HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 04/04/2556 ]
ทำสวย'อย่าลืมกลัว' 'เห่อร้อยไหม' รู้ไหมต้องรู้อะไรบ้าง?

  เรื่องการทำสวยนั้นหญิงไทยสาวไทยไม่มียอมน้อยหน้าหญิงชาติใดสาวชาติใดในโลกอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อมีวิวัฒนาการการทำสวยอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้น หญิงไทยสาวไทยเราก็จะมีการทำด้วยในเวลาไม่นาน ส่วนใครทำแล้วจะสวยขึ้นได้แค่ไหน? หรือทำแล้วจะจนลงอย่างไร? นั่นก็เป็นอีกเรื่อง!! อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับการทำสวยที่หญิงไทยสาวไทยไม่ควรจะมองข้ามอย่างเด็ดขาดเลยก็คือ 'อันตรายหรือไม่อันตราย??"
          และล่าสุดนั้นก็มีกรณี 'ร้อยไหม"
          จะทำสวยด้วยวิธีนี้ก็ต้องคิดให้ดี
          ในแวดวงของคนชอบทำสวย เชื่อว่าคงจะเคยแว่ว ๆ กันบ้างแล้ว ประมาณว่า การ "ร้อยไหม" เพื่อหวังจะทำสวย ซึ่งนิยมทำกับใบหน้า นัยว่าเพื่อความกระชับเต่งตึงนั้น หากใช้ "ทองคำ" หรือที่เรียกว่า 'ร้อยไหมทองคำ" ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว แต่ก็มีคนกระเป๋าหนักพร้อมจ่าย การร้อยไหมทองคำนี่อาจกลายเป็นกรณีจ่ายแพงแล้วยังน่ากลัว?? สุ่มเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย?? เช่น ผิวหนังผิวหน้าแพ้ไหมทองคำ หรือหากเกิดเจ็บป่วยอะไรที่ต้องมีการวินิจฉัยด้วยการเอกซเรย์บริเวณใบหน้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องสแกนด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ การร้อยไหมทองคำไว้ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการวินิจฉัย?? หรือไหมอาจเกิดความร้อนและไหม้จนมีผลต่อใบหน้า??
          ทั้งนี้ กับกรณีดังกล่าวนี้ก็มีข้อมูลออกมาหลายแบบหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ทาง พญ.ณิชนันทน์ ศรีปรัชญากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง ประจำ บีบี คลินิก ก็ได้ร่วมสะท้อนถึงกรณีนี้ผ่านมาทางเดลินิวส์ สรุปได้ว่า.การร้อยไหมนั้น ตอนนี้จะมี 2 แบบ ตามวัสดุที่ใช้ คือ.ร้อยไหมทองคำ ร้อยอยู่ใต้ผิวหนัง ร้อยเพื่อเป็นการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน อิลาสติน ซึ่งหากใต้ผิวหนังบริเวณใบหน้ามีคอลลาเจนเป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้หน้าเต่งตึง โดยไหมทองคำนี้ร้อยแล้วจะช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนไปตราบนานเท่านาน
          แต่ค่าใช้จ่ายในการร้อยไหมทองทำก็จะสูง จะอยู่ที่เส้นละ 10,000-100,000 บาท ตามแต่ความหนาของเส้นไหมทองคำที่ใช้  ซึ่งการร้อยส่วนใหญ่มักจะใช้ประมาณ 20 - 30 เส้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท โดยราคาสูงสุดเท่าที่เคยทราบคือ 5,000,000 บาท และ.ก็ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีก
          แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนังรายนี้ ระบุว่า.เส้นไหมทองคำนี้จะไม่ละลาย หากต้องมีการเอกซเรย์บริเวณใบหน้าเพราะเจ็บป่วยอะไร ก็จะเห็นแต่เส้นทองคำ ทำให้การตรวจวินิจฉัยการเจ็บป่วยทำได้ยาก
          "และหากต้องเข้าเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ จะไม่สามารถทำได้ เพราะตัวเส้นทองจะร้อน และสั่นสะเทือน อาจทำให้ผิวบริเวณที่ร้อยไหมเกิดการไหม้ และมีโอกาสที่ใบหน้าจะผิดรูปได้"
          สำหรับการร้อยไหมอีกแบบ พญ.ณิชนันทน์ บอกว่า.คือ 'ร้อยไหมละลาย"  ซึ่งไหมที่ใช้เป็นการพัฒนามาจาก "ไหมละลาย" ที่ใช้เย็บหลอดเลือดหัวใจ เป็นเส้นใยโพลิเมอร์สังเคราะห์ ซึ่งก็จะมีทั้งประเภทที่เรียกว่า ไหมละลายพีดีโอ (polydioxanone : PDO) โดยประเภทนี้ร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดออกไปจากร่างกายจนหมดได้ภายในเวลาประมาณ 6 เดือน และอีกประเภทคือ ไหมละลายพีจีเอ (Polyglycolic Acid : PGA)  ซึ่งระยะเวลาที่ร่างกายจะค่อย ๆ กำจัดออกจากร่างกายจนหมดจะนานกว่า คือประมาณ 8-10 เดือน และการใช้อาจจะมีอาการบวมแดง จึงได้รับความนิยมจากแวดวงคนชอบทำสวยด้วยการร้อยไหมน้อยกว่าประเภทแรก
          แพทย์คนเดิมยังแจกแจงอีกว่า. การร้อยด้วยไหมละลาย ก็จะมีการร้อย 2 ลักษณะ คือ 1. ร้อยกระตุ้นคอลลาเจน เหมือนไหมทองคำ ร้อยเข้าไปอยู่ในชั้นใต้ผิวหนัง เพื่อกระตุ้นคอลลาเจน และอิลาสติน, 2. ร้อยชั้นไขมันกับชั้นใต้ผิวหนังให้ยุบเข้าหากัน เป็นการแก้ปัญหาคาง 2 ชั้น หรือทำให้หน้าที่หย่อนกระชับขึ้น แต่ลักษณะหลังนี้การกระตุ้นเซลล์ผิวอิลาสตินจะน้อยกว่าลักษณะแรก ซึ่งก็แล้วแต่แพทย์ที่ดำเนินการว่าจะใช้เทคนิคลักษณะไหน ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์แต่ละคน และยังต้องดูสภาพคนที่จะทำเป็นหลักด้วย
          'ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เหมือนกันหมด!!"
          กับเรื่องค่าใช้จ่ายในการร้อยไหมละลาย แพทย์คนเดิมระบุว่า. อยู่ที่เส้นละ 500-2,500 บาท ส่วนใหญ่จะใช้ 10 เส้นขึ้นไป กรณีจะแก้แก้มเล็กข้างเดียวก็อาจจะใช้ 5 เส้น ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ และสภาพ ซึ่งน้อยไปก็ไม่มีผล แต่ถ้ามากไปก็ไม่ดี อย่างไรก็ตาม การร้อยไหมละลายนี้ เข้าเครื่องเอ็มอาร์ไอได้ไม่มีปัญหา และหลังร่างกายกำจัดออกจากร่างกายจนหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรีบทำใหม่ ซึ่งคอลลาเจนนั้นส่วนใหญ่จะถูกทำลายด้วยแสงแดด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ถ้ารักษาสุขภาพดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ คอลลาเจนก็จะอยู่ได้นาน
          'อยากแนะนำคนที่อยากทำคือ ให้ดูก่อนว่าคนที่จะทำให้เป็นหมอจริงหรือเปล่า จบมาหรือเปล่า ซึ่งถ้าจริงก็ต้องขอดูหลักฐานได้ และขอดูผลิตภัณฑ์หรือวัสดุที่จะใช้ ซึ่งก็ดูยากอยู่ แต่ก็ควรขอดู เช่นถ้าเป็นของนำเข้าถูกกฎหมาย ที่กล่องจะมีใบเลขลอตแปะอยู่".พญ.ณิชนันทน์ แนะนำไว้ประมาณนี้
          ณ ที่นี่ก็นำข้อมูลมาสะท้อนไว้ให้ลองพิจารณา
          และขอย้ำ 'ทำสวยอย่าลืมกลัวเรื่องอันตราย!!".


pageview  1205878    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved