HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/01/2556 ]
ยิ่งกว่ารักที่เด็กควรได้'อาหารใจ 5 หมู่'พ่อแม่ต้องรู้'เพื่อลูก'

 "การที่จะให้เด็กไทย รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน ได้ตามคำขวัญวันเด็กในปีนี้ ก็ ควรที่จะมีจุดเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ด้วยการทำให้ลูกได้รู้สึกว่าตัวเองนั้นมีคุณค่า โชคดีที่มีพ่อแม่รักและเข้าใจ" .เป็นการระบุของ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาของ โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช"วันเด็กแห่งชาติ" จะมาถึงอีกแล้วในวันที่ 12 ม.ค. นี้ ซึ่งช่วงวันเด็กผู้ใหญ่ก็มักนึกถึง หรืออยากให้ "เด็กไทยดี-เด็กไทยเก่ง-เด็กไทยไม่สร้างปัญหา" แต่ทว่า.ก็แล้วผู้ใหญ่ช่วยเด็กถูกต้องแค่ไหน??
          ทั้งนี้ กับการส่งเสริมให้เด็ก ให้บุตรหลาน เติบโตขึ้นเป็นคนดีเป็นคนเก่ง เพื่ออนาคตที่ดีของเด็กเอง ของครอบครัว และของสังคมนั้น จากข้อมูลของโครงการออกแบบกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "เทคนิคสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก" หรือ "โพสิทีฟ พาเรนติง (Positive Parenting)" ที่ทางโรงพยาบาลมนารมย์ร่วมกับ ศ.พญ.นงพงา จัดทำขึ้น นับว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ น่าพิจารณาเป็นอย่างมาก สำหรับตัวผู้ใหญ่เอง
          เวลาส่วนใหญ่ที่หมดไปกับการทำงานหาเงิน ความเครียดในการดำรงชีวิตที่มักจะมีสูง หรือแม้แต่การให้ความสำคัญมากเกินไปกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่รูปแบบต่าง ๆ เหล่านี้เป็นกระแส เป็นค่านิยม ที่กำลังพัดพาให้คนไทยหลงลืม ห่างเหินการเป็น "ครอบครัวที่แท้จริง" ซึ่งหากพ่อแม่ผู้ปกครอง หากผู้ใหญ่ อยากให้บุตรหลาน อยากให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีพลังใจที่ดีและเข้มแข็ง ก็จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง
          ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องที่ว่านี้ ศ.พญ.นงพงา แจกแจงไว้ สรุปได้ว่า. 'การมีความสุขด้วยกันคือเป้าหมายที่แท้จริงของการมีครอบครัว" แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะหลงเข้าใจกันว่าการมีสิ่งนั้นสิ่งนี้คือความสุข ขณะที่ความสามารถในการที่จะรู้จักความสุขจริง ๆ กำลังหายไป 'คำว่าหาความสุข กับมีความสุข นั้นต่างกัน" ครอบครัวยุคใหม่มักทุ่มเวลาหาเงินเพื่อหวังจะใช้ซื้อสิ่งที่คิดว่าคือความสุข แต่จริง ๆ แล้วการที่คนในครอบครัวจะมีความสุขด้วยกัน สำคัญก็คือ "ต้องได้อยู่ด้วยกัน" ซึ่งหมายถึง "ต้องมีเวลาให้กันในระดับหนึ่ง"
          มาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า "ก็พูดง่าย แต่ทำยาก"
          ก็อาจจริงอย่างที่คิด ๆ กัน แต่ลองมาดูกันต่อสักนิด.
          ทางผู้เชี่ยวชาญคนเดิม ระบุไว้อีกว่า. ปัญหาในเด็กและเยาวชนในปัจจุบันล้วนมีที่มาหรือจุดเริ่มต้นจากครอบครัวทั้งสิ้น เกิดจากการไม่ได้ "สร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ" ไว้แต่เด็ก "จิตใจก็เหมือนกับร่างกาย ถ้าเติบโตมาดี มีภูมิคุ้มกันดี ก็เจ็บป่วยได้ยาก" ซึ่งพ่อแม่ยุคปัจจุบันรู้จักการเลี้ยงลูกให้มีร่างกายแข็งแรง แต่ไม่ค่อยรู้จักการเลี้ยงดูลูกให้มีจิตใจแข็งแรง 'ร่างกายต้องการอาหาร 5 หมู่ จิตใจก็ต้องการอาหารใจเช่นกัน"
          พูดถึง 'อาหารใจ" ศ.พญ.นงพงา บอกว่า. ส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงเรื่องของความรัก คิดว่าให้ความรักเด็กแล้วเด็กก็จะอบอุ่น โตขึ้นเป็นคนดี แต่นี่เป็นเพียงส่วนเดียว เหมือนอาหารหมู่เดียว และที่ถูกต้องคือ "ต้องให้ความรักด้วยความเหมาะสม" ถ้ารักและตามใจมากไปก็จะเป็นปัญหาได้ ขณะเดียวกันก็ "ต้องให้ความเข้าใจตามช่วงวัย" เช่น เด็กโตแล้วก็ควรให้ได้ช่วยเหลือตัวเองบ้าง เด็กวัยรุ่นก็อย่าหวงจนไม่ให้ไปไหนเลย ควรเข้าใจและปล่อยบ้าง แต่ก็ดูแลให้ไปในที่ในทางปลอดภัย ซึ่งหลายบ้านช่วยลูกจนเกินไป หวงลูกมากไป ก็กลายเป็นว่าลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่มีใครคอยเอาใจ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ จนไม่อยากเรียน หรือกลายเป็นโรคซึมเศร้า
          "ต้องชมและให้กำลังใจได้ทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่" นี่ก็อีกหมู่อาหารใจของเด็ก ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองอย่ามองแต่คุณค่าจากสิ่งภายนอก เช่น ส่งเด็กเข้าประกวดแข่งขันต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้รับคำชม แต่กำลังใจหรือความชื่นชมที่ดีนั้นจริง ๆ แล้วอยู่ใกล้ตัวเด็ก คือจากพ่อแม่ผู้ปกครองเอง และ "ต้องยอมรับฟังแบบให้ลึกถึงความปรารถนาข้างในจิตใจ" ของเด็ก ไม่ใช่แค่ฟังผ่าน ๆ นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหรืออีกหนึ่งหมู่อาหารใจ
          นอกจากที่ว่ามาแล้ว "ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่" แล้วลูกก็จะมีสัมพันธ์ที่ดีด้วย นี่ก็อีกหนึ่งหมู่อาหารใจของเด็ก และสำคัญระดับต้น ๆ เลย ซึ่งของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปขวนขวายหาจากที่อื่น เมื่อพ่อแม่มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ลูกก็จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดีด้วย
          ทั้งนี้ การรู้จักที่จะมีความสุขด้วยกันเป็นครอบครัวที่แท้จริง ตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาโรงพยาบาลมนารมย์ ระบุมานี้ ก็ดูเหมือนทำได้ยากในสังคมไทยปัจจุบัน แต่ถ้าผู้ใหญ่ ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครอง อยากให้เด็กไทย อยากให้ลูกหลานเราเติบโตขึ้นเป็นคนดี เป็นคนเก่ง จริง ๆ แล้วก็ใช่ว่าจะยากเกิน
          และ. 'ช่วงเวลาทองของชีวิตเด็กคือ วัย 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการปูพื้นฐานด้านจิตใจที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต หากชีวิตเด็กในช่วงนี้บกพร่องก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่" .ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว แนะนำช่วงเวลาที่ควรต้องทำไว้ด้วย
          ที่ว่ามานี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น 'อาหารใจ 5 หมู่"
          'เด็กต้องการ" ผู้ใหญ่ พ่อแม่ มีให้กันแค่ไหน??.
 


pageview  1205479    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved