HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/11/2555 ]
หมอแนะ'โมโนเมทรี'เทคนิคใหม่ช่วยหญิงไทยพ้นภัย'ท้องผูก'

  หนึ่งในโรคยอดฮิต ของหญิงไทยคือ "ท้องผูก" เพราะด้วยไลฟ์สไตล์ชีวิตที่รีบเร่งจนบางรายถึงขั้นกลายเป็นโรค "ท้องผูกเรื้อรัง" หากรักษาไม่ถูกวิธี ส่งผลอันตรายต่อร่างกายร้ายกว่าที่คิด ปัจจุบันวงการแพทย์ พบเทคนิคใหม่ที่ช่วยแก้อาการท้องผูกของผู้หญิงได้ถึงต้นตอแล้ว โดย นพ.บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.เวชธานี เผยผลการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารจาก ดร.เจฟฟรี่ คอนคลิน แห่งยูซีแอลเอ ว่า ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังจำนวนมากที่ประสบปัญหาได้รับการตรวจวินิจฉัยและการรักษา โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การกินยาระบายอย่างต่อเนื่อง กระทั่งต้องหาวิธีต่าง ๆ นานาด้วยตัวเอง เช่น การสวนลูกยาง การทำดีท็อกซ์ การกินยาสมุนไพร ก็ยังไม่พบสาเหตุของอาการท้องผูก และไม่สามารถรักษาโรคได้ เป็นเพราะการวินิจฉัยและรักษานั้นไม่ได้มาจากต้นตออย่างแท้จริง
          ปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีการวินิจฉัยและการรักษาท้องผูกที่เป็นระบบและครบวงจร ด้วยเทคนิคใหม่ ได้แก่ เครื่องมือตรวจการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร ที่เรียกว่า "โมโนเมทรี" (Manometry) และการตรวจลมหายใจ หรือ ไฮโดรเจน เบรธ เทสท์ เพื่อหาแบคทีเรียที่ทำให้เกิดภาวะท้องผูกและท้องอืด เทคนิคดังกล่าวสามารถตรวจวิเคราะห์หาสาเหตุท้องผูก โดยการตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก มีขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องใช้ยานอนหลับหรือยาสลบ ผู้ป่วยไม่เกิดความเจ็บปวดขณะตรวจ ส่วนการตรวจหาปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ทำได้ด้วยการเป่าลม
          หายใจ ซึ่งวิธีการดังกล่าวช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของโรคท้องผูกถึงต้นตอที่แท้จริงและแม่นยำขึ้น แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยท้องผูกอย่างแท้จริง เป็นผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องทนทรมาน พึ่งยาระบาย และยังเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ของโรคท้องผูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
          ด้าน นพ.สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ รพ.เวชธานี กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ผู้หญิงมีแนวโน้มท้องผูกมากขึ้น หรืออาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่รีบเร่ง ภาวะโภชนาการ ความเครียด และอีกหลายเหตุปัจจัย ซึ่งสัญญาณผู้มีอาการท้องผูกเรื้อรังคือ การถ่ายอุจจาระที่มีความถี่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นประจำ อุจจาระมีความแห้ง แข็ง เวลาขับถ่ายต้องใช้แรงเบ่งมากหรือใช้มือล้วง ภายหลังอุจจาระแล้วยังมีความรู้สึกว่าอุจจาระไม่สุด สร้างความเจ็บปวดและทรมาน โดยเฉพาะในรายที่มีอาการท้องผูกรุนแรงและเป็นประจำ อาจใช้การรักษาที่ผิดวิธีจนทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้
          "ผู้หญิงที่รักษาอาการท้องผูกแบบผิดวิธี อาจแฝงอันตรายที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินยาระบายทุกวัน บางรายต้องพึ่งยาระบายมากกว่าวันละหลายสิบเม็ด หากบริโภคยาระบายเกินขนาด ส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้ อาทิ ทำให้ลำไส้เป็นอัมพาตไม่ทำงาน ผู้ที่ใช้วิธีการสวนทวารหรือดีท็อกซ์จะส่งผลทำให้ลำไส้ทะลุ ทวารหนักหลวม บีบตัวไม่ได้ และยังทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักตามมา ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีอาการดังกล่าว ไม่กล้ามารักษากับแพทย์ต้องทนทรมานกับความเจ็บปวด สูญเสียโอกาสหลายอย่างในชีวิต ส่วนการหาซื้อยามารักษาเอง อาจช่วยบรรเทาอาการขณะนั้น แต่ไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ ถ้ารู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการของโรคท้องผูกเรื้อรังควรมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันภาวะท้องผูกสามารถทำได้เองโดยใช้หลัก 3 อ. คือ อาหาร, ออกกำลังกาย, อุจจาระขับถ่ายให้เป็นเวลา ควรใช้ยาระบายเป็นทางเลือกสุดท้าย" นพ.สุขประเสริฐแนะนำ.
 


pageview  1205706    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved