HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 24/01/2556 ]
มะเร็งกับพันธุกรรม ตอนที่ 2

 ดร.คิว ลานทอง
          โดยทั่วไปเซลล์ปกติในร่างกายของคนเราจะมียีนที่ควบคุมการสร้างโปรตีนที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) โครโมโซม (Chromosome) พันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เมื่อร่างกายได้รับปัจจัยภายนอก เช่น สารเคมี รังสี หรืออื่น ๆ ซึ่งมีผลทำให้เกิดการเรียงตัวของเบส ในสายดีเอ็นเอเปลี่ยนแปลง หรือจับคู่เบสผิด ยีนมีการย้ายตำแหน่งหรือชุดของยีนเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า การกลายพันธุ์ (Mutation) ซึ่งการกลายพันธุ์นี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดยีนมะเร็ง ซึ่งยีนในร่างกายของคนเราที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ (Tumor suppressor gene) มี 2 ชนิด คือ BRCA 1 และ BRCA 2 เมื่อเกิดการกลายพันธุ์ของยีนเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดกลุ่มโรคมะเร็งเต้านมและรังไข่ที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้ ผู้หญิงที่ได้รับสืบทอดยีนที่ผิดปกตินี้มาจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและรังไข่สูงขึ้นมากโดยมักจะเป็นเมื่ออายุน้อยช่วงก่อนหมดประจำเดือน และมักจะมีญาติใกล้ชิดที่เป็นโรคเดียวกัน การกลายพันธุ์ของยีน BRCA 1 ก็อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งปาก มดลูก มดลูก ตับอ่อน และลำไส้ใหญ่ได้ ในขณะที่การกลายพันธุ์ของยีน BRCA 2 ก็อาจจะเพิ่มโอกาสของการเกิดมะเร็งตับอ่อน กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี และมะเร็งของเซลล์ผลิตเม็ดสี สำหรับในเพศชายการผ่าเหล่าของยีน BRCA 1 อาจจะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อน อัณฑะ และต่อมลูกหมาก ซึ่ง กลุ่มโรคเหล่านี้ก็มีความเกี่ยวข้องกับยีน BRCA 2 ด้วยเช่นกัน
          ในหนึ่งครอบครัวจะมีอาการของการเกิดโรคที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกัน จึงได้มีการนำ ความรู้ทางพันธุกรรมศาสตร์มาใช้เป็นแนวทางการค้นหาความผิดปกติทางพันธุกรรม การตรวจสอบประวัติครอบครัวที่เคยมีญาติเป็นโรคมะเร็ง ก็เพื่อจะเป็นการเฝ้าระวังต่อการเสี่ยงของการถ่ายทอดสารพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์ ซึ่งการตรวจหาโรคมะเร็งทางพันธุกรรมสามารถทำได้ด้วยการตรวจเลือดส่งไปยังห้องปฏิบัติการพิเศษ หากตรวจพบความผิดปกติเสียแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถหาทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ นอกจากนี้ยังเป็นผลดีในการป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ร้ายแรงจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
          ดังนั้นหากครอบครัวใดเคยมีญาติป่วยเป็นมะเร็งจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการตรวจหาโรคมะเร็งทางพันธุกรรม บางคนมักคิดว่าร่างกายแข็งแรงไม่เห็นมีอาการผิดปกติแสดงออก แต่ขอบอกให้รู้ว่ากว่าจะแสดงอาการป่วยที่ชัดเจนเซลล์มะเร็งใช้เวลาหลายปีในการเพิ่มจำนวนเซลล์ก่อนที่จะลุกลามจนร้ายแรง หากคนเราสามารถรู้ล่วงหน้าก็สามารถสร้างเกราะป้องกันโรคให้ตนเองได้
          การออกกำลังกายเป็นประจำ การบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ การปฏิบัติเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการช่วยแก้ไขและป้องกันโรคมะเร็งได้ระดับหนึ่ง
          ท่านใดที่มีคำถามหรือต้องการขอคำปรึกษาให้ส่งจดหมายมาที่ นสพ.เดลินิวส์ เลขที่ 1/4 ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กท. 10210 วงเล็บมุมซอง ด้วยว่าส่งต่อ ดร.คิว หรืออีเมล DrQcontact@gmail.com
 


pageview  1205492    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved