HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 18/01/2556 ]
โรคคอตีบ กับการระบาดครั้งใหม่

ผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
          ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
          มหาวิทยาลัยมหิดล
          โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ที่ทำให้เกิดการอักเสบและมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ พิษของเชื้ออาจทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทส่วนปลาย
          ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำ ๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอ เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกัน เกิดเป็นแผ่นเยื่อติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ
          ตำแหน่งที่อาจพบการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ เช่น
          1. ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
          2. ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก และอาจทำให้เสียชีวิตได้
          3. ตำแหน่งอื่น ๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา หรือในช่องหู
          ภาวะการระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นผลจากการที่ไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นในเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะป้องกันโรคได้ เมื่อพบผู้ป่วยโรคคอตีบขึ้น จึงมีการแพร่กระจายไปยังคนเหล่านี้ได้ รวมทั้งแพร่กระจายเชื้อไปยังเด็กที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนหรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบด้วย
          โรคคอตีบ สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่มักไม่พบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี เนื่องจากเด็กในช่วงอายุนี้ได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่แล้วและมีโอกาสสัมผัสโรคน้อย ในประเทศที่ยังไม่พัฒนามักจะพบโรคคอตีบในเด็กเล็กได้มาก อาจเป็นเพราะเด็กอาจยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคนั่นเอง แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบอุบัติการณ์ของโรคคอตีบได้น้อย แต่ถ้าหากพบโรค มักจะพบในคนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น ส่วนอาการที่พบในเด็กและในผู้ใหญ่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน
          แนวทางการรักษาโรคคอตีบในปัจจุบันทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ แพทย์จะให้การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล และอยู่ในห้องแยกโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง แนวทางการรักษา ได้แก่ การให้ยาต้านสารพิษของเชื้อและการให้ยาปฏิชีวนะ นอกจากนั้นต้องเฝ้าระวังเรื่องระบบหายใจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีการอุดทางเดินหายใจได้ และเฝ้าระวังระบบไหลเวียน เนื่องจากโรคคอตีบอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดหัวใจล้มเหลวหรือความดันโลหิตต่ำได้
          ส่วนการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน ในเด็กจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบเมื่ออายุ 2 เดือน
          โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวม โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน (DTwP หรือ DTaP) โดยเข็มแรกฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือน เข็มที่ 2 ฉีดเมื่ออายุ 4 เดือน เข็มที่ 3 ฉีดเมื่ออายุ 6 เดือน เข็มที่ 4 ฉีดเมื่ออายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 ฉีดเมื่ออายุ 4-6 ปี ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Td) หรือคอตีบบาดทะยัก-ไอกรน (Tdap) เมื่ออายุ 11-12 ปีและต่อไปฉีดกระตุ้นวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Td) ทุก 10 ปี
          อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน ต้องบอกว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน อาจมีไข้ และร้องกวนได้ บางรายอาจมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาการมักจะเริ่มราว 3-4 ชั่วโมงหลังการฉีด และมีอาการนานไม่เกิน 2 วัน ซึ่งวัคซีนคอตีบบาดทะยัก-ไอกรน (Tdap) ที่ฉีดในเด็กโตและผู้ใหญ่ และวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก (Td) อาจมีปฏิกิริยาเฉพาะที่ ซึ่งมักไม่รุนแรง
          ดังนั้น การป้องกันโรคคอตีบที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีน นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรค การรู้จักใช้หน้ากากอนามัย และการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งสามารถช่วยลดการระบาดลงได้
          หากสงสัยว่าจะมีอาการที่อาจส่งผลต่อการระบาดของโรคคอตีบแล้วนั้น ให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที เพื่อทำการรักษา และเพื่อป้องกันการระบาดไปสู่ผู้อื่น สิ่งสำคัญคือ ต้องหมั่นตรวจสุขภาพกายของตนเองอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะปกติหรือเจ็บป่วย.
 


pageview  1205491    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved