HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 03/04/2555 ]
เลยเตือนระวังบาดทะยักเผยเดือนเดียวตายแล้ว3

นายวิวรรธน์  ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย เปิดเผยว่า จากข้อมูลงานควบคุมโรค เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับรายงานว่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคบาดทะยักแล้ว 3 คน คนแรกที่ อ.ท่าลี่ สาเหตุจากการเหยียบตะปู คนที่ 2 จาก อ.เมืองเลย สาเหตุไม่ทราบแน่ชัด ส่วนคนที่ 3 จาก อ.ผาขาว สาเหตุมีประวัติปั่นจักรยานล้ม มีแผลที่นิ้วกลางมือขวาบวม โรคบาดทะยัก เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาท และกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อคลอสตริเดียม เต็ดตานัย ซึ่งผลิตสารพิษที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา เริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง ผู้ป่วยจะมีคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้มีอาการชักได้
          เชื้อนี้มักจะเข้าทางบาดแผล แผลอาจจะเล็กมาก แผลที่ลึก แผลที่มีเนื้อตายมากจะเกิดการติดเชื้อบาดทะยักได้ง่าย หลังจากรับเชื้อหรือเกิดแผลแล้ว 2 วัน ถึง 2 เดือน โดยเฉลี่ยประมาณ 14 วัน อาการของโรคบาดทะยักมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อลาย และเส้นประสาท ผู้ป่วยจะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อรอบแผล หลังจากนั้น 1-7 วัน จะเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้อ้าปากไม่ได้ กลืนน้ำลายลำบาก คอและหลังมีการเกร็งทำให้นอนแอ่นหลัง มีอาการปวดกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อช่วยหายใจไม่ทำงานเกิดภาวะหายใจลำบาก และอาจจะเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย
          แพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวต่อว่าสำหรับการป้องกันโรคบาดทะยัก เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด จึงขอให้ทุกคนได้ปฏิบัติ ดังนี้ 1. เมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ 2. ใช้เครื่องมือที่สะอาดในการทำคลอด เครื่องมือทุกชิ้นจะต้องต้มในน้ำเดือดนาน ครึ่งชั่วโมง-1 ชั่วโมง รักษาความสะอาดของสะดือโดยการเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ 70% เช็ดวันละ 1-2 ครั้ง ห้ามใช้แป้งหรือผงยาต่าง ๆ โรยสะดือ ไม่ควรห่อหุ้มพันท้อง หรือปิดสะดือ 3. ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักมาก่อน เมื่อมีแผลต้องรีบปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อพิจารณาให้วัคซีน 4. ในผู้ป่วยที่หายจากโรคบาดทะยัก ต้องให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักครบชุด เพราะจะไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเพียงพอ ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักกับเด็กตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะนัดผู้ปกครองมารับวัคซีนตามกำหนด  และหญิงตั้งครรภ์ทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก โดยให้  2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน ครั้งสุดท้ายควรจะต้องให้ก่อนคลอดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน.
 


pageview  1205019    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved