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิตรวม 3 คนแล้ว ส่วนเกาหลีใต้ยืนยันผู้เสียชีวิตคนแรกจากไวรัสโควิด-19 แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ
          สถานีโทรทัศน์ “เอ็นเอชเค” ของญี่ปุ่น รายงานเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ประกาศข้อแนะนำการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วย ระบุว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่ระบาดผ่านละอองของเหลว (aerosol) ได้ ถ้าคนนั้นๆ สัมผัสกับละอองอากาศ ที่มีเชื้อไวรัสปะปนอยู่ระดับเข้มข้นสูงเป็นเวลานาน โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการของจีนชุดดังกล่าวระบุว่า ละอองจากการหายใจและการติดต่อใกล้ชิดของผู้มีเชื้อไปสู่คนปกติ คือช่องทางการแพร่ระบาดหลัก แต่ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดผ่านละอองของเหลวหรืออากาศ
          ขณะเดียวกัน นสพ.เซาธ์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ ของฮ่องกง รายงานด้วยว่า คณะสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโยธา ของมหาวิทยาลัยซิตี้ ฮ่องกง เผยแพร่งานศึกษาวิจัยเตือนภัยด้านสาธารณสุข ระบุว่า การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝา สามารถทำให้เกิดละอองมลพิษมากถึง 80,000 อณู ลอยในอากาศสูงเป็นเมตรและอยู่นานหลายชั่วโมง ทำให้แบคทีเรียแพร่เชื้อทางอากาศได้ ส่วนเชื้อโรคร้ายอื่นๆ อย่างเช่น ไวรัสโควิด-19 อาจแพร่ระบาดผ่านอนุภาคน้ำ ในงานวิจัยจึงมีการแนะนำให้ผู้ใช้ห้องน้ำปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครก ทำระบบระบายอากาศและปิดประตูห้องน้ำถ้าไม่ใช้ แต่หนึ่งในทีมผู้ศึกษาวิจัยงานชิ้นนี้ ระบุว่าไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดความหวาดผวาในช่วงไวรัสโควิด-19 กำลังระบาด เพราะงานวิจัยชิ้นนี้เริ่มศึกษาก่อนไวรัสโควิด-19 ระบาด อีกทั้งเป็นการมุ่งวิจัยหาความเชื่อมโยงระหว่างละอองของเหลวในอากาศกับการแพร่เชื้อโรค
          อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนและองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้เพิ่มกรณีดังกล่าวเข้าในวิธีหรือแนวทางการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย WHO ระบุด้วยว่าไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่ระบาดผ่านการติดต่อสัมผัสใกล้ชิด แต่ยังต้องศึกษาโดยละเอียดต่อไป
          ทางด้านเว็บไซต์ “sciencealert.com” รายงานผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับ เพื่อดูว่าไวรัสกลุ่มโคโรนา รวมทั้งไวรัสโรคซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) สามารถอยู่ได้กี่วัน เมื่อติดอยู่กับพื้นผิววัตถุ พบว่าไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ติดบนพื้นผิววัตถุอยู่ในอุณหภูมิห้องปกติ จะอยู่ได้นานถึง 9 วันและยังมีฤทธิ์สามารถแพร่เชื้อต่อได้ ส่วนไวรัสโควิด-19 ยังไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงการแพทย์มากนัก แต่ถ้าเทียบเคียงกับไวรัสกลุ่มโคโรนาด้วยกัน น่าจะมีอายุไม่ต่างกันนัก
          ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐฯระบุว่า ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ติดไวรัสโควิด-19 ผ่านการสัมผัสจับต้องพื้นผิว หรือวัตถุที่มีเชื้อไวรัสแล้วแตะสัมผัสปาก จมูกหรือตาตัวเอง
          นายนนท์ กลินทะ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้โดยสารลดการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับตารางการบินเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางและปริมาณการสำรองที่นั่งล่วงหน้าของผู้โดยสาร โดยมีการปรับเปลี่ยนเที่ยวบินใน 9 ประเทศ ดังนี้ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ปักกิ่ง เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-กวางโจว เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เซียะเหมิน เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-คุนหมิง เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-เฉิงตู
          เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ไทเป เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- นาโกยา เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โซล เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ปูซาน เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ- สิงคโปร์ เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-มะนิลา เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ธากา เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ดูไบ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของตารางการบินที่ปรับปรุงใหม่ รายละเอียดเที่ยวบินที่ทำการบินและเที่ยวบินที่ปรับลดได้ที่เว็บไซต์ thaiairways.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ THAI Contact Center โทร.0-2356-1111 ตลอด 24 ชั่วโมง


pageview  1204954    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved