HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 25/01/2556 ]
รักลูกปลอดภัย เมื่อใช้รถ

 รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
          หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
          ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
          มหาวิทยาลัยมหิดล
          อุบัติเหตุจราจรเป็นเหตุนำการตายลำดับสองของเด็ก เครือข่ายรักลูกปลอดภัยเมื่อใช้รถ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ พญ.พิมพ์ภา เตชะกมลสุข สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 0-15 ปี จากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภทปี 2554 และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2555 พบว่า ในปี พ.ศ. 2554 การตายจากอุบัติเหตุจราจรในเด็กน้อยกว่า 15 ปี รวมทั้งประเทศเท่ากับ 614 ราย การบาดเจ็บรุนแรง 18,402 ราย คิดเป็นสัดส่วนการบาดเจ็บรุนแรงต่อการตายเท่ากับ 30:1
          เด็กที่ตายจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด พบว่าร้อยละ 16.4 (101 ราย) มีสาเหตุมาจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท (ไม่รวมรถการเกษตร) ซึ่งรวมถึงรถปิกอัพ รถเก๋ง รถสองแถว รถตู้ รถโดยสาร และรถบรรทุก หรือ 1 ใน 6 รายที่ตายจากอุบัติเหตุจราจรเกิดจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท ในเด็กที่เป็นผู้โดยสารรถยนต์ทุกประเภทที่ตายหนึ่งราย จะมีผู้บาดเจ็บรุนแรง 14.5 ราย (หรือตายร้อยละ 7.8 ของจำนวนการบาดเจ็บรุนแรงทั้งหมด 1,294 ราย)
          บทเรียนจาก 7 วันอันตรายในเทศกาลสงกรานต์ปี พ.ศ. 2555 พบว่า อัตราส่วนการตายของเด็กจากการโดยสารรถยนต์ สูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยตลอดปีร้อยละ 16.4 ของการตายจากอุบัติเหตุจราจรทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 46 หมายถึงเกือบครึ่งหนึ่งของการตายในเด็กจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดขึ้นมาจากการโดยสารรถยนต์ เด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้ใช้ระบบยึดเหนี่ยวในรถยนต์คือ ไม่ได้ใช้เข็มขัดนิรภัยและที่นั่งนิรภัย เด็กที่นั่งรถปิกอัพส่วนกระบะท้ายกระเด็นออกมาเสียชีวิตนอกรถ เด็กที่นั่งภายในรถมีทั้งที่กระเด็นทะลุกระจกออกมาเสียชีวิตนอกรถและเสียชีวิตภายในรถ ในขณะที่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่รอดชีวิต
          ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรรวมทุกกลุ่มอายุ 320 ราย เป็นเด็กอายุน้อยกว่า15 ปี 28 ราย ในกลุ่มเด็กนี้เสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภทจำนวน13 ราย เสียชีวิตจากการขับขี่และโดยสารมอเตอร์ไซค์รวมกัน 14 ราย หรือร้อยละ 50 ของการเสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุจราจร
          แม้พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ เช่น เมาสุรา ขับรถเร็ว และหลับใน จะพบร่วมด้วยกับการเกิดอุบัติเหตุ แต่เด็กที่เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยหรือใช้ที่นั่งนิรภัย (ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 100) และยังมีการกระเด็นออกนอกรถของผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นการนั่งส่วนบรรทุกของรถปิกอัพ การกระเด็นออกนอกรถหรือกระแทกกระทั้นโครงสร้างภายในรถยนต์ของผู้นั่งด้านในรถทุกประเภท ซึ่งไม่ได้ใช้เข็มขัดนิรภัยเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สำคัญเช่นกัน
          แนวทางป้องกัน 1. การนั่งหลังรถส่วนขนของหรือส่วนกระบะท้ายนั้น มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จากการศึกษาในต่างประเทศพบความเสี่ยงสูงถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้นั่งภายในรถ นอกจากนั้น 1 ใน 3 ของเด็กที่บาดเจ็บจากการนั่งส่วนกระบะท้าย ยังเกิดขึ้นจากการพลัดตกโดยไม่มีการชน
          2. เพื่อลดการตายของเด็กจากการโดยสารรถยนต์ การนั่งรถยนต์ทุกประเภทจึงต้องบังคับให้เด็กใช้ระบบยึดเหนี่ยวเพื่อยึดตัวเด็กไว้ไม่ให้กระเด็นออกนอกรถ หรือกระแทกกระทั้นโครงสร้างภายในตัวรถ
          3. ในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยให้เหมาะสมตามวัย และต้องยึดเหนี่ยวให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์ ในเด็กทารกจะติดตั้งแตกต่างจากเด็กโต โดยจะติดตั้งที่นั่งนิรภัยโดยหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังรถ
          4. ในรถเก๋งที่มีที่นั่งตอนหลังเด็กอายุน้อยกว่า13 ปีควรให้นั่งทางด้านหลัง การนั่งเบาะที่นั่งตอนหลังจะลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึง 5 เท่า ยกเว้นที่นั่งตอนหลังของรถปิกอัพ (ส่วนแค็บ) ซึ่งความกว้างไม่เพียงพอ เมื่อเกิดอุบัติเหตุพบว่าอัตราการบาดเจ็บไม่แตกต่างจากผู้นั่งตอนหน้า
          5. การติดตั้งที่นั่งนิรภัยในรถปิกอัพ ต้องติดตั้งที่บริเวณเบาะ หน้าข้างคนขับ บริเวณที่นั่งข้างคนขับต้องไม่มีถุงลมนิรภัย หากมีถุงลมต้องเป็นชนิดที่สามารถปิดการทำงานได้ เพราะถุงลมที่ระเบิดออกมาขณะที่เด็กนั่งบนที่นั่งนิรภัย เบาะหน้าข้างคนขับนั้นอาจเป็นอันตรายต่อเด็กจนถึงแก่ชีวิตได้
          6. ควรมีการรณรงค์การใช้ที่นั่งนิรภัยสาหรับเด็กอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเดินทางครั้งแรกของเด็กที่ออกจากโรงพยาบาล และการเดินทางของเด็กอนุบาลหรือเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรแสดงความรับผิดชอบในการรณรงค์ดังกล่าว
          7. ควรมีการสนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัย โดยการลดภาษีนำเข้าเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีราคาถูกลง เพิ่มโอกาสการตัดสินใจใช้ของผู้ใช้
          8. ควรมีการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานทางสาธารณสุข และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องอุบัติเหตุทางถนนควรขยายการรับรู้สาธารณะ
          9. บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ต้องรับผิดชอบต่อการคุ้มครองผู้บริโภคเด็ก โดยสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การใช้ การเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ การมีโปรโมชั่นแก่ผู้ซื้อรถในรูปแบบการสนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัย เช่น แถมที่นั่งนิรภัยสาหรับผู้ซื้อรถ
          10. ควรมีการผลักดันพระราชบัญญัติการจราจรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา123 ให้ครอบคลุมความปลอดภัยในเด็ก
          เหล่านี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในเด็ก และเนื่องจากการรณรงค์การใช้เข็มขัดนิรภัย การติดตั้งเข็มขัดนิรภัยมาพร้อมรถยนต์นั้น ได้มีการใช้งานอยู่จริงในสังคมไทย หากแต่มีความพยายามเพียงคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ใหญ่เท่านั้น มิได้ส่งผลต่อความปลอดภัยของเด็กในการโดยสารรถยนต์ จึงอยากให้เกิดความเข้าใจและเกิดแนวทางในการป้องกันร่วมกันต่อไป.
        
 


pageview  1205495    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved