HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/02/2555 ]
พลังแห่งการนวดสัมผัสลดความก้าวร้าวในเด็ก

         "เด็กด้อยโอกาสในสถานสงเคราะห์หากไม่ได้รับความรักในวัยแรกเริ่มของชีวิตก็มีโอกาสเติบโตเป็นโรคขาดรักและพฤติกรรมของคนที่เป็นโรคขาดรักจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมต่อต้านสังคมและการใช้ความรุนแรงดังที่เราได้เห็นว่าในปัจจุบันอาชญากรรมในเด็กที่อายุน้อยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ" นางสาวรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทยและสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ระบุถึงปัจจัยของสาเหตุความรุนแรงในเด็ก  นั่นจึงเป็นที่มา มูลนิธิสุขภาพไทยมีบทบาทในการจัดทำโครงการสัมผัสกาย สัมผัสรัก (อาสานวดเด็ก) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เป็นต้นมา

          นางสาวรสนา บอกว่า การนวดสัมผัสเด็ก จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดี มีสุขภาพทางกายและจิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะการสัมผัสจะเป็นการสื่อสารทางกายที่แสดงออกได้ถึงความรัก เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ และมีภูมิคุ้มกัน ไม่เป็นโรคขาดรัก
          "สำหรับการเปิดรับอาสาสมัครเพิ่มเติมนั้น จะเป็นการสร้างพื้นที่เพิ่มช่องทาง โอกาสให้ผู้มีจิตอาสาเสียสละเวลามาทำประโยชน์ให้กับสังคมต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาคประชาชนเชื่อว่าในสังคมมีอาสาสมัครจำนวนมากที่ต้องการเข้ามามีส่วนในการทำความดีให้สังคม ซึ่งจะช่วยให้เกิดสุขภาวะทางสังคม การมีสุขภาวะทางสังคมที่ดีจะส่งผล ให้สุขภาวะของปัจเจกดีขึ้นด้วย"
          ก่อนวันวาเลนไทน์ไม่กี่วัน  หอจดหมายเหตุ พุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  มูลนิธิสุขภาพไทยสหทัยมูลนิธิ และเครือข่ายพุทธิกา เปิดตัวโครงการ "พลังอาสาสมัครสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์" พร้อมจัดกิจกรรมนวดสัมผัสมอบความรักแก่ทารกจัดทำของขวัญมอบแก่เด็กในสถานสงเคราะห์ เนื่องในโอกาสวาเลนไทน์ และร่วมเชิญชวนเป็นอาสาสมัครสร้างสุข
          นางรชธร พูลสิทธิ์ ผอ.สำนักคุ้มครองสวัสดิภาพหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวระหว่างการเสวนา "อาสาสร้างสุขให้เด็กในสถานสงเคราะห์" ว่ากรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการมีสถานสงเคราะห์เด็กอ่อน จำนวนประมาณ 29 แห่งแต่มีเจ้าหน้าที่รวมถึงอาสาสมัคร ไม่เพียงพอต่อความต้องการเนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเด็กอ่อนเพิ่มสูงขึ้น
          "ตามหลักสากล เจ้าหน้าที่ 1 คน ดูแลเด็ก 4-5 คน แต่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ในสถานสงเคราะห์ 1 คน ต้องดูแลเด็ก 20 คน ดังนั้น การเชิญชวนให้เกิดอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น" นางรชธร กล่าว
          ด้าน นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากฐานข้อมูลสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลรายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ. 2551 ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยมีสมาชิกรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาในสถานะของ "เด็กกำพร้า" ประมาณ 800,000 คน โดยถูกทอดทิ้งในโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ เหตุจากแม่ในวัยเรียน และแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษทางด้านการศึกษาและความรัก สสส.จึงได้พยายามส่งเสริม สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว เกิดความอบอุ่น มีสุขภาวะที่ดี เพื่อช่วยป้องกันและลดปัญหาความไม่พร้อมที่จะนำมาสู่ปัญหาอื่น
          ดังนั้น การสร้างระบบอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์เด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบ จะช่วยให้สามารถเกิดการทำงานอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นการสร้างต้นแบบ รูปแบบการทำงาน ด้วยการวิจัยจนได้เป็นคู่มือและเครื่องมือระบบอาสาสมัครในสถานสงเคราะห์ทั่วประเทศ.

pageview  1204949    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved