HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 15/04/2555 ]
'บริโภคอย่างรู้เท่าทัน - อาหารเป็นพิษ'

 ในช่วงอากาศที่ร้อนอบอ้าวอย่างนี้ จะเลือกกินอะไรก็คงต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ เพราะความเจ็บป่วยที่เกิดจากอาหารการกินนั้น เป็นอาการที่พบเจอกันได้ง่ายที่สุดในวิถีชีวิตคนเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'โรคอาหารเป็นพิษ" นั้น มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีงานเลี้ยงอาหารมื้อใหญ่ การปิกนิก หรือแม้แต่อาหารตามร้านค้าทั่วไป เพราะอาหารเหล่านั้น มักจะถูกจัดเตรียมไว้แต่เนิ่น ๆ และวางทิ้งไว้โดยไม่ได้แช่เย็นหรือปกปิดอย่างดี จึงทำให้เหล่าเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในอาหารเป็นอย่างดี
          ตะลึง! 2 เดือนแรกของปี 2555 คนไทยป่วยด้วยโรคจู๊ดร่วม 6 หมื่นราย ตายแล้ว2 ราย รมว.สาธารณสุข ขอให้ประชาชนระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ ควบคุมดูแลมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงานผลิตน้ำแข็ง กวดขันความสะอาดร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และตลาดสด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดสถานที่ และส้วมสาธารณะ รู้อย่างนี้แล้วเรา-ท่านคงต้องระมัดระวังและทำความรู้จักั้ที่มาที่ไปของโรคอาหารเป็นพิษกันแล้วอาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
          คือ โรคที่เกิดจากการกินอาหาร ดื่มน้ำ / เครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสารพิษที่สร้างจากเชื้อโรค หรือสารพิษจากสิ่งอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เชื้อโรค เช่น เห็ดพิษ สารหนู และโลหะหนัก (เช่น ตะกั่ว) ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และพบในเด็กมากกว่าวัยอื่น
          สาเหตุของอาหารเป็นพิษ จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
          * เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella) เป็นตระกูลเดียวกับเชื้อที่ทำให้เกิดไข้ไทฟอยด์อาหารที่พบ ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ไข่ นม เนื้อปลา และอาหารทะเลที่ไม่ได้ผ่านความร้อนอย่างเพียงพอ เชื้อโรคมักแพร่ไปกับมีด เขียง หรือกับผู้ป่วยติดเชื้อที่รักษาสุขภาพไม่ดี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีอาการท้องร่วงรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้สูง เริ่มมีอาการภายใน 8-48 ชั่วโมง และจะเป็นนาน 1-14 วัน
          * เชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส  (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดฝีหนองตามผิวหนัง เชื้อชนิดนี้สามารถสร้างสารพิษชนิดที่ทนต่อความร้อนได้ เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่กับอาหาร อาหารที่มักพบ คือ ขนมหวาน ขนมจีน หมูแฮม แซนด์วิช สลัด รวมทั้งอาหารที่ผลิตจากนม และเป็ด ไก่ ระยะฟักตัวประมาณ 2-4 ชั่วโมง ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้รุนแรง อาเจียน ปวดบิดในท้องเป็นพัก ๆ ถ่ายเป็นน้ำ ส่วนมากจะไม่มีไข้ อาการจะค่อย ๆ หายเอง ภายใน 1-2 วัน
          * เชื้อวิบริโอ (Vibrio) ซึ่งมีอยู่ 4-5 สายพันธุ์ ที่ทำให้อาหารเป็นพิษระบาดบ่อยที่เรียกว่า อหิวาต์เทียม เกิดจากการกินอาหารทะเลที่ปรุงสุกไม่ทั่ว หรืออาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อนี้เข้าไป ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดศีรษะ บางรายมีอาการคล้ายบิด ถ่ายเป็นมูกเลือด เริ่มมีอาการ 2-48 ชั่วโมง อาการมักจะหายในเวลา 2-5 วัน
          * เชื้ออีโคไล (E.coli) เป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์ มูลสัตว์ มักปนเปื้อนในน้ำ เนื้อสัตว์ หรือมือของผู้ประกอบอาหารสาเหตุของการติดเชื้อ คือกินอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ถ่ายเหลวเป็นน้ำและถ่ายเป็นเลือดภายใน 24 ชั่วโมงปวดบิดในท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้บางรายมีอาเจียน แต่ไม่มีไข้ เริ่มมีอาการภายใน 1-8 วันและจะเป็นนาน 5-8 วัน ในเด็กและผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อเพราะเป็นกลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ
          * เชื้อซิเกลลา (Shigella) ส่วนใหญ่มักจะมีในผัก ผลไม้ อาหารดิบ สุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม อาการเริ่มตั้งแต่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนมีอาการแสดง 1-7 วัน แต่มักแสดงอาการภายใน24-48 ชั่วโมง โดยเริ่มมีอาการปวดบิดในท้องก่อนภายใน 1 ชั่วโมง ต่อมาจะเริ่มมีไข้ขึ้นและถ่ายเหลว ซึ่งหากถ่ายอย่างรุนแรงจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ อาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน หลังจากนั้น อาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะรู้สึกปวดเบ่งที่ก้น และถ่ายเป็นมูก หรืออาจถ่ายมูกปนเลือด ถ้าเป็นในเด็กอาจมีไข้ขึ้นสูงจนชักได้เลยทีเดียว
          * เชื้อคลอสตริเดียม บอทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นเชื้อที่พบในอาหารกระป๋องและอาหารหมักดองแบคทีเรียชนิดนี้มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ หากการฆ่าเชื้อไม่สมบูรณ์ อันเกิดจากการกำหนดเวลาหรืออุณหภูมิไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดของเครื่องจักร แต่สปอร์ของเชื้อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อสภาวะเหมาะสมสปอร์จะเจริญแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะสร้างสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหาร มีผลทำลายระบบประสาทการกินอาหารที่มีสารพิษนี้ปนเปื้อนเข้าไปเพียง 1 ไมโครกรัม จะทำให้เกิดอาการป่วยที่เรียกว่าโบทูลิซึม (Botulism)ทำให้มองเห็นภาพซ้อนคลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดเป็นอัมพาต หายใจขัด และเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว อาการจะเกิดขึ้นใน 12-36 ชั่วโมงหลังกินอาหาร และอาจจะเสียชีวิตภายใน 3-6 วันการวินิจฉัย
          สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติ อาการ การตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจอุจจาระและเพาะเชื้อในอุจจาระการดูแลรักษา
          * ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS หรืออาหารเหลวมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
          * กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไม่ควรงดอาหารเพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร
          * ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เมื่อมีอาการต่อไปนี้
          - ถ่ายเป็นน้ำมากขึ้น-อุจจาระเป็นมูกหรือปนเลือด
          - กระหายน้ำกว่าปกติ ปัสสาวะน้อย
          - อาเจียนบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้
          - มีไข้สูง
          * การใช้ยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของแพทย์การป้องกัน
          * ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร หรือก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม
          * กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน ๆ, อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ, อาหารหมักดอง, อาหารที่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก
          * หากต้องเก็บอาหารที่ปรุงสุกไว้นานกว่า 4-5 ชั่วโมง ควรเก็บไว้ในตู้เย็นและควรอุ่นให้ร้อนก่อนบริโภค สำหรับอาหารทารกนั้นไม่ควรเก็บข้ามมื้อ
          * หลีกเลี่ยงการดื่มนมดิบ หรือไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์
          * ไม่ควรกินน้ำสลัด ซอสต่าง ๆ น้ำส้มสายชู ที่ทำทิ้งค้างไว้นาน ๆ
          การดำรงชีวิตที่ต้องเร่งรีบ แข่งกับเวลา เรา ๆ ท่าน ๆ จึงควรตระหนักและใส่ใจสักนิดกับการเลือกซื้ออาหารที่สะอาด ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ป้องกันไว้ก่อนเป็นดีที่สุด
          ข้อมูลจาก คณะกรรมการและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com


pageview  1206127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved