HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 12/09/2555 ]
ครั้งแรก'สถิติไทย' ใช้แท็บเล็ตเก็บข้อมูล

  อย่าเพิ่งแปลกใจว่าใช้แท็บเล็ตดี่ปใใกว่าแจกแบบสอบถามกระดาษอย่างไร? เพราะนับจากบรรทัดนี้ไปจะบอกข้อมูลให้รู้อย่างละเอียด
          โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 ซึ่งมีระยะเวลาการเก็บข้อมูลภาคสนามตั้งแต่ ส.ค.ต.ค.นี้ จำนวน 27,000 ครัวเรือน เป็นโครงการแรกที่ "สำนักงานสถิติแห่งชาติ" หน่วยงานในกำกับของกระทรวงไอซีที นำแท็บเล็ตมาใช้เก็บข้อมูลแบบสอบถาม
          น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 เป็นโครงการแรกที่สำนักงานสถิติแห่งชาติและประเทศไทยเปลี่ยนการใช้แบบสอบถามกระดาษเป็นการเก็บข้อมูลผ่านแท็บเล็ต ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที ลดเวลาปฏิบัติงานภาคสนามให้เหลือ 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการแจกแบบสอบถามแบบกระดาษ และสามารถติดตามการทำงานของหน่วยงานภาคสนามได้
          "ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสภาวะสำลักข้อมูล คือมีข้อมูลมากแต่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ข้อมูลจากการศึกษานี้รัฐบาลจะนำมาใช้เพื่อวางแผนจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี เช่น วางแผนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต พัฒนาโอกาสทางการศึกษา และป้องกันการตั้งท้องก่อนวัยอันควร" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
          สำหรับโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จ้างให้บริษัท ล็อกซบิท พีเอ จำกัด เป็นผู้จัดทำแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ (E-Questionnaires) โดยตัวโปรแกรมของแบบสอบถามพัฒนามาจากระบบที่ใช้ระบุตำแหน่งของข้อมูลบนแผนที่ ดังนั้นจึงสามารถระบุได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามอยู่พื้นที่ไหนของประเทศไทย โดยคำถามที่นำมาใช้เป็นคำถามที่ได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยแบบสอบถามจะบรรจุไว้ในแท็บเล็ตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้สำรวจกลุ่มตัวอย่าง
          เบื้องต้นโครงการสำรวจดังกล่าวใช้เครื่องแท็บเล็ตสำรวจทั้งหมด 225 เครื่อง และจากการใช้งานจริง พบว่า การตอบแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ใช้เวลาเพียง 45 นาที/คน เร็วกว่าการตอบแบบสอบถามแบบกระดาษที่มีความหนาถึง 70 หน้า และใช้เวลา 1.45 ชั่วโมง/คน
          เหตุผลสำคัญที่ทำให้การตอบแบบสอบถามแบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้เวลาน้อยกว่า เพราะสามารถข้ามคำตอบที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือเป็นคำตอบยกเว้นสำหรับผู้ที่ตอบข้อใดข้อหนึ่งข้างต้นไปแล้ว เช่น สถานะโสด ข้ามไปตอบข้อ. เป็นต้น
          ส่วนงบประมาณที่ใช้ในโครงการนี้เป็นของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รวม 23.4 ล้านบาท
          เดือน ธ.ค. นี้คาดว่าจะได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจ อาทิ จำนวนเด็กที่กำลังเรียน และออกจากโรงเรียน โดยข้อมูลครบถ้วนจะได้ต้นปีหน้าซึ่งเมื่อได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้วจะต้องส่งให้ยูนิเซฟตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรฐานสากล เพื่อนำข้อมูลไปใช้ได้ทั่วโลก โดยข้อมูลที่สมบูรณ์จะได้ในต้นปีหน้า
          แน่นอนหากโครงการแรกนี้ผ่านฉลุย โครงการสำรวจข้อมูลต่อไปที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจะใช้แท็บเล็ตในการเก็บข้อมูล คือ โครงการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร
          วันนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของไทยทันสมัยพร้อมก้าวทันการสำรวจในทุกรูปแบบ ที่รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนในปี 2558.
          ไทยสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีกี่ครั้งแล้ว?
          คำถามที่หลายคนสงสัยเมื่อได้ยินชื่อ "โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2555" คือ ประเทศไทยมีการสำรวจเรื่องนี้กี่ครั้งแล้ว
          คำตอบ คือ การสำรวจครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยการจัดทำโครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548-2549 ซึ่งโครงการสำรวจครั้งที่ 2 นี้จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมมือกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข สสส., สปสช. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ
          ขณะที่ความเป็นมาของโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความอยู่รอด การปกป้องและการพัฒนาเด็ก ร่วมกับประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ 191 และได้ร่วมลงนามในแผนปฏิบัติการของ "โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก" โดยมีเครื่องมือสำหรับใช้ติดตามความก้าวหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เรียกว่าแบบสำรวจพหุดัชนีแบบกลุ่ม เป็นแบบสอบถามสำรวจข้อมูลหลากหลายที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเด็กและสตรี ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์ของเด็กและสตรีในแต่ละประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจะมีความเป็นสากลสามารถใช้เปรียบเทียบกับนานาประเทศได้
          วัตถุประสงค์ของการสำรวจ เพื่อให้มีข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับประเมินสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ใช้เป็นข้อมูลติดตามสถานการณ์การตายของเด็ก รวมทั้งคาดประมาณภาวการณ์ตายของเด็กและใช้ติดตามสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมกันของสถานะสุขภาพของเด็ก โดยข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ในการวางแผนหรือกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเด็กและสตรีได้อย่างถูกต้อง

 


pageview  1205893    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved