HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 30/03/2555 ]
คอลัมน์ เสพสมบ่มิสม: คาร์โบไฮเดรตรักษาระดับนํ้าตาล

โรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารมีด้วยกันหลายโรคแต่โรคที่คนไทยเป็นกันมากและเป็นที่รู้จักคือเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยมาจากการรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากจนเกินไป ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลส่วนเกินไปใช้ได้ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน (>99mg/dl) ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเป็นเบาหวาน หากมีความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ และลดการเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาสำหรับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานก็จะได้ป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานได้
          ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรต จึงต้องคำนึงถึงปัจจัย 2 อย่างคือ 1. ปริมาณของอาหารที่มีอยู่ในอาหาร 2. ค่าไกลซีมิค อินเดกซ์ (Glycemic Index : GI) ซึ่งอาหารที่ควรรับประทานในคนที่เป็นเบาหวานคืออาหารที่มีไกลซีมิค อินเดกซ์ ต่ำ
          ไกลซีมิค อินเดกซ์ (GI) คือดัชนีที่ใช้ตรวจวัดคุณภาพของอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต หลังรับประทานและเข้าสู่ระบบย่อยและดูดซึมของร่างกายสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้ มากหรือน้อยโดยมีค่าต่ำ 0 ถึง 100 ขึ้นกับว่าอาหารมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดมากหรือน้อย หลังการบริโภคอาหารช่วง 2 ถึง 3 ชั่วโมง เปรียบเทียบกับมาตรฐานน้ำตาลกลูโคส หรือขนมปังซึ่งมี GI เท่ากับ 100 โดยทั่วไปสามารถแบ่งกลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตตามค่า GI ออกเป็น 3 กลุ่มคือ
          1. อาหารที่มีค่า GI ต่ำ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 55 หรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสารมาตรฐานเช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักและอาหารพวกเส้นใยสูง เมล็ดธัญพืช (Cereal Grain) ที่มีน้ำตาลต่ำ โยเกิร์ตไขมันต่ำและไม่หวาน เกรฟฟรุ้ต แอปเปิ้ล และมะเขือเทศ เป็นต้น
          2. อาหารที่มี GI ปานกลาง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับ 56-69 เมื่อเทียบกับมาตรฐาน เช่น อาหารประเภทเส้น ถั่วคั่ว ถั่วฝักเขียว มันเทศ น้ำส้มคั้น บลูเบอรี่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดคั่ว ซุปถั่ว และข้าวกล้อง เป็นต้น
          3. อาหารที่มีค่า GI สูง มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในร่างกายเท่ากับ 70 หรือมากกว่าเมื่อเทียบกับมาตรฐาน เช่น ขนมปังขาว ข้าวเมล็ดสั้น มันฝรั่งทอด ไอศกรีม ลูกเกด ผลไม้รสหวาน กล้วย แครอท ผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น แตงโม เป็นต้น
          การที่เราทราบคุณค่าของคาร์โบไฮเดรต ในอาหารแต่ละชนิดจะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวาน สามารถตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารที่จะบริโภคได้ถูกต้อง และสามารถควบคุมสภาวะของระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นปกติ สุขภาพทางเพศจะอ่อนแอเสมอในคนไข้เบาหวาน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อจะได้ป้องกัน
 


pageview  1205135    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved