HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 16/02/2555 ]
หยุดไวรัสอุจจาระร่วง 'คุ้มกันชีวิตเด็ก' อีกเรื่องไม่เล็กในไทย!

         อากาศในเมืองไทยยามนี้แม้จะยังดูแปรปรวนอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็เริ่มคลายความหนาวเย็น และเริ่มจะกลับมาร้อนอบอ้าวอีกแล้ว ซึ่งในช่วงที่อากาศร้อนนั้นก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ 'โรคอุจจาระร่วง" เกิดขึ้นได้ง่าย โดยโรคอุจจาระร่วงนั้นเกิดจากเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และรวมถึงหนอนพยาธิ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะสามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งอาการป่วยโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช็อก หมดสติ เนื่องจากเสียน้ำมาก ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิต

          แม้แต่ผู้ใหญ่วัยแข็งแรงก็อาจเสียชีวิตด้วยโรคนี้ได้ หากเกิดกับเด็ก โดยเฉพาะ 'เด็กเล็ก" ยิ่งน่าห่วง!! ทั้งนี้ จากงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 21 ของสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) ที่จัดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ หนึ่งในหัวข้อที่มีการพูดคุยกันในงานนี้คือ "ข้อมูลล่าสุดในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เพื่อให้เด็กไทยห่างไกลจากการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้" ซึ่งในงานนี้ก็มีประเด็นและมีเนื้อหาที่น่าพิจารณา กล่าวคือ...
          จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อ "ไวรัสโรต้า" เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดใน "โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก" ทำให้เด็กเล็กทั่วโลก 'เสียชีวิต" กว่า 500,000 รายต่อปี และสำหรับในไทยก็พบว่าไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุถึง 43% ของเด็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง
          และหากจะโฟกัสกันที่ "ไวรัสโรต้า" นี่คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในทารกและเด็กเล็ก ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง เป็นไข้ และอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กวัย 6 เดือน ถึง 5 ขวบ แต่ทารกในช่วงเดือนแรก ๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน และจะยิ่งมีอาการหนักกว่าเด็กที่โตกว่า อีกทั้งยังอาจจะ 'ก่อให้เกิดผลกระทบด้านพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก" ในช่วงนั้น ๆ ได้ด้วย ซึ่งโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าพบได้ตลอดปี แม้ช่วงอากาศเย็นก็อาจพบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยสายพันธุ์ที่ก่อโรคส่วนใหญ่เป็น "สายพันธุ์ จี 1" ไวรัสโรต้าสามารถติดต่อได้ง่ายทางการสัมผัส เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ที่ของเล่น สิ่งของต่าง ๆ เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็สามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และก็สามารถทำให้ติดต่อไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวได้ด้วย ซึ่งในสถานที่ที่มีเด็กจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล โรงพยาบาล เชื้อจะยิ่งมีโอกาสติดต่อได้ง่าย ไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ค่อนข้างทน มีชีวิตอยู่ได้หลายวัน ไม่สามารถทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป
          "ท้องร่วงรุนแรง และถ่ายเป็นน้ำ อาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน, มีไข้ โดยไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส, อาเจียน อาจอาเจียนมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน ในเด็กบางรายอาจอาเจียนหรือท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง" .นี่เป็นสัญญาณว่าอาจเป็น 'โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า"
          ควรรีบนำบุตรหลานไปพบแพทย์โดยด่วน!!ทั้งนี้ แม้ไวรัสโรต้าจะร้ายแรง แต่ปัจจุบันก็มี "วัคซีน" ที่ป้องกันอันตรายจากไวรัสร้ายชนิดนี้ได้ โดยศาสตราจารย์เกียรติยศ นักจุลชีววิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ดร.รูธ เอฟ บิชอป ซึ่งได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข คนล่าสุด เป็นผู้ค้นพบไวรัสโรต้า และนำไปสู่การค้นพบวัคซีนป้องกัน โดยนักวิจัยรายนี้ระบุว่า. ไวรัสชนิดนี้ทำให้เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 5 แสนรายต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัว ดังนั้นในแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญกับข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการให้วัคซีน ว่าคุ้มกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามากน้อยเพียงใด
          ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นายกสมาคมไวรัสวิทยา บอกว่า. แม้ว่าระบบสุขาภิบาลจะดีเพียงใด แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ดังนั้น การให้เด็กเล็กได้รับ 'วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า" จึงน่าจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกคำแนะนำต่อประเทศที่มีการเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ให้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้เป็น 'วัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค" เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้
          กับประเด็นนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุไว้ว่า. ทางกรมฯก็ได้รับการเห็นชอบเรื่องการพิจารณานำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และก็ได้มีการจัดทำโครงการนำร่องให้บริการวัคซีนไวรัสนี้แล้วที่ จ.สุโขทัย ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือพิจารณาผลการดำเนินการ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในการบรรจุวัคซีนนี้เข้าในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และนำข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาเรื่องการให้วัคซีนนี้แก่เด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งก็คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ภายในอีก 2-3 ปีจากนี้
          ระหว่างนี้ผู้ปกครองก็ยังต้องดูแลบุตรหลานให้ดี ๆเด็ก 'ท้องเสีย-ท้องร่วง" อย่าประมาท 'ไวรัสโรต้า"

pageview  1205009    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved