HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 22/08/2555 ]
ยาที่ทำให้เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(1)

รศ.น.ท.ดร.สมพล เพิ่มพงศ์โกศล คลินิกสุขภาพชาย โรงพยาบาลรามาธิบดี
          โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศพบบ่อยในชายสูงอายุ และมักสัมพันธ์กับภาวะอื่น ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคหัวใจ
          อาการผิดปกติทางเพศอาจสัมพันธ์กับยารักษาโรคประจำตัวที่รับประทาน ซึ่งอาจมีผลทั้งระยะความต้องการ ระยะกระตุ้น และระยะถึงจุดสุดยอด
          อย่างไรก็ตามควรพิจารณาอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับรายงานผลข้างเคียงของยาที่รับประทานทำให้เป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศจากข้อมูลของทั้งผู้ป่วยเองหรือแบบสอบถามว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และต้องคำนึงถึงว่าโรคประจำตัวของผู้ป่วยที่รักษาก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
          ยาขับปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอาไซด์ (Thiazide) อาจทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือด ยากลุ่มดังกล่าวมีการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลจากประเทศสหราชอาณาจักรแสดงว่ามีอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพเป็นสองเท่าในผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มไธอาไซด์  (Thiazide)มากกว่าการรับประทานยาหลอกหรือยาทางเลือกอื่น ๆ มีผลการศึกษาที่คล้ายกันในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงระดับปานกลางเมื่อสองปีผ่านไปพบว่าอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นสองเท่ามากกว่าการรับประทานยาหลอกหรือยาอื่น ๆ อย่างไรก็ตามกลไกของยาขับปัสสาวะที่มีผลให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพยังต้องมีการศึกษาต่อไป
          ยาลดความดันโลหิตสูง มีรายงานยาลดความดันโลหิตสูงอยู่ในรายการยาที่มีแนวโน้มของผลข้างเคียงให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เช่นเดียวกับยากลุ่มขับปัสสาวะที่ต้องมีการศึกษาทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่างเพื่อยืนยันผลดังกล่าว ขอยกตัวอย่างยาต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ว่ามีความสัมพันธ์อย่างไรกับโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
          1. ยากลุ่มกีดกันอะดรีเนอจิคชนิดเบต้า (Beta-adrenergic blockers) ที่ใช้ในการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลดความดันที่สูงและลดโรคแทรกซ้อนหลายประเภทที่อาจมาจากความดันโลหิตสูง มีรายงานพบว่า อะดรีเนอจิครีเซปเตอร์ หรือตัวรับอะดรีเนอจิค (Adrenergic recep-tor) ชนิดเบต้า   ซึ่งเป็นตัวรับของสารสื่อประสาท (Neurotransmitter) มีเพียงร้อยละ 10 อยู่ในองคชาตซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายากีดกันอะดรีเนอจิคชนิดเบต้ามีผลยับยั้งในระบบประสาทส่วนกลาง และอาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนทางเพศลดลง ยากลุ่มนี้ได้แก่
          A. ยาโพรแพโนลอล (Propranolol) เป็นยาที่สามารถลดความดันโลหิต มีผลข้างเคียงทำให้หัวใจเต้นช้าลง ลดเหงื่อออกมือ เวลาตื่นเต้น จึงถูกนำไปใช้เสริมในการคุมอาการของไทรอยด์เป็นพิษ ยาดังกล่าวจะยับยั้งฤทธิ์ตัวรับสารสื่อประสาทชนิด อีพิเนพฟริน (Epinephrine) ทั้งเบต้า 1- และเบต้า  2-อะดรีโนรีเซปเตอร์ และถูกรายงานว่าสัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศสูงมากกว่ากลุ่มยาหลอก
          B. ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง ตัวรับสารสื่อประสาทชนิด อีพิเนพฟรินเฉพาะเบต้า 1 เช่น Acebutolol ไม่มีผลต่อโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.
 


pageview  1206118    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved