HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 21/03/2555 ]
สธ.ต้องกล้าสางปัญหา'ยาแก้หวัด'จับมือ'ตร.-ดีเอสไอ'ลุยหาต้นตอ!

นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
          ภายหลังจากมีการสืบสวนติดตามคดีที่เกี่ยวกับการลักลอบจำหน่ายยาแก้ไขหวัด ที่มีสูตรผสม "ซูโดอีเฟดรีน" สามารถนำไปใช้สกัดเป็นสารตั้งต้นผลิตยาบ้า-ยาไอซ์ ชนวนเหตุเริ่มจาก ทางตำรวจ บช.ภ.5 ได้ไปตรวจที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีว่า พบ "ซองยาแก้ไข้หวัด" ที่มีการแกะเม็ดยาออกเป็นจำนวนมาก เมื่อไปตรวจสอบก็พบภายในบ้านยังมียาแก้ไข้หวัดอีก 2.3 แสนเม็ด หลังจากนั้นทางตำรวจได้ขยายผลหาที่มาของยาพบว่า มาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เมื่อตรวจสอบลงลึกทำให้พบว่า มีการแอบสั่งซื้อตกแต่งบัญชียาแก้ไข้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนรั่วไหลออกมาจากโรงพยาบาลอีก 2-3 แห่งในภาคอีสาน
          งานนี้ทำให้นอกจากตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม จะให้ความสนใจแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขเองก็เริ่มตื่นตัวลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เพื่อหาเส้นทางการนำยาส่งออกนอกประเทศนั้นโยงใยไปถึงใครบ้าง??
          เรียกว่ากลายเป็นประเด็นร้อนของกระทรวงสาธารณสุขไปโดยปริยาย เนื่องจากตรวจพบว่า ยาแก้ไข้หวัด ลดน้ำมูก สูตรผสม "ซูโดอีเฟดรีน" ตามสถานพยาบาลหลายแห่งทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมไปถึงตามคลินิก มียอดการสั่งซื้อต่อปีสูงผิดปกติแถมยาจำนวนมากยังล่องหนไปไหนไม่รู้  มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ซึ่งสูญหายไปจำนวนมหาศาลนั้น เชื่อว่าน่าจะถูกนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้น ผลิตยาบ้า-ยาไอซ์ โยงใยกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างแน่นอน
          จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ยาแก้ไข้หวัด 1 เม็ด  มีซูโดอีเฟดรีน 60 มก.  สามารถเปลี่ยนเป็นยาบ้าได้ถึง 1.98 เม็ด ลองคำนวณดูว่ายาแก้หวัดที่หายไปจำนวนมากมาย หากไปตกอยู่ในมือของขบวนการค้ายาเสพติด จะเพิ่มมูลค่าได้มหาศาลเพียงใด และมันจะทำลายคนอีกไม่รู้เท่าไหร่
          จากข้อมูลที่กำลังตกเป็นข่าวขณะนี้ นอกเหนือจาก รพ.อุดรธานี,รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ แล้ว ยังมี รพ.อีกหลายแห่งทั้งในภาคกลางและภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็ยังมี รพ.เอกชนอีก 2 แห่ง โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และตำรวจเข้าไปตรวจสอบในเร็ว ๆ นี้
          หลายคนอาจสงสัยว่า การจัดซื้อ "ยาแก้หวัด" ของโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้นมีใครเกี่ยวข้องบ้าง?
          พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) อธิบายว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ คือ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ซื้อ เภสัชกรคุมคลังยา และ ผอ.รพ. ซึ่งมีอำนาจอนุมัติให้ซื้อและมีอำนาจสั่งจ่ายเงินค่ายา แต่บางโรงพยาบาล ทาง ผอ.รพ.อาจจะไม่รู้เนื่องจาก เภสัชกรอาจทำหลักฐานเอกสารเท็จ ปลอมลายเซ็น แอบซื้อยาโดยใช้ชื่อโรงพยาบาล
          นอกจากนี้อาจมีกรณี "ยาลอย" คือ ผู้ขายต้องการทำยอด ก็อาจขอกับทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรืออาจจะไม่บอกเลย กรณีเช่นนี้มักจะไม่รับเข้าคลังยา คือ ยาจะลอยมาตามแต่จำนวนที่ต้องการทำยอด โดยทางผู้ขายจะมาเก็บยาคืนภายหลัง บางครั้งก็มีการตื๊อให้ทางโรงพยาบาลรับซื้อยาดังกล่าวไว้ หากคนใจอ่อนก็จะช่วย อย่างไรก็ตามถ้าโรงพยาบาลใดมีระบบการจัดซื้อที่รัดกุมจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ และจะมีการส่งยาคืนทันทีถ้าเกินจำนวนสั่งซื้อ
          สรุปง่าย ๆ คนที่เกี่ยวข้องแน่ ๆ คือ เภสัชกรผู้มีหน้าที่ซื้อ หรือเภสัชกรคุมคลังยา ส่วน ผอ.รพ.จะมีเอี่ยวด้วยหรือไม่ อยู่ที่การซัดทอด และพยานหลักฐาน!!
          ขณะเดียวกันายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการทางวินัยร้ายแรงกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกอย่างต้องจบในสัปดาห์นี้ ในขณะนี้ ทางอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) จังหวัด กำลังสอบสวนวินัยข้าราชการที่เกี่ยวข้องอยู่ ซึ่งได้มอบให้ นพ.ไพจิตร์ วราชิตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปประสานงานกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งประชุม อ.ก.พ.จังหวัดแล้วดำเนินการเอาผิดทางวินัยเลย นิ้วไหนเสียต้องตัดทิ้งไป หากผลการสอบสวนมี ผอ.รพ.เกี่ยวข้องก็ต้องให้ออกจากราชการ ไม่เอาไว้
          อย่างไรก็ดีในระหว่างรอผลสอบสวนจากผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนเชือดข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยกับปัญหา เนื่องจากทางรมว.สาธารณสุข ได้มอบอำนาจให้ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขในฐานะประธานคณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ไปลุยเรื่องนี้อย่างเต็มที่
          ก่อนหน้านี้ นายพสิษฐ์ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง รวมถึงลงพื้นที่ไปหาข้อมูลเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็น  รพ.อุดรธานี รพ.กมลาไสย ทั้งนายพสิษฐ์ เปิดเผยกับทีมข่าวเดลินิวส์ว่า  ข้อมูลผิดปกติที่ได้จากบางโรงพยาบาล อาทิ พบว่า ทาง ผอ.รพ.เซ็นคำสั่งให้ซื้อยาเพียง 2 หมื่นเม็ดเท่านั้น แต่จากข้อมูลที่ อย.รายงานมาพบว่า มียอดการสั่งซื้อถึง 1.1 แสนเม็ด ดังนั้นยา 9  แสนเม็ดหายไปไหนก็ต้องสอบสวนต่อไป เพราะยาจำนวนดังกล่าวไม่ได้เข้า รพ.
          "เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากคนส่วนน้อยแค่ 1% เท่านั้น ถ้าไม่รีบแก้ไข กระทรวงสาธารณสุขจะเสียหายมาก ในสัปดาห์นี้จะร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบเอกสารหลักฐานใน รพ.ต่าง ๆ แต่ขอปิดเป็นความลับก่อนว่ามีที่ใดบ้าง" นายพสิษฐ์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งคนเข้าไปตรวจสอบบริษัทผลิตยาจำนวน 5 แห่งแล้วแต่ยังไม่พบความผิดปกติ เนื่องจากบริษัทยาหลายแห่งกำลังปรับปรุงยาในทุก ๆ ด้าน แต่คณะทำงานไม่ได้นิ่งนอนใจจะมีการเฝ้าระวังติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
          ปัญหาตอนนี้คือ ในส่วนโรงพยาบาลของรัฐนั้น รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้ระงับการซื้อ การจ่ายยาดังกล่าว แต่โรงพยาบาลเอกชน และคลินิก ยังสามารถซื้อได้อยู่ แม้ว่าทาง อย.จะขอความร่วมมือไปยังบริษัทยาแล้ว เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับไม่ให้บริษัทจำหน่ายยาดังกล่าวได้
          ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สธ.จะกล้าตัดนิ้วร้ายได้ มากน้อยแค่ไหน!?.
          "เรื่องที่เกิดขึ้นเกิดจากคนส่วนน้อยแค่ 1% เท่านั้น ถ้าไม่รีบแก้ไข กระทรวงสาธารณสุขจะเสียหายมาก ในสัปดาห์นี้จะร่วมมือกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เข้าไปตรวจสอบเอกสารหลักฐานใน รพ.ต่าง ๆ"
 


pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved