HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ [ วันที่ 28/06/2562 ]
วัณโรคโพรงจมูก ไม่มีอาการรู้ตัวก็สาย

"หมอระบุ...น้ำตาล เดอะ สตาร์ เสียชีวิตเพราะวัณโรคโพรงจมูก ชี้ 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการ" ข้อความข่าวเด่นประเด็นร้อน "Thairath" ผ่านโทรศัพท์มือถือ เวลา 11.13 น. วันที่ 26 มิถุนายน 2562
          "วัณโรค"...ไม่ใช่โรคใหม่ หากแต่เป็นโรคเก่าที่มีมานานแล้ว "เรียนรู้ เข้าใจ วัณโรค" เอกสารเผยแพร่ สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า วัณโรคไม่ได้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่เป็นโรคติดต่อที่รักษาให้หายขาดได้ ซึ่งในสมัยก่อนใช้เวลาในการรักษา 1 ปี 6 เดือน หรืออาจจะถึง 2 ปี
          แต่...ปัจจุบันใช้เวลาในการรักษาเพียง 6-8 เดือนเท่านั้น...โดยมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัดจนกว่าแพทย์จะสั่งหยุดยาเอง
          "วัณโรค"...เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ "มัยโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซีส" มีรูปร่างเป็นแท่ง มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นต้องย้อมสีด้วยวิธีพิเศษ ดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ขยายจึงจะเห็นตัวเชื้อ
          ประเด็นน่าสนใจมีว่า...เชื้อวัณโรคที่ว่านี้สามารถติดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ ไต กระดูก ผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง แต่ที่พบบ่อยและเป็นปัญหามากที่สุด คือ..."วัณโรคปอด"
          ความสูญเสียกรณี "น้องน้ำตาล" ถ้อยแถลงจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ รายงานผลการตรวจชิ้นเนื้อหลังโพรงจมูก
          หลังจากย้อมชิ้นเนื้อพบว่า...เข้าได้กับวัณโรคแต่ไม่พบเชื้อ จึงทำการตรวจอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่า PCR...การตรวจหาดีเอ็นเอเชื้อวัณโรค และผลการตรวจชิ้นเนื้อบ่งชี้ว่า...มีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก
          ซึ่งในกรณีนี้มีโอกาสติดต่อกันได้น้อย เมื่อพลิกสถิติการเกิดวัณโรคในประเทศไทย ปี 2560 พบว่าคนไทยเป็นวัณโรคอยู่ที่ราวๆ 80,000 คน จากประชากรทั้งประเทศ 69 ล้านคน แยกย่อยได้ว่า ร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด...ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด
          ที่สำคัญ...วัณโรคหลังโพรงจมูกพบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอดเท่านั้น เข้าใจง่ายๆเรียกได้ว่า "วัณโรคหลังโพรงจมูก" นั้นมีโอกาสเป็นน้อยมากๆถึงมากที่สุด
          กรณีการเกิดวัณโรคหลังโพรงจมูกหากดูข้อมูลจากรายงานการแพทย์ทั่วโลก ยังสะท้อนอีกว่ามีสัดส่วนพบผู้ป่วย 1 ใน 3 อาจไม่มีอาการใดๆเลย และร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก...เมื่อเป็นเช่นนี้การวินิจฉัยจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง
          วัณโรคหลังโพรงจมูก...จึงนับเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่เป็นภัยเงียบที่ต้องพึงระวังหากไม่แสดงอาการสัญญาณเตือนให้รู้ล่วงหน้า ทีมแพทย์ศิริราชมีข้อแนะนำจากกรณีนี้...ว่า อุบัติการณ์ของวัณโรคในประเทศไทยยังไม่ลดลง สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายอวัยวะ
          ถัดมา...ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากพบสิ่งผิดปกติใดๆจำเป็นต้องสืบค้นจนพบสาเหตุของความผิดปกตินั้น
          ข้อที่สาม...แม้การตรวจร่างกายจะปกติ แต่หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
          หากจะถามว่า...วัณโรคติดต่อได้อย่างไร? "เรียนรู้ เข้าใจ วัณโรค"...กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าติดต่อโดยเชื้อแบคทีเรียการแพร่กระจายทำได้จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งทางระบบหายใจ
          "ผู้ป่วยที่มีเชื้อในเสมหะ พูด คุย ไอ จาม โดยไม่ปิดปาก...เชื้อวัณโรคจะลอยไปกับละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ...จามออกมา ละอองที่มีขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นดิน ส่วนละอองขนาดเล็กจะล่องลอยไปในอากาศ ผู้ที่สูดหายใจเอาเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ...ป่วยเป็นวัณโรคได้"
          กระนั้น...ผู้ที่ได้รับเชื้อแล้วทุกคนไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคก็ได้ ด้วยเพราะร่างกายมีกลไกหลายอย่างที่จะต่อสู้และป้องกันเชื้อ มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้นที่จะป่วยเป็นวัณโรค
          ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า..."เชื้อวัณโรค" จากเสมหะที่ปลิวล่องลอยไปในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดดจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 8-10 วัน...
          และแสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที...การทำลายเชื้อจากเสมหะดีที่สุด จึงควรใช้ความร้อน เช่น การเผาทิ้ง
          ตัวอย่างสัญญาณอาการ "วัณโรคปอด" ถึงแม้ว่าผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการหลายชนิด แต่อาการสำคัญของวัณโรคปอด มักจะมีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์...ส่วนอาการอื่นๆที่อาจพบได้ก็อาจเป็นไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ น้ำหนักลด เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน
          ถามย้ำอีกว่า...เมื่อไหร่ควรไปตรวจหาเชื้อ "วัณโรค"? อาจสังเกตตัวเองในเบื้องต้น หนึ่ง...ถ้ามีอาการไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ถัดมา...มีไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายหรือค่ำ...เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย...เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีญาติ...คนใกล้ชิดป่วยเป็นวัณโรคปอด
          กรณีไม่มีอาการ...ทางที่ดีก็ควรที่จะตรวจสุขภาพประจำปี แต่ถ้ามีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ...ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น เป็นโรคเบาหวาน ติดสารเสพติด หรือติดเชื้อเอชไอวี ควรตรวจทุก 3-6 เดือน
          ปัจจัยสำคัญที่พึงระวัง...ป้องกันกรณีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น พักอยู่บ้านเดียวกัน หรือทำงานร่วมกัน...ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือป่วยเป็นโรคเอดส์ ผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต...
          นับรวมไปถึงผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกันนานๆ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการจัดลักษณะที่อยู่อาศัย...ที่ทำงานที่ใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา หรือสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก...ชุมชนแออัด การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การเสพสารเสพติด...หรือทำงานดูแลผู้ป่วยวัณโรค
          ถึงตรงนี้คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า  "ปัญหาวัณโรค" ในประเทศยังมีอยู่และมีความร้ายแรงของตัวโรคที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตได้
          แม้ว่าคนไม่น้อยจะรู้สึกรังเกียจโรคนี้ หากแต่เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกับความจริงและร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน หรือเมื่อเป็นแล้วก็รีบไปเข้ารับการรักษาให้หายขาด ไม่แพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นๆได้
          ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ฝากทิ้งท้ายว่า ขอให้ช่วยเตือนกันว่า...วัณโรคในเมืองไทยยังมีอยู่นะ แต่ไม่ต้องตกใจ ถ้ามีก็แค่รักษาเท่านั้นเอง
          "การรักษายังครอบคลุมได้ดีอยู่ โอกาสที่เชื้อจะดื้อยามีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์นั้นยังรักษาได้อย่างเต็มที่...ไม่อยากให้ตื่นตระหนกจากกรณีคุณน้ำตาล"
          "วัณโรค"...อีกหนึ่งโรคร้ายที่ทุกคนจะชะล่าใจไม่ได้ หมั่นตรวจเช็กความผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน..."อโรคยา ปรมาลาภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ.
          ประเด็นน่าสนใจมีอีกว่า..."เชื้อวัณโรค" จากเสมหะที่ปลิวล่องลอยไปในอากาศโดยไม่ถูกแสงแดดจะมีชีวิตอยู่ได้นาน 8-10 วัน...และแสงอาทิตย์จะทำลายเชื้อวัณโรคได้ภายใน 5 นาที และจะถูกทำลายได้ในน้ำเดือด 2 นาที...การทำลายเชื้อจากเสมหะดีที่สุดจึงควรใช้ความร้อนเช่นการเผาทิ้ง


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved