HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/02/2556 ]
มะเร็งกับพันธุกรรม ตอนที่ 3

  ดร.คิว ลานทอง
          ในปัจจุบันมีการศึกษามากมายเกี่ยวกับวิธีการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการตรวจ การรักษา และการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งทางพันธุกรรม ซึ่งได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติได้ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งรายใหม่กว่า 100,000 รายต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้จะเสียชีวิตประมาณ 60,000 คน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ก็ต่อเมื่อเป็นโรคมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามมากแล้วหรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีอาการแสดงออกผิดปกติทางกายอย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้มีวิธีที่สามารถตรวจหาเซลล์มะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือก่อนมะเร็งระยะที่ 1 เพราะเซลล์มะเร็งจะใช้เวลาหลายปีในการเพิ่มจำนวนเซลล์ก่อนที่จะลุกลามจนร้ายแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสามารถทำให้ตรวจพบที่ระดับดีเอ็นเอที่กลายพันธุ์ โรคมะเร็งแต่ละชนิดมียีนที่มีความผิดปกติแตกต่างกันถึงแม้ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการตรวจหายีนที่มีความผิดปกติในเซลล์มะเร็งต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วจะใช้เทคโนโลยีในการตรวจอยู่ 2 วิธี คือ
          1.  Immunohistochemical Study เป็นการตรวจหาโปรตีนที่ยีนนั้น ๆ ผลิตออกมา ถ้ายีนใดมีความผิดปกติยีนนั้นก็จะสร้างโปรตีนออกมามากกว่าปกติ เรียกว่า Over expression เป็นการตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ ซึ่งมักจะทำหลังจากการผ่าตัด การตรวจจะทำให้เราทราบว่า เนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งนั้น เกิดการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งไหน ที่ยีนไหน และยังสามารถตรวจข้อมูลอื่น ๆ เพื่อการตัดสินใจดำเนินการรักษาต่อให้ตรงจุด เช่น บอกได้ว่าควรใช้เคมีบำบัดหรือไม่ ควรใช้ target therapy เพื่อมุ่งเป้าไปที่จุดที่มีปัญหาโดยตรงตัวไหน เพื่อให้ได้รับผลการรักษาสูงสุด
          2. Molecularbiological Study เป็นการศึกษาในระดับของดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็ง ทำให้ทราบถึงลักษณะของความผิดปกติของยีนนั้น ๆ เช่น ตำแหน่งของการกลายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพและการตอบสนองต่อการรักษา ด้วยการสกัด plasma DNA ซึ่งอยู่ในเซลล์เนื้อเยื่อที่หลุดออกมาในกระแสเลือด เป็นการตรวจมะเร็งในระดับก่อนที่จะก่อเป็นก้อนเนื้อ หากพบว่าเซลล์เนื้อเยื่อในเลือดมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง จะทำให้สามารถป้องกันรักษาแต่เนิ่น ๆ ทำให้ผลการรักษาดีมากกว่าเมื่อพบในภายหลังที่มะเร็งอยู่ในระยะกระจายไปมากแล้ว
          ซึ่งความผิดปกติของยีนที่แตกต่างกันนี้จะทำให้ผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองต่อการรักษาที่แตกต่างกันไป ดังนั้นหากเราสามารถตรวจหาความผิดปกติของยีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง จะทำให้มีประโยชน์ช่วยในการวางแผนการรักษาด้วยยาของแพทย์ได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บุคคลที่ควรจะเข้ารับการตรวจสุขภาพระดับยีนนี้ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง เป็นต้น ผู้ที่มีพฤติกรรมการบริโภคการใช้ชีวิตหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อาจมีสารพิษปนเปื้อน ผู้ที่ร่างกายได้รับรังสีตลอดเวลา อาทิ รังสีจากแสงแดด รังสีเอกซเรย์ ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ อาทิ หมู ไก่ เนื้อ เป็นประจำ เนื่องจากอาหารประเภทเนื้อร่างกายของคนเราจะใช้เวลาการย่อยนาน การขับถ่ายออกนอกร่างกายใช้เวลาถึง 3-5 วัน จึงจะขับถ่ายออกไปในรูปของอุจจาระ จึงทำให้มีการหมักเป็นของเสียในลำไส้นานเกินไป ร่างกายจึงขับของเสียออกได้ช้า ในขณะที่อาหารประเภทผักและผลไม้จะอยู่ในร่างกายเพียงแค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น ร่างกายก็สามารถขับออกได้แล้ว นอกจากนี้ผู้ที่สูงอายุ และผู้ที่รักและห่วงใยสุขภาพ ก็ควรเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน
          ท่านที่มีคำถามหรือต้องการขอคำปรึกษาให้ส่งจดหมายมาที่ นสพ.เดลินิวส์ เลขที่ 1/4 ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กท. 10210 วงเล็บมุมซองด้วยว่าส่งต่อ ดร.คิว หรืออีเมล DrQcontact@gmail.com
 


pageview  1205882    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved