HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/11/2555 ]
ความพิการแต่กำเนิดป้องกันได้ เริ่มต้นที่ใส่ใจการกิน

พรประไพ เสือเขียว          ภาพจากเว็บไซต์ http://www.rd1677.com
          ย้อนไปเมื่อ 40 ปี ก่อนอาหารในเมืองไทยไม่อุดมสมบูรณ์เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีพัฒนาด้านการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ และประมงแต่ปัจจุปันประเทศไทยผลิตสินค้าด้านอาหารอยู่ในลำดับต้น แต่คนไทยขาดความตระหนักเรื่องโภชนาการ มีค่านิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน อาหารฟาสต์ฟู้ด ก่อโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ตามมา และยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ลูกพิการในรายของผู้หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากโฟเลทไม่พอ เพราะขาดการบริโภคผักผลไม้อย่างเหมาะสม
          ศ.พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวในงานการประชุมวิชาการเรื่องโครงการปฏิบัติการระดับชาติเพื่อวางแผนป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย ที่ รร.ตะวันนาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าสาเหตุการเกิดความพิการครึ่งหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์และอีกครึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น เหล้า บุหรี่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโภชนาการไม่พอก่อนการตั้งครรภ์ ปัจจุบันพบผู้หญิงไทยส่วนหนึ่งขาดโฟเลทสารอาหารที่มีอยู่ในผักใบเขียวต่าง ๆ ผลไม้ ตับ  ที่น่าห่วงคือผู้หญิงในชนบทมีความรู้น้อย ผู้หญิงทำงานโรงงานตั้งครรภ์ขาดความรู้ทางโภชนาการ อย่างไรก็ตามแม้จะมีการโฆษณาว่าเติมสารโฟเลทในนม หรือแพทย์ให้รับประทานโฟเลทในรูปแบบเม็ดแต่ก็ยังไม่เพียงพอในร่างกายของผู้หญิงบางคนเมื่อตั้งครรภ์ ดังนั้นเป็นที่หน้าที่ของภาครัฐต้องลงไปให้ความรู้กับผู้หญิงดังกล่าวด้วย
          "ปัจจัยเรื่องอายุที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ของเพศหญิงด้วย คือช่วงเวลาที่ธรรมชาติออกแบบให้เหมาะสมที่จะตั้งครรภ์ได้คือ 25-35 ปี หากตั้งครรภ์อายุน้อยก็มีสิทธิที่จะคลอดก่อนกำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์และหมั่นตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง" ศ.พญ.พรสวรรค์ กล่าวและว่า สิ่งที่น่าห่วงผู้หญิงบางคนไม่ได้วางแผนว่าจะมีลูกไม่รู้ว่าตัวเองท้อง มารู้ตอนอายุครรภ์ 2-3 เดือนแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เซลล์ของตัวอ่อนกำลังพัฒนาหากร่างกายไม่ได้รับสารโฟเลทที่เหมาะสมมาตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงที่ลูกเกิดมาจะพิการ อาทิ เด็กหัวบาตร ปากแหว่ง เพดานโหว่เป็นต้น
          พญ.พรสวรรค์ กล่าวอีกว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ชิลี มีการเติมสารโฟเลทในขนมปัง จึงมีแนวความคิดพิจารณาให้ประเทศไทยเติมสารโฟเลทในข้าว จะช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ ในประเทศอินเดีย เนปาล มีนโยบายให้เด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์รับประทานโฟเลทในรูปแคปซูลซึ่งอัตราที่เหมาะสมของโฟเลทที่ร่างกายต้องการคือ 5 กรัมต่อวัน
          ปัจจุบันมีทารกพิการแต่กำเนิดทั่วโลกกว่า 8 ล้านคน สำหรับไทยมีทารกแรกเกิด 800,000 คนต่อปี  พบเด็กพิการแต่กำเนิด 3-5% หรือ 24,000-40,000 คนต่อปี โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้ 1. กลุ่มอาการดาวน์พบ 1 ต่อ 1,000 คน 2. หลอดประสาทไม่ปิด พบ 1 ต่อ 800 คน 3. ปากแหว่งเพดานโหว่ 4. แขนขาพิการแต่กำเนิด พบ 1 ต่อ 1,000 คน 5. กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ (Duchennw muscular)พบ 1 ต่อ 10,000 ทั้งนี้อัตราดังกล่าวเป็นอัตราของเด็กแรกเกิดทั้งโลก ขณะที่ประเทศข้อมูลของไทยยังมีช่องว่างไม่มีระบบคัดกรองทำให้การดูแลส่งต่อผู้ป่วยเด็กพิการไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นนักวิชาการจากโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์ ม.ธรรมศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พระมงกุฎเกล้า โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันดำเนินโครงการจัดทำคู่มือปฏิบัติการระดับชุมชน ระดับโรงพยาบาลและในมหา วิทยาลัยนำร่องในกลุ่ม 5 โรคดังกล่าว ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2554-พ.ค. 2555
          ด้าน พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในกลุ่มทั้ง 5 โรคดังกล่าวโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ รักษาง่ายสุดเมื่อเปรียบเทียบกัน ปัจจุบันแพทย์สามารถผ่าตัดได้แล้วแต่ต้องขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของเด็กด้วยจากข้อมูลเด็กที่กินนมแม่จะสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้เร็วกว่าการกินนมผง เพราะนมแม่ทำให้เด็กไม่ป่วย เมื่อเด็กแข็งแรงก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ง่าย อีกทั้งพบว่าแผลผ่าตัดของเด็กที่กินนมแม่จะสวยกว่าเพราะการใช้ปากสัมผัสเต้านมของแม่ตลอดเวลาทำให้กล้ามเนื้อมีการยืดหยุ่นจะผ่าตัดได้ง่ายกว่า หัวนมจากขวดนม
          ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.cco.moph.go.th ระบุโฟเลท เป็นสารอาหารในกลุ่มของวิตามินที่ละลายน้ำ หากร่างกายได้รับโฟเลทไม่เพียงพอจะทำให้การเจริญเติบโตของเซลล์หยุดชะงัก โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง สำหรับหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อทารกที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิด ได้แก่ภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด หรือ Neural Tube Defects (NTDs) อาการปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหลอดประสาทพิการ คือการที่สมองและไขสันหลังพิการแต่กำเนิด ซึ่งรวมถึงโรคไขสันหลังไม่ปิด (Spina Bifida ) และไม่มีเนื้อสมอง (Anencephaly) ถ้าผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีบุตรได้ (วัยรุ่น-ช่วง 50 ปี) กินโฟเลทในปริมาณเหมาะสมก่อนการตั้งครรภ์ จะสามารถลดโอกาสการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ได้ประมาณ 1 ใน 3 ลดหัวใจพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 25-50
          ความพิการแต่กำเนิดป้องกันได้ในโลกยุค 3 จี.
 


pageview  1205676    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved