HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 09/02/2555 ]
อย่าแค่กลัว-มัวฝืนทน 'ข้อเข่าเสื่อม' รักษาเร็วไม่เสี่ยงพิการ
          เป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกร่างกายมนุษย์เราส่วนที่เรียกว่าโครงกระดูกรยางค์ เป็นกระดูก "ข้อต่อ" ที่มีลักษณะ "คล้ายบานพับ" ทำให้กระดูกร่างกายเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางคืองอและเหยียด.นี่เป็นลักษณะจำเพาะอย่างคร่าว ๆ ของส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่เรียกว่า 'ข้อเข่า" ซึ่งสำคัญต่อร่างกายไม่แพ้อวัยวะใด ๆสำคัญต่อการทรงตัว ต่อการยืน ต่อการเดินหากข้อเข่าเกิดมีปัญหาก็จะเป็นเรื่องใหญ่!!
          และปัญหาที่อาจเกิดกับข้อเข่าก็คือ กระดูกอ่อนผิวข้อต่อของเข่าสึกกร่อน ถูกทำลายจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน หรือจากอาการเสื่อมสภาพ หรือที่เรียกว่า 'โรคข้อเข่าเสื่อม" ที่มิใช่เรื่องเล็ก ๆอาจลุกลามบานปลายจนถึงขั้น "เดินไม่ได้!!"จากการที่ปัจจุบันสังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นมีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ส่งผลให้ตัวเลขคนไทยที่ป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อ ซึ่งรวมถึง "ข้อเข่าเสื่อม" เพิ่มสูงขึ้น โดยย้อนไปเมื่อประมาณปีเศษ ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยเปิดเผยไว้ว่า โรคกระดูก โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน และโรคข้อเสื่อม ที่รวมถึงข้อเข่าเสื่อม กำลังเป็น 'ภัยเงียบคุกคามคุณภาพชีวิตคนไทย" ราว 7 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสร้างความทรมาน เมื่อจะลุก นั่ง เดิน
          ทางกระทรวงสาธารณสุขยังเคยระบุไว้ด้วยว่า.การเจ็บป่วยของคนไทยด้วยโรคในกลุ่มกระดูกและข้อนี้ แม้ว่าจะไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด โดยเฉพาะ "ข้อเข่าเสื่อม" ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความอันตราย อาจลุกลามจนไม่สามารถลุกยืน ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง
          ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจากการที่ข้อเข่าเสื่อมนั้น ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคล้ายกัน เช่น มีอาการเข่ายึด ฝืด งอลำบาก มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าขณะเคลื่อนไหว ปวดที่ข้อเข่าหรือขาเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได
          ในบางรายจะปวดเจ็บแปลบที่ข้อเข่าเวลาเดิน แต่บางรายอาจมีอาการปวดข้อเข่าเวลานอน ส่วนบางรายจะมีปัญหาปวดข้อเข่าเวลาใส่ถุงเท้า รองเท้า หรือขณะลุกนั่ง ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่ไปพบแพทย์หลังเกิดอาการปวดบวมอักเสบที่ข้อเข่า จะแทบไม่สามารถเดินได้ปกติแล้ว อาจต้องเดินโยกตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้
          "โรคข้อเข่าเสื่อม" แม้ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดได้เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ในกลุ่มคนวัยทำงานก็สามารถเกิดได้ และหากจะเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มชายและหญิง ในปัจจุบันส่วนใหญ่ของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมักเป็นกลุ่มผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดได้จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลายที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น การเล่นกีฬาผิดท่า เดินขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ มีน้ำหนักตัวมาก
          เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้และที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ก็คือการมีความอดทนสูงกับอาการปวด ยอมทนต่อความปวดและปล่อยไปเรื่อย ๆ จนอาการถึงขั้นรุนแรงจึงยอมรักษา ซึ่งหากรักษาไม่ทันการณ์ อาจจะถึงขั้นเดินไม่ได้
          กับเรื่องของ 'โรคข้อเข่าเสื่อม" นี้ นพ.ประภัทร จารุมนพร ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อประจำศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ โรงพยาบาลสุขุมวิท ซึ่งมีประสบการณ์ผ่าตัดข้อเข่าผู้ป่วยมาแล้วกว่า 500 เข่า ให้ความรู้ความเข้าใจว่า.การที่ผู้ป่วยยอมทนอาการที่เกิดขึ้น ไม่ไปปรึกษาแพทย์หรือรับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจเพราะกลัวถูกผ่าตัด กังวลว่าจะเดินไม่ได้เป็นปกติหลังผ่าตัด นี่คือการเพิ่มปัญหา
          'ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาจากการทนคือ เดินไม่ได้เหมือนปกติ จึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองต้องเผชิญโรคนี้เป็นเวลานาน".นพ.ประภัทร ระบุ พร้อมทั้งบอกว่า.วิธีรักษาโรคนี้มีทั้งการให้ยาแก้อักเสบ ฉีดยาเข้าข้อ ทำกายภาพบำบัด ผ่าตัด ซึ่งในส่วนของการใช้ยา บางรายอาจแพ้ยา เกิดผลข้างเคียงของยา เช่นเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดผื่นคัน อาจเสี่ยงต่อโรคไต ทางแพทย์ก็จะประเมินเพื่อเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม
          สำหรับวิธีผ่าตัด ปัจจุบันพัฒนาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีก็ก้าวหน้ามาก กับโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น จากเดิมที่การผ่าตัดข้อเข่าต้องเปิดแผลขนาด 15-20 ซม.ที่หัวเข่า ทำให้เสียเลือดมากและเจ็บมาก ฟื้นตัวได้ช้า ปัจจุบันมีการผ่าตัดโดยวิธี ผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ขนาดของแผลจะเพียง 8-10 ซม. แต่ก็ได้ผลดี ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายในมีน้อย เสียเลือดน้อย ไม่มีโรคแทรกซ้อน และฟื้นตัวได้เร็ว
          'การที่ผู้ป่วย ฝืนทนต่ออาการนาน ๆ จะทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบและกระดูกบาง ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในระยะที่ช้าเกินไปจะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า".แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้ความรู้ทิ้งท้าย
          'ข้อเข่าเสื่อม" จะยิ่งอันตรายถ้าเอาแต่กลัว-มัวฝืนทนโรคนี้ก็จำเป็นต้องรู้เท่าทัน-ต้องรีบรักษาให้ทันท่วงทีเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม!!!

pageview  1205124    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved