HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 17/03/2555 ]
เลเซอร์เพื่อความงาม

อาจารย์นายแพทย์วาสนภ วชิรมน แผนกผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          หลากหลายคำถามที่แฟนคอลัมน์ส่งกันเข้ามา บ่อยครั้งที่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสวย หนึ่งในคำถามที่ส่งกันเข้ามา และทำให้เราต้องหาคำตอบมาให้ได้ทราบกันก็คือเรื่อง "เลเซอร์" เลเซอร์กับความจำเป็นในปัจจุบัน ทำไมจึงต้องทำเลเซอร์เพื่อความงาม
          ใบหน้าและผิวพรรณเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นเป็นอันดับแรกเวลาพบกัน ใบหน้าและผิวพรรณที่สดใสสามารถเพิ่มความมั่นใจ ความอบอุ่น และความสุข และเป็นพื้นฐานที่ช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์และนำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงานและทางธุรกิจด้วย ดังนั้น การรักษา การดูแลผิวพรรณและรูปร่างหน้าตา จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น โดยจะสังเกตได้ว่าเดี๋ยวนี้คนเราอายุ 50-60 ปี ยังสามารถทำงานและพบปะสังสรรค์ผู้คนได้โดยชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมแก่ ด้วยเหตุนี้แต่ละคนจึงพยายามสรรหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อทำให้ตนเองดูดีขึ้น
          ปัจจุบันนี้ได้มีการนำเลเซอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ทางการแพทย์มาใช้ทางผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยรักษาโรคทางผิวหนังบางชนิด หรือเพื่อความงามโดยตรง จะเห็นได้ว่ามีเลเซอร์ใหม่ ๆ ชื่อแปลก ๆ ออกมาแทบทุกเดือน แต่ละเครื่องก็มีคุณสมบัติโดดเด่นแตกต่างกันไป บางคนไปทำมาแล้วได้ผลดีคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป แต่ในขณะที่อีกหลายคนทำแล้วไม่ได้ผล หรือเกิดผลข้างเคียง ทำให้ต้องเสียเงินไปโดยไม่จำเป็น และมีอีกหลายคนที่ทำตามกระแสโฆษณา โดยที่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้วคืออะไร ดังนั้นเราควรมาทำความรู้จักกับเลเซอร์เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นกันดีกว่า
          ชนิดและคุณสมบัติของเลเซอร์ที่ใช้เพื่อความงาม
          หลักการคือเครื่องเลเซอร์จะยิงอนุภาคโฟตอนไปกระทบกับวัตถุ ตัวกลางที่อยู่ภายใน ทำให้เกิดการชนและการสะท้อนไปมา เป็นปฏิกิริยาต่อเนื่องจนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนั้นพลังงานจะถูกรวบรวมและถูกปล่อยออกมาทางท่อที่ได้ออกแบบไว้ ซึ่งเราสามารถนำพลังงานดังกล่าวไปใช้ในการรักษาภาวะต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของเครื่องเลเซอร์นั้น ๆ
          เลเซอร์แตกต่างจากแสงที่เรามองเห็นคือ เลเซอร์มีช่วงความยาวคลื่นเดียว และเดินทางเป็นเส้นตรง ดังนั้นพลังงานจึงสูงมาก ไม่เหมือนแสงจากหลอดไฟที่จะกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ เลเซอร์มีใช้ในทางการแพทย์มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเลเซอร์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย
          ปัญหาความงามที่สามารถใช้เลเซอร์รักษาได้ผลดีมีดังนี้
          1. ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ หูด ตุ่มและก้อนบางชนิด สามารถ ทำได้ด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ หรือที่เรียกกันว่า ซีโอทูเลเซอร์ ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ 10,600 นาโนเมตร เลเซอร์ชนิดนี้จะทำงานโดยการเผาและการตัด โดยขั้นตอนการรักษาจะยุ่งยากหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดของปัญหา เช่น การรักษาติ่งเนื้อเล็ก ๆ สามารถทำได้โดยใช้ยาชาชนิดทาและใช้เวลารักษาเพียงไม่กี่นาที แผลหายภายใน 3-5 วัน หากเป็นไฝและขี้แมลงวัน แผลจะหายใน 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับขนาดและความลึก
          2. สีผิวเข้ม ในกรณีนี้หมายถึงปานสีน้ำตาล ปานดำ กระตื้น กระลึก กระแดด รอยสักและรอยดำบางชนิด สสามารถลดความเข้มข้นของสีลงด้วยเลเซอร์กลุ่มคิวสวิทช์ เช่น เลเซอร์คิวสวิทช์นีโอไดเนียม-แย็ก ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ 532 และ 1,064 นาโนเมตร ส่วนเลเซอร์ทับทิมชนิดคิวสวิทช์ มีความยาวคลื่นที่ 694 นาโนเมตร และเลเซอร์คิวสวิทช์อเล็กซานไดรท์ มีความยาวคลื่น 755 นาโนเมตร ในบางกรณีเช่น กระตื้นและกระแดด ใช้การรักษาเพียง 1-2 ครั้ง รอยดำจะจางลง ในขณะที่กระลึก ปานชนิดลึก และรอยสักต้องทำการรักษาซ้ำหลายครั้งจนกว่าสีจะจางทลงถึงระดับที่ต้องการ
          3. เส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าหรือขา รวมทั้งรอยแดง ปานแดง และแผลเป็นชนิดสีแดง สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยเลเซอร์ที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเม็ดเลือดแดง เช่น เลเซอร์เพาซ์ดาย ซึ่งมีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 585-595 นาโนเมตร
          4. กำจัดขน เป็นเลเซอร์ที่มีความจำเพาะต่อเม็ดสีที่อยู่ที่บริเวณรากขน เช่น เลเซอร์ลองเพาซ์อเล็กซานไดรท์ เลเซอร์ไดโอด และเลเซอร์ลองเพาซ์นีโอไดเนียม-แย็ก หลังรับการรักษาด้วยเลเซอร์ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง เส้นขนจะเล็กลง จำนวนน้อยลง ขึ้นช้าลง จนอาจหายไปหมดได้ แต่อย่างไรก็ตามเลเซอร์กำจัดขนอาจจะไม่ได้ทำให้ขนหายไปอย่างถาวร
          5. แผลเป็นชนิดหลุม และริ้วรอย สามารถใช้เลเซอร์ชนิดที่ทำให้เกิดการกระตุ้นคอลลาเจนใต้ผิว ซึ่งในกลุ่มนี้อาจแบ่งย่อยเป็น 3 ชนิด ชนิดแรก ได้แก่ เลเซอร์ที่ทำแล้วมีแผล เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และเออร์เบียมเลเซอร์ โดยเลเซอร์ทั้งสองชนิดนี้จะทำให้ผิวชั้นบนเกิดการลอกออก และความร้อนที่เกิดขึ้นใต้ผิวจะทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจน วิธีนี้ได้ผลดี แต่ผู้ป่วยจะต้องพักหน้าบริเวณที่ทำ 1-2 สัปดาห์ และอาจต้องระวังแสงแดด นอกจากนี้ยังต้อง รอผิวปรับสีซึ่งจะใช้เวลาหลายเดือน
          เลเซอร์กลุ่มที่สองคือ เลเซอร์ชนิดที่ทำแล้วไม่มีแผล เช่น เลเซอร์นีโอไดเนียม-แย็ก และไดโอดเลเซอร์ เลเซอร์กลุ่มนี้หลังทำผิวจะมีสีชมพูอมแดงไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยไม่ต้องพักฟื้น สามารถไปทำงานได้ทันที แต่มีข้อเสียคือได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร กลุ่มที่สามคือเลเซอร์ที่ทำแล้วมีแผล แต่เป็นแผลขนาดเล็กเป็นจุด ๆ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า แฟรกชันแนลเลเซอร์ เป็นเลเซอร์ที่คล้ายกลุ่มแรก แต่ว่าเลเซอร์จะถูกยิงออกมาในลักษณะเป็นจุด ๆ โดยจะเว้นผิวปกติไว้บางส่วน ทำให้แผลหายเร็ว เลเซอร์กลุ่มนี้กระตุ้นคอลลาเจนได้ดี และผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้น 2-5 วันแล้วแต่ชนิดของเลเซอร์ เลเซอร์กลุ่มนี้นอกจากใช้รักษาแผลเป็นแล้ว ยังใช้กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อคอลลาเจนในผิวชั้นลึก เพื่อชะลอปัญหาริ้วรอยก่อนวัยได้อีกด้วย
          ในฉบับต่อไปเราจะพูดถึงเครื่องมือที่ใช้รักษาผิวหย่อนคล้อย ร่องแก้ม ไอพีแอล และเครื่องมือที่ใช้ช่วยลดไขมัน โทษและข้อจำกัดของการรักษาด้วยเลเซอร์ รวมทั้งคำแนะนำสำหรับก่อนตัดสินใจรักษาด้วยเลเซอร์.
 


pageview  1205099    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved