HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/11/2555 ]
ภูมิแพ้...หายได้จริงหรือ???

  30-40% ของประชากรทั่วโลกเป็นโรคภูมิแพ้ ในประเทศไทย 20% ของผู้ใหญ่เป็นภูมิแพ้ทางจมูก 40% ของเด็กเป็นภูมิแพ้ทางจมูก และมีประชากรจำนวน 10% เป็นโรคหืด
          "โรคภูมิแพ้" เกิดจากภูมิคุ้มกันของเราเปลี่ยนจากปกติ กลายสภาพเป็นมีความไวเกินเหตุต่อสารก่อภูมิแพ้ในสิ่งแวดล้อม
          โรคภูมิแพ้มี 7 โรคหลัก ๆ ได้แก่ ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ (ประกอบด้วยโรคภูมิแพ้ทางจมูกและโรคหืด) ภูมิแพ้ทางผิวหนัง ภูมิแพ้ทางตา ภูมิแพ้อาหาร ภูมิแพ้ยา และการแพ้ที่อาจรุนแรงถึงชีวิตได้ (ภาวะช็อกรุนแรง)
          จากสถิติพบว่าประชากรทั่วโลก 400 ล้านคนเป็นภูมิแพ้จมูก และมีอีก 300 ล้านคนเป็นโรคหืด สำหรับประเทศไทยพบว่า 10-15 ล้านคนเป็นภูมิแพ้จมูก และมีอีก 3-5 ล้านคนที่เป็นโรคหืด
          ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นายกสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "โรคภูมิแพ้ยอดฮิตที่พบบ่อยในคนไทย ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ พบสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั่วไป คือ สำหรับผู้ใหญ่พบ 1 ใน 5 คน และสำหรับเด็ก พบบ่อยกว่าถึง 4 ใน 10 คน ทั้งประเทศมีคนทุกข์ทรมานจากโรคนี้ถึงกว่า 10 ล้านคน"
          อาการที่พบบ่อยของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อาการเป็นหวัดเรื้อรัง จาม คันจมูกบ่อย ไอบ่อยเวลาอากาศเปลี่ยน มีผื่นคัน ตามข้อพับ แขนขา เป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการปากบวม หรือเกิดลมพิษขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร แต่อาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้
          และยังมีอาการผิดปกติบางอย่าง ที่อาจทำให้คาดไม่ถึงว่ามีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการเป็นโรคภูมิแพ้ เช่น ผู้ที่มีอาการเสียดท้องบ่อย ๆ มีลมมากในท้อง อาจพบได้ในผู้ที่กลืนลมลงไปมากในท้อง เนื่องจากการหายใจทางปาก หรืออาการกรนในเวลากลางคืนที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการคัดจมูกเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ เป็นต้น
          โรคภูมิแพ้ทางจมูก ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต แต่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จะมีอาการเรื้อรัง จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการเข้าสังคมแย่ลง ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนและการทำงานลดลง
          หากไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ผนังคออักเสบเรื้อรัง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หลอดลมอักเสบ หรือหอบหืด ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง จมูกไม่ได้กลิ่น หรือนอนกรน เป็นต้น
          ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ เพื่อให้การวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม
          ดร.พญ.วิภารัตน์ มนุญากร หน่วยโรคภูมิแพ้ ภูมิคุ้มกันและโรคข้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า "นอกจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์แล้ว ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มสูงขึ้น มาจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง คือ คนในเมืองอยู่บ้านมากขึ้น ไม่ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ เด็กกินนมแม่น้อยลง สัมผัสควันบุหรี่และมลพิษทางอากาศมากขึ้น การตกแต่งบ้านด้วยพรม และติดเครื่องปรับอากาศทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ทำให้ไรฝุ่นซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่สำคัญเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นการควบคุมสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ตลอดจนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ในบุตรได้"
          โดยทั่วไปโรคภูมิแพ้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง โดยหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ และหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย และรักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการรับประทานยา ใช้ยาพ่นจมูก หรือยาสูดพ่น หรือการฉีดวัคซีนภูมิแพ้เป็นประจำ จะสามารถลดอาการของโรค และป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ขึ้นได้
          สำหรับผู้สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ได้ทางเว็บไซต์ของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืดและวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย ได้ที่ www.allergyexpert.org


pageview  1205558    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved