HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/04/2556 ]
ปรับพฤติกรรมสักนิด ลดความเสี่ยงโรคสมองเสื่อม

หากจะพูดถึงโรคสมองเสื่อม หลายคนอาจนึกว่าเป็นโรคเดียวกับอัลไซเมอร์ แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองโรคมีความคล้ายแต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน
          พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวในงานเสวนา ภูมิปัญญาผู้สูงวัย นำไทยสู่อาเซียน ปี 2556 จัดโดยกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของผลิตภัณฑ์เอนชัวร์ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ว่า "โรคอัลไซเมอร์กับโรคสมองเสื่อม มีความคล้ายกัน แต่ไม่ใช่โรคเดียวกัน ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้คือ โรคสมองเสื่อม อาการนี้คนส่วนใหญ่มักจะรู้ตัว สมัยโบราณมักเรียกว่า อาการหลง เช่น จำชื่อสลับกัน ในสมัยโบราณเรียกว่า หลงลืม ปัจจุบันเรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการสมองเสื่อม"
          ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สมองเสื่อมเร็ว ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด
          คนเป็นโรคสมองเสื่อม มักจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนี้ ถ้าเรารู้ตัวว่าเราเป็นคนลืมนั่นลืมนี่ อันนี้ไม่ใช่โรคสมองเสื่อม เป็นแค่การขี้ลืม
          "หลงลืม" คือการสูญเสียความจำในชีวิต เช่น ลืมว่าตัวเองดื่มน้ำไปแล้ว ทั้งที่เพิ่งวางแก้วลง เห็นรถอยู่ตรงหน้า แล้วบอกว่าไม่ใช่รถตัวเอง ลืมว่าตัวเองใส่เสื้อผ้า ทั้งที่สวมทับไปแล้ว 2-3 ชั้น เป็นต้น
          อาการบ่งชี้ของคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมคือ สิ่งที่เคยจำได้ กลับจำไม่ได้แล้ว, กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น, สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ซึ่งอาการทั้งหมดนี้ ก็จะนำไปสู่การวินิจฉัยของแพทย์ต่อไป
          ปัจจุบันยังไม่มียาที่จะช่วยฟื้นฟูสมองให้กลับคืนมาได้ มีแต่ยาที่จะช่วยประคองไม่ให้เป็นมากกว่าเดิม คนที่จะช่วยผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ดีที่สุดคือ คนในครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด
          วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคสมองเสื่อม ทำได้ง่าย ๆ โดยการ ดูแลสุขภาพกาย ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่น การเดินอย่างกระฉับกระเฉงเป็นเวลา 30 นาทีอย่างต่อเนื่อง สัปดาห์ละ 3-5 วัน เพื่อให้เลือดเกิดการสูบฉีดให้ไปเลี้ยงสมองได้อย่างสะดวก
          ดูแลสุขภาพใจ ด้วยการฝึกสติ ฝึกสมาธิ การกำหนดจิตเพื่อสร้างการจดจำที่ดี รักษาระดับอารมณ์ เพราะอารมณ์ไม่ดี ไม่ว่าอารมณ์เศร้า เสียใจ โมโห หรือหงุดหงิด ล้วนส่งผลต่อสุขภาพสมอง ฉะนั้นเมื่อรู้ตัวว่าอารมณ์ไม่ดี ต้องรีบดึงตัวเองให้กลับคืนมาโดยเร็ว
          ดูแลสุขภาพสมอง โดยฝึกใช้สมองด้านที่เราไม่ถนัด เพื่อผูกใยสมองให้ทำงานได้ดีขึ้น เช่น การขับรถ ควรจะฝึกใช้เส้นทางอื่นเพื่อสร้างการจดจำกับเส้นทางใหม่ ๆ การเล่นอักษรไขว้อย่างสนุกสนาน แต่ถ้าเล่นแล้วเครียดควรหยุดเล่น
          ดูแลสุขภาพสังคม ด้วยการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมอย่างมีความสุข รู้เรารู้เขา สร้างสังคมที่ดีทั้งที่อยู่รอบตัว และเพื่อนใหม่ ๆ เพื่อการเรียนรู้ในโลกใบใหม่
          ที่สำคัญควรจะเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะการตรวจเช็กความดัน ตรวจคอเลสเตอรอล น้ำตาลในเลือด ถ้าพบว่ามีความเสี่ยงควรจะเพิ่มความถี่ในการตรวจสุขภาพ
          สำหรับอาหารเสริมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใด ๆ ที่จะบอกว่าอาหารเสริมสามารถช่วยได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทานผัก และผลไม้ที่มีรสไม่หวานจัด ซึ่งให้เกลือแร่และวิตามินที่ครบถ้วน และเลือกทานอาหารที่หวาน-มัน-เค็มน้อย เลือกโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้
          เคล็ดลับคือ การดูแลตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย สามารถช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ แต่ถ้าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้แล้ว ด้วยความรัก ความเข้าใจ และการเอาใจใส่จากลูกหลานและคนในครอบครัวเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอด และมีช่วงเวลาที่มีความสุขได้.
 


pageview  1206107    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved