HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/03/2556 ]
หนึ่งยุทธวิธีแก้เด็กตีกัน

มนตรี ประทุม
          ปัญหาวัยรุ่นตีกัน นับวันจะมีความรุนแรง และมีความถี่ให้เห็นกันมากขึ้น กลายเป็นไฟไหม้ฟางที่ลุกลามขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว บางคนอาจจะมองว่า เดี๋ยวเด็กเหล่านี้โตขึ้น ความก้าวร้าวเหล่านี้จะหายไปเอง
          แต่คนอีกหลายกลุ่มกลับไม่มองเช่นนั้น ต่างก็หาวิธีการแก้ไขปัญหาเด็กตีกัน อย่างเครือข่ายพุทธิกา ได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการ "สุขแท้ด้วยปัญญา" โดยรับสมัครเยาวชนที่เคยหลงผิดตีกันเข้าร่วมกิจกรรม "เยาวชนค้นธรรม" โดยใช้เทศบาลตำบลกุดข้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี ทดลองวิธีการมา 2-3 ปีแล้ว  ซึ่ง พี่น้อย หรือสมชัย แท่นคำ  นักพัฒนาชุมชน สำนักงานเทศบาลตำบุลกุดข้าวปุ้น มองว่า ปัญหาทะเลาะวิวาทของโจ๋เลือดร้อนมีให้เห็นทุกพื้นที่ แม้จะหน้าเวทีดนตรีร็อกหรืองานวัดหมอลำไม่ทันงานจะจบ คนก็จะรู้กัน อีกสัก 2-3 เพลงก่อนเลิก ใครที่มีลูกเล็กก็จะกลับไปก่อน เพราะรู้แน่ว่าจะมีตีกัน ถึงไม่ตีกันในงาน ออกไปข้างนอกก็ขับมอเตอร์ไซค์ตามกันไปอีก แก้แค้นกันไม่จบสิ้น
          นักพัฒนาชุมชนอย่างพี่น้อย ยังบอกอีกว่า ที่กุดข้าวปุ้นก็มีปัญหา ครั้นจะเป็นฝ่ายดูอย่างเดียวหรือมอบให้ธรรมชาติทำหน้าที่ อดทนรอเวลาผ่านไปคงไม่ดีนัก คนในชุมชนจึงเห็นเป็นเอกฉันท์ขอร่วมจัดวาระเรื่องเยาวชนเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ต้องทำ และพลันที่ สสส.กับเครือข่ายพุทธิกา นำโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา นำกิจกรรมเยาวชนค้นธรรม มานำร่องแก้ปัญหาจึงอยากที่จะนำกิจกรรมนี้มาแก้ปัญหาให้เด็กที่ใจร้อนได้ฝึกรู้จักความใจเย็น โดยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกในสิ่งที่ถูก ทั้งการอบรมทักษะวิชาชีพต่าง ๆ การสันทนาการ การบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือชุมชนเท่าที่จะทำได้
          "ตลอด 2-3 ปีต้องเปลี่ยนรูปแบบตลอด ตามแต่สถานการณ์ เพราะวัยรุ่นเขาไม่นิ่ง บางทีในกลุ่มอาจจะมีคนเข้าไปทำงานกรุงเทพฯเยอะหน่อย พฤติกรรมที่มั่วสุม สุ่มเสี่ยงที่จะไปทะเลาะก็น้อยลงตามไป หรือพอรุ่นนี้โตไป รุ่นใหม่ก็ขึ้นมาแทน เหมือนเป็นเรื่องธรรมชาติ จริงอยู่ที่พอแต่งงานมีลูกมีเมีย ได้บวชก็จะเลิกไปเอง แต่ทำไมเราต้องรอให้ถึงวันนั้น เราต้องเชื้อเชิญหัวโจก หรือผู้ที่มีอิทธิพลในกลุ่มเพื่อนมาเข้าร่วมให้ได้ อาจจะให้ผู้ใหญ่บ้านหรือคนที่ครอบครัวเขาเคารพไปเรียกมา และกิจกรรมที่จะให้ทำต้องไม่ใช่การอบรมเฉย ๆ เพราะเยาวชนเหล่านี้ต้องการที่จะปฏิบัติจริง ลงมือทำจริง ๆ เลย" พี่น้อยเล่าถึงประสบการณ์
          พี่น้อย ยังเล่าอีกว่า คนชวนต้องแสดงความจริงใจให้กลุ่มหัวโจกเห็นว่ากิจกรรมสร้างให้เขา ทำให้เขาได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่ได้ให้ไปนั่งฟังคำสอนคำอบรมเฉย ๆ โดยเยาวชนกลุ่มที่ว่ายังต้องเป็นไปในลักษณะการออกแรงมากกว่าการนั่งนิ่ง ๆ อย่างเช่น ซ่อมแซม ทาสีอาคาร ทำนุบำรุงสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน หรือการเป็นลูกมือให้กับข้าราชการในวันสำคัญที่ต้องประกอบพิธีและใช้แรงงาน จนไปถึงเป็นอาสาสมัครช่วยงานตำรวจในการอำนวยความสะดวกด้านจราจรในเทศกาลสำคัญ
          "มันเป็นกิจกรรมที่พวกเขาพอใจ อย่างแหล่งรวมเยาวชนที่เป็นบ้านดินเล็ก ๆ ใกล้เทศบาล ส่วนใหญ่เป็นฝีมือของเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมทั้งนั้น หลักคือต้องมีพื้นที่ให้แสดงออก พอเขาได้เริ่มและทำมันได้ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากกว่าจะไปวิวาทกับใครง่าย ๆ อีก ผู้ใหญ่ในชุมชนก็ชมให้ครอบครัวเขาฟัง เกิดการยอมรับ มองย้อนกลับไปมันเริ่มห่างจากจุดที่เขาเคยเป็นเรื่อย ๆ และเมื่อพรรคพวกด้วยกันเองเห็นเพื่อนมีวิถีทางที่ดีขึ้น ก็เริ่มคิดจะเอาแบบอย่างบ้าง" สมชัยบอกเคล็ดลับการทำงานกับเยาวชน
          แจ็ค หรือ อรุณ ทองพร เด็กหนุ่มวัย 22 ปี แห่งบ้านโคกเลาะ ต.กุดข้าวปุ้น ซึ่งยอมรับว่าครั้งหนึ่งเคยรวมหัวกับพรรคพวกวิวาทกับวัยรุ่นต่างหมู่บ้านมองว่า การตีกันมีหลายสาเหตุ ทั้งความไม่พอใจส่วนตัว กระทั่งความไม่ตั้งใจแต่ทำไปเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์ จุดร่วมที่น่าจะคล้ายกันอาจเป็นเพราะไม่รู้จะทำอะไร ตกดึกจึงมักลงเอยด้วยการกินเหล้า คึกคะนอง นำไปสู่การทดสอบกำลังในทางที่ไม่เป็นประโยชน์
          "ผมเคยไปเป็นลูกจ้างโรงงานในกรุงเทพฯ มาแล้ว มันก็ไม่ใช่คำตอบอีก กลับมาอยู่บ้านก็ไม่รู้จะทำอะไร พอมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมเหมือนว่าเราได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เหมือนเจอสังคมใหม่ที่กว้างขึ้น เพราะมีทั้งคนที่ยังเรียนอยู่ ไม่ได้เรียน หรือเรียน กศน.และถ้าเราอยู่กับคนดี ๆ เราก็อยากจะดีบ้าง ไม่อยากให้ใครมองว่าเกเร มันต้องเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่งั้นคงอายเขาตาย ในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้ผมกลับมาเรียน กศน.อีกครั้ง เพื่อพัฒนาตนเองมากกว่าความเกเรที่เคยมี"
          ขณะที่ ฉลองชัย ปูจะธรรมหรือหลอง วัย 27 ปี หนุ่มบ้านวังนอง บอกว่า อยากใช้ประสบการณ์เชิญน้อง ๆ ในชุมชน มาแสดงพลังในเรื่องที่ถูก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลาแค่ 1-2 ปี คงจะเปลี่ยนเด็กเกเรไม่ได้ มันต้องใช้เวลา พวกเราเองต้องหาจุดดึงดูดใจ คิดทำอะไรที่น่าสนใจ รูปแบบต้องไม่ตายตัว เชื่อว่าทุกคนอยากทำดีอยู่แล้ว แต่อาจไม่มีพื้นที่ให้แสดงออก ชุมชนจึงต้องร่วมสร้างและให้โอกาสพวกเขา
          กิจกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาพัฒนาแก้ปัญหาเด็กเกเร เด็กตีกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แนวทางของพระพุทธองค์ ถึงจะช้าแต่ได้ผลชะงัด  การพัฒนาจิตใจคนต้องใช้เวลา ใจร้อนไม่ได้ แต่ทุกวันนี้สังคมไทยกลับไม่สนใจเรื่องการพัฒนาจิตใจ เน้นแต่พัฒนาวัตถุ หาเงินพอใครทำอะไรไม่ดีก็เหมารวมว่าต้องเป็นคนไม่ดี เมื่อมีเรื่องตีกันสังคมก็จะใช้กฎหมายและมาตรการทางทหารเข้ามาควบคุม หรือก็จับเยาวชนโยนเข้าคุก ทั้งที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วว่า คนที่ติดคุกบางครั้งก็ไม่ได้กลับมาเป็นคนดีของสังคม แต่กลับสร้างปัญหาให้สังคมหนักขึ้นไปด้วยซ้ำ.
 


pageview  1205411    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved