HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 09/01/2556 ]
กิจกรรมเมล็ดพันธุ์อาสา

 ปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกระแสวัฒนธรรมต่างประเทศประกอบกับมีสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เข้าถึงตัวบุคคลและคนดังได้โดยง่ายหากไม่ให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชนได้อย่างถูกต้องทั่วถึงและทันต่อภาวการณ์ อาจทำให้เกิดค่านิยมในทางที่ผิด ศูนย์เรียนรู้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเยาวชน จึงจัดทำกิจกรรมเตรียมความพร้อม  ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างภูมิคุ้มกันุทางความคิดให้กับเยาวชนเพื่อให้สามารถเรียนรู้และอยู่กับกระแสต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม โดยการริเริ่มกิจกรรมเมล็ดพันธุ์อาสา (Volunteer Seed)ขึ้น มุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจและสร้างจิตอาสาให้แก่เยาวชนไทยเพื่อเป็นต้นแบบของอาสารุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างเครือข่ายจิตอาสาและยกระดับขีดความสามารถเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของอาสาสมัครยามเกิดภาวะภัยพิบัติของประเทศหรือของโลก
          กิจกรรมเมล็ดพันธุ์อาสา ได้รับการกระตุ้นจากรัฐภูมิ อยู่พร้อม อดีตทหารเรือชาวไทยชาวจ.ตราด ผู้พายเรือคายัคเพียงลำพังเป็นระยะทาง1,500 ไมล์ตลอดชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเมื่อพ.ศ. 2545-2547 เขามีแรงบันดาลใจการพายเรือทางไกลจากการที่นัดพาแม่ไปเที่ยวภาคใต้ของไทยเป็นครั้งแรก แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากแม่มาเสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมพร้อมกับหลานสาวในปี 2542
          ตลอดการเดินทางเขาได้ศึกษาวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นตลอดเส้นทาง และได้เปิดเว็บไซต์ชื่อ www.1500miles.com  เพื่อบันทึกภาพถ่าย การเดินทาง และหลังเหตุการณ์สึนามิ รัฐภูมิเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ต่อมาได้ก่อตั้งมูลนิธิ 1500 ไมล์เป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
          สำหรับรูปแบบของกิจกรรมเมล็ดพันธุ์อาสาคือใช้วิธีบรรยายรวมกับกิจกรรมเวิร์กชอปหมู่ภายในเวลา 3 ชม.ให้กับนร.มัธยมปลาย 10 แห่งในกทม.และปริมณฑล และนศ.มหาวิทยาลัย 5 แห่งในทุกภาคและกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านจิตอาสาให้กับกลุ่มคนดังกล่าว เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้มีความพร้อม ยังไม่มีครอบครัว ปลอดจากหน้าที่การงาน โดยนำประสบการณ์ของตัวเองมาร่วมด้วย ประสบการณ์ที่ว่าเมื่อเราเดินทางจบแล้วสิ่งที่ได้คือชนะใจตนเองและได้ประสบการณ์ ได้สั่งสม เติบโต และเก็บเกี่ยว
          เครื่องมือสำคัญของการทำงานของรัฐภูมิที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มจนเป็นพลังที่ออกไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้คือ การใช้โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก  สามารถทำให้คนคนหนึ่งที่เป็นโนบอดี้เป็นซัมบอดี้ได้ ซึ่งเมื่อใช้ในทางที่ดีจะเป็นประโยชน์แต่ถ้าไปใช้ผิดวิธีจะเป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเองในอนาคต
          รัฐภูมิบอกว่า เท่าที่ทำงานสร้างแรงบันดาลใจมา 7-8 ปี สังเกตว่ากลุ่มเยาวชนมองหาวิธีคิด มองหาพื้นที่จะปลดปล่อยพลังดีๆ ของเขาออกมาเราแค่ไปหาพื้นที่ให้เขา คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของคนที่มีเงื่อนไขน้อยในสังคม  และจะเป็นความหวังของการทำงานจิตอาสาได้ในอนาคต
          "เรามองว่าเขากำลังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่อุดมพร้อมที่จะลงดิน พร้อมที่จะผู้มีจิตอาสาในสังคมให้ชัดเจนมากขึ้น แม้กลุ่มเป้าหมายจะไม่มากนักและเวลาที่ทำน้อยแต่เชื่อว่าคนกลุ่มนี้เต็มไปด้วยคุณภาพ เรามีหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตกผลึก เด็กๆ สมัยนี้เขารู้หมดทุกเรื่องแค่เปิดกูเกิ้ลก็รู้แล้วเพียงแต่ขาดฮีโร่ ขาดพื้นที่เปรียบเทียบ เราแค่นำเอาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไปวางในตำแหน่งที่เหมาะสม"
          การดำเนินโครงการกิจกรรมเมล็ดพันธุ์อาสา เริ่มมาตั้งแต่พฤษภาคมปีที่ผ่านมาและจะสรุปโครงการในเดือนก.พ.นี้ คาดหวังว่าจะมีกลุ่มเยาวชนเข้ามาเป็นแฟนเพจมาร่วมเป็นพลังจิตอาสาราว 5,000 คน หลังจากนั้นจะได้รับการต่อยอดจากภาคีของเครือข่ายสสส.ที่มีอยู่ทั่วประเทศต่อไป
          ข้อมูลจากเว็บไซต์www.thaihealth.or.th
 


pageview  1205748    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved