HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 29/01/2556 ]
แว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้คิดค้น "แว่นตาสั่งงานเพื่อผู้ป่วยอัมพาต"  หรือคนพิการส่วนแขนขา แต่ยังหันคอได้ ให้สามารถช่วยเหลือตนเองในการดำรงชีวิตประจำวันได้
          โดยเป็นผลงานของ นายนพมงคลเฉิดฉาย นักศึกษาปริญญาตรี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มี รศ.ดร.กิติพล ชิตสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งที่มางานวิจัยประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ เกิดจากปัญหาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ และผู้พิการในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปัญหาแขนขาอ่อนแรง ไม่สามารถควบคุมการทำงานของแขนขาได้ จะพบมากในผู้สูงอายุและผู้พิการด้านแขนขา
          หรือในกรณีการเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ป่วยไม่สามารถสั่งงานควบคุมอวัยวะตั้งแต่ไหล่ลงมาได้ แต่ยังสามารถหายใจ กรอกตา และขยับหมุนคอได้บ้าง จึงทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนั่งหรือนอนอยู่บนเตียงผู้ป่วยเท่านั้นและต้องมีผู้คอยดูแลช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา จึงเป็นที่มาของนวัตกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถพึ่งพาตนเองได้ระดับหนึ่ง
          นายนพมงคล กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้ในต่างประเทศเคยมีผู้คิดประดิษฐ์อุปกรณ์สั่งการด้วยคลื่นสมองแต่มีความซับซ้อนและราคาสูงลิ่ว  จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำเอาเทคโนโลยีจากมือถือสมาร์ทโฟนที่เป็นของใช้ประจำวันมาใช้ผสมผสานกับเทคโนโลยีอื่น ๆให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
          หลักการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ผู้ป่วยจะสั่งงานโดยใช้แว่นตาที่ออกแบบให้ติดเลเซอร์และควบคุมการเปิด-ปิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลำแสงเลเซอร์จะไปตกบนฉากรับแสงในตำแหน่งที่กำหนดไว้ หน่วยประมวลผลตำแหน่งของเลเซอร์จะส่งรหัสสั่งการตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ โดยระบบประมวลผลใช้โทรศัพท์มือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ มีกล้องวิดีโอทำการรับข้อมูลจากฉากนำไปสั่งการทำงานต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
          ทั้งนี้เวลาใช้ผู้ป่วยสวมแว่นตา นั่งอยู่หน้าฉากหรือผนังที่เขียนคำสั่งไว้ เพียงหายใจแรง ๆ ไปยังไมโครโฟนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เลเซอร์ไดโอดบนกรอบแว่นทำงาน ติดสว่างในช่วงสั้น ๆ  ผู้ใช้งานเพียงควบคุมหันให้ลำแสงชี้ไปยังฉากที่มีคำสั่งต่างๆบนฉาก หรือผนัง จนแสงเลเซอร์ดับ  เช่น ปุ่ม 1  ปิดแอร์, ปุ่ม 2 เปิดไฟฟ้าในบ้าน, ปุ่ม 3 เปิด-ปิด ทีวี, ปุ่ม 4 ส่งข้อความขอความช่วยเหลือทางเอสเอ็มเอส เป็นต้น
          "การพัฒนาเริ่มจากเขียนซอฟต์แวร์คำสั่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ใช้ในมือถือสมาร์ทโฟน อุปกรณ์แว่นตาสั่งงานนี้ ดีไซน์เป็นกรอบแว่นติดเข้ากับก้านไมโครโฟนสำหรับรับลมหายใจและเลเซอร์ พอยเตอร์ ส่วนการสร้างรหัสควบคุม โทรศัพท์จับภาพของจุดเลเซอร์และส่งภาพไปประมวลผล ซึ่งทำงานตามโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาตามหลักการของดิจิทัล อิมเมจ โพรเซสซิ่ง เพื่อคำนวณตำแหน่งของจุดเลเซอร์เทียบกับจุดอ้างอิง แปลงเป็นรหัสส่งออก ให้เป็นคำสั่งต่อไป  โดยโปรแกรมที่เขียนใช้ภาษาจาวา และไลบรารี่ ของโอเพ่น ซีวีบนแอนดรอยด์"
          ระบบการประมวลผลทั้งระบบอยู่บนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด จึงทำให้ระบบมีขนาดเล็กและสะดวกต่อการใช้งาน โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายซึ่งนำมาเรียกใช้งานได้ในตัวเดียวไม่ต้องมีอุปกรณ์อื่นต่อพ่วง เช่น การส่งเสียง, การส่งข้อความ, การสั่น เป็นต้น และสามารถติดตั้งบริเวณต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ป่วย และซึ่งยังสามารถจัดการแก้ไขโปรแกรมได้สะดวกและไม่ซับซ้อน
          นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมอุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม นำมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัมพาตได้ สำหรับผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 08-7999-2789.
 


pageview  1206162    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved