HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 26/12/2555 ]
อีกหนึ่งข้อคิด 'เลือกอาหารใส่บาตร' ดูแลสุขภาพพระสงฆ์...เพิ่มผลบุญ!?

"การเลือกอาหารใส่บาตรนอกเหนือจากเรื่องรสชาติของอาหารแล้ว สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงมากกว่าก็คือ สุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ที่รับบิณฑบาต โดยเฉพาะโรคภัยที่จะเกิดขึ้นกับพระสงฆ์ตามมา"


การตักบาตรเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยพุทธ กาล โดยพระภิกษุจะถือบาตรออกบิณฑ บาตเพื่อรับอาหารตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ขณะที่ชาวบ้านก็จะเตรียมสำรับกับข้าวหรืออาหารแห้งออกมาตักบาตร โดยชาวพุทธเชื่อกันว่าเป็นการสร้างกุศลและแผ่กุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ ทำให้หลายคนเลือกสรรอาหารที่รสชาติอร่อยหรือเป็นของโปรดของแต่ละบุคคลจนลืมคำนึงถึงสุขภาพปัญหาของพระภิกษุที่จะตามมาจากอาหารใส่บาตรที่ไม่ได้โภชนาการ


นายแพทย์ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ความรู้ว่า การเลือกอาหารใส่บาตรนอกเหนือจากเรื่องรสชาติของอาหารแล้ว สิ่งที่ควรจะคำนึงถึงมากกว่าก็คือ สุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ที่รับบิณฑบาต โดยเฉพาะโรคภัยที่จะเกิดขึ้นกับพระสงฆ์ตามมา ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือโรคหัวใจตีบ ซึ่งอาจเกิดจากการฉันอาหารที่ไม่มีคุณประ โยชน์ มีไขมันหรือน้ำตาลมากเกินไป


พุทธศาสนิกชนที่จะไปทำบุญตักบาตรควรเลือกอาหารตักบาตรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของพระสงฆ์ เช่น ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันจนเกินไป เน้นอาหารจำพวกเนื้อปลา ไข่ขาว เต้าหู้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เนย เนยแข็ง ครีม ไอศกรีม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ได้แก่ เค้ก พาย คุกกี้ ไส้กรอก แฮม เบคอน หรืออาหารที่ทอดในน้ำมันมาก เช่น ปาท่องโก๋ มันฝรั่งทอด ไก่ทอด สำหรับผลไม้ควรเลือกที่รสไม่หวานจัดจนเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพระภิกษุสงฆ์ในระยะยาวได้ สำหรับอาหารที่จะนำไปถวายควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ ข้าวต้มปลาทรงเครื่อง น้ำเต้าหู้ทรงเครื่อง แซนด์วิชทูน่า โฮลวีท ผลไม้ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ


ทั้งนี้ การเลือกอาหารใส่บาตรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ 1.อาหารจากธัญพืช ข้าวประเภทต่าง ๆ อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ โฮลวีท รำข้าว งาดำ ลูกเดือย เห็ด และพืชตระกูลถั่ว ธัญพืชที่ไม่ขัดสีจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีเส้นใยสูง มีสารอาหารครบ 5 หมู่ มีวิตามินบี อี ช่วยให้หลอดเลือดมีสุขภาพดีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ นอกจากนี้ยังให้พลังงานแก่ร่างกาย ป้องกันโรคเหน็บชา ตะคริว ส่วนใยอาหารมากช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง กระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก เพิ่มแคลเซียม ช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงระบบประสาทในสมอง ป้องกันโรคหัวใจ และมีสารแอนติออกซิเดนท์ช่วยต่อต้านมะเร็ง ช่วยบำรุงม้าม ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก ลดความดันโลหิต ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ


2.อาหารที่มีแร่ธาตุ ส่วนใหญ่จะเป็นจำพวกพืชผัก ซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุสูง แถมยังมีเส้นใยที่ช่วยให้ขับถ่ายเป็นปกติ อาหารที่มีแร่ธาตุสูงจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือเกาะผนังหลอดเลือด ลดคอเลสเตอ รอล ฉะนั้นแร่ธาตุที่สำคัญในอาหาร ได้แก่ 'แคลเซียม" ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง หากขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน การแข็งตัวของเลือดไม่ดี ซึ่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ตำลึง คะน้า ใบขึ้นฉ่าย นมสด ไข่ เนย กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาไส้ตัน เป็นต้น
'ฟอสฟอรัส" ทำหน้าที่ร่วมกับแคลเซียม ดังนั้นอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง มักจะมีแคลเซียมสูงด้วย โดยเฉพาะผักใบเขียว นม ถั่ว เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ส่วน 'แมก นีเซียม" ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและประสาท การสร้างโปรตีน การใช้กำมะถันและฟอสฟอรัสในร่างกาย ซึ่งมีผักใบเขียว เยื่อหุ้มเมล็ดพืช เช่น รำข้าว ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก 'เหล็ก" เป็นองค์ประกอบที่อยู่ในเลือด ควรทานอาหารที่มีวิตามินสูง ๆ จะช่วยดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่แดง กุยช่าย เป็นต้น ถ้าขาดธาตุนี้จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง อ่อน เพลียและมีผลต่อสมอง


สำหรับ 'โซเดียม" ทำหน้าที่ร่วมกับโพแทสเซียมในการควบคุมน้ำในร่างกาย และการนำประสาท ถ้าขาดธาตุนี้จะเป็นตะคริว ชัก หมดสติและเสียชีวิตได้ แต่หากทานโซเดียมมากเกินไปอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ซึ่งธาตุนี้พบมากในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว นม เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผัก และผลไม้ต่าง ๆ และ 'โพแทสเซียม" ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหดตัวของกล้ามเนื้อและนำกระแสประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจและการรักษาระดับของเหลวในเซลล์ ส่วนมากอยู่ในเนื้อสัตว์ต่าง ๆ นม กล้วย และผักใบเขียว


ส่วนวิตามิน เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ โดยแบ่งออกเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี เค กับวิตามินที่ละลายน้ำ ได้แก่ วิตามินบีต่าง ๆ และวิตามินซี พบมากในผักและผลไม้ตระกูลส้ม กรดโฟลิก มีความสำคัญในกระบวน การสร้างดีเอ็นเอ ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง การพัฒนาสมองและไขสันหลัง พบมากในตับ นม ถั่วชนิดต่าง ๆ ข้าวโพด บรอกโคลี อะโวคาโด เป็นต้น


และ 3. ผักเพื่อสุขภาพ ผักที่จะนำไปประกอบอาหารควรเลือกซื้อตามฤดูกาล เพราะจะได้ผักที่สดและราคาถูก โดยเฉพาะผักที่มีเครื่องหมาย "ผักอนามัย"หรือผักจากโครงการผักปลอดสารพิษเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ควรล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วใช้มือถูบนใบผักเบา ๆ จะช่วยให้สารพิษตกค้างหลุดออกมาได้ง่าย เมื่อมั่นใจแล้วก็ต้องดูว่าผักแต่ละชนิดมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร เช่น กระเทียม มีฤทธิ์รักษาโรคหัวใจ วัณโรค ไทฟอยด์ โรคปอด หืด ช่วยลดคอเลสเตอรอล และความดัน ผักกะเพรา มีเบต้าแคโรทีนป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมและฟอสฟอ รัส ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ขิงข่า มีสรรพคุณทางยาช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุก เสียด มะระมีวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน น้ำคั้นจากมะระใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ หัวปลี เป็นผักที่มีกากใยมาก จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ มีธาตุเหล็กช่วยบำรุงเลือด ทำให้ผิวพรรณดี


การเลือกอาหารเพื่อใส่บาตรถือเป็นการใส่ใจที่เราควรคำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์เป็นหลัก นอกจากจะช่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพของพระสงฆ์ให้ดีและแข็งแรงแล้วยังช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งด้วย.
องค์ประกอบของการทำบุญตักบาตรให้สมบูรณ์


การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้


1. เตรียมใจให้พร้อม เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย โดยแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง 3 ขณะ คือ ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง ขณะถวาย มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ และ หลังจากถวาย แล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว การทำใจให้ได้ทั้ง 3 ขณะนี้นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้


2. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน พระพุทธพจน์ ทรงจำ นำมาบอกกล่าว สั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง


3. สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย


เมื่อครบองค์ประกอบ 3 อย่างแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก่อนตักบาตร คือ การอธิษฐาน ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้บุญของเราหนักแน่น ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น และยังทำให้เราทราบเป้าหมายในการทำบุญด้วย นอกจากนี้ การอธิษฐานยังสามารถสร้างพลังในจิตใจให้มากขึ้น เป็นการสั่งสมกำลังแห่งความบากบั่น อดทน เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ให้เราก้าวไปสู่สิ่งที่ปรารถนาได้ การอธิษฐานในขณะที่บำเพ็ญบุญนั้น ผลบุญย่อมหนุนส่งให้สำเร็จตามที่ปรารถนาไว้ ถึงแม้จะขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสบ้างก็ตาม แต่ความดีที่ทำไว้ย่อมไม่เสียหายไป ดังนั้น ก่อนตักบาตร ควรอธิษฐานโดยนั่งหรือยืนก็ได้ ยกสิ่งของที่จะถวายขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วอธิษฐานในใจหรือออกเสียงเบา ๆ ก็ได้ จากนั้นจึงถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ ถ้ามีดอกไม้ธูปเทียนให้ถวายหลังจากที่ถวายอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ถ้าเป็นสตรีให้วางดอกไม้ธูปเทียนไว้บนฝาบาตร เมื่อพระท่านปิดบาตรแล้ว.

 


pageview  1205463    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved