HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 05/02/2555 ]
เจาะ'ส้นเท้า' ทารกตรวจ 'ทีเอสเอช' ป้องกัน 'โรคเอ๋อ-ภาวะขาดไอโอดีน'
          นวพรรษ บุญชาญ : รายงาน
          กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิดป้องกันโรคเอ๋อ ด้วยการเจาะ "ส้นเท้า" นำเลือดมาวัดระดับ ไทรอยด์ สติมูเลติง ฮอร์โมน ( Thyroid Stimulating Hormone )หรือ ทีเอสเอช ( TSH)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง  ค่าทีเอสเอชจะขึ้นอยู่กับระดับไทรอยด์ฮอร์โมน หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้ตามปกติค่าทีเอสเอชจะต่ำ แต่ถ้าไม่สามารถสร้าง้ไไทรอยด์ฮอร์โมน หรือสร้างได้น้อย เช่น ขาดสารไอโอดีน ต่อมใต้สมองจะหลั่งทีเอสเอชออกมามากขึ้น เพื่อไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ทำให้ค่าทีเอสเอช สูง
          โดย ดร.วิยะดา เจริญศิริวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการการตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า การเจาะส้นเท้าทารกแรกเกิด เพื่อตรวจวัดระดับทีเอสเอช  ได้เริ่มโครงการนำร่องตั้งแต่ปี 2539  ที่ จ.น่าน เนื่องจากในสมัยนั้นมีคนที่เป็นโรคคอพอก พัฒนาการช้า ความคิดความอ่านไม่เป็นปกติ สติปัญญาด้อย  1 ต่อ 900 หมายความว่า ทารกเกิดมา 900 คนจะมีภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด หรือ เป็นโรคเอ๋อ 1 คน ในขณะที่อุบัติการณ์ของโลกอยู่ที่ประมาณ  1 ต่อ 3,000-4,000 คน
          หลังจากนั้นได้มีการขยายการตรวจคัดกรองไปเรื่อย ๆ จนครบ 76 จังหวัดเมื่อปี 2543  ในปัจจุบันได้มีการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดทั่วประเทศ ด้วยน้ำยาที่ผลิตขึ้นเอง ต้นทุนในการตรวจที่ได้รับจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) อยู่ที่  123.80 บาทต่อคน  ครอบคลุมเด็กทารกแรกเกิดถึง 95% ส่วนอีก 5% คือ คลอดตามบ้าน หรืออยู่ตามภูเขา ตะเข็บชายแดน ซึ่งได้ให้ อสม.เข้าไปเก็บเลือดใส่กระดาษซับออกมา คือ ร้อยทั้งร้อยของทารกที่คลอดในโรงพยาบาลจะได้รับการเจาะส้นเท้าเพื่อนำเลือดมาตรวจ ยกเว้นในรายที่มีปัญหาตัวเล็ก อยู่ในตู้อบ พ่อแม่ไม่เข้าใจจริง ๆ คือ สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของโครงการ คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้ทำร้ายลูกเขา ด้วยการเจาะส้นเท้า เพราะกลัวลูกเจ็บ แต่ได้มีการให้ข้อมูลเรื่องการเจาะส้นเท้าตั้งแต่ฝากครรภ์แล้วทำให้การเจาะเลือดทารกในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนไม่ต้องการให้ลูกโง่
          ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดไปแล้ว9,053,873 คน  สามารถรักษาทารกได้ถึง 4,565 คน  ทั้งนี้ในแต่ละปีที่มีการคัดกรองทารกแรกเกิดประมาณ 8 แสนคนจะพบทารกที่มีความผิดปกติประมาณ 500-600 คน หากช่วยได้เร็วทารกเหล่านี้ก็สามารถมีพัฒนาการเหมือนทารกปกติ
          จากการให้ทางจุฬาฯประเมินพบว่า เด็ก 1 คนที่เป็นโรคเอ๋อ หรือ ภาวะปัญญาอ่อน รัฐจะสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 8.3 ล้านบาท
          สำหรับการเจาะเลือดทารกเพื่อนำมาตรวจนั้น จะนำมาทั้งหมด6หยด โดยหยดลงบนกระดาษซับแห้ง และส่งทางไปรษณีย์มาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อได้รับเลือด 6 หยดแล้วจะนำมาพิมพ์ข้อมูลทั้งหมดอย่างละเอียด ใส่ลงไปในระบบฐานข้อมูล จากนั้นนำกระดาษซับเลือดเข้าห้องปฏิบัติการ และใช้น้ำยาตรวจตามกระบวนการ
          เลือด 6 หยดที่เจาะมา  2 หยดแรกจะตรวจวัดระดับทีเอสเอช ถ้าผลออกมาทารกมีความผิดปกติอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะตรวจซ้ำ ส่วนอีก 2 หยดจะตรวจพีเคยู (PKU) หรือ ฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria) โรคนี้เด็กไม่สามารถย่อยกรดอะมิโนที่ชื่อฟีนิลอลานิน พอย่อยไม่ได้ก็เกิดสารพิษไปสะสมที่สมองทำให้เด็กสติปัญญาอ่อน ตรงนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม พบในฝรั่งเยอะ คนไทยเคยพบอุบัติการณ์สูงสุดปีหนึ่งประมาณ 6-7 คน แต่บางปีอาจจะไม่เจอเลย เพราะเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วนอีก 2 หยดป้องกันข้อผิดพลาด นอกจากนี้สิ่งที่อยู่บนกระดาษซับเลือดที่เหลือใช้ เพราะทารกไม่ผิดปกติจะใช้เพียง 2 หยดเท่านั้น ที่เหลือจะเก็บในธนาคารดีเอ็นเอ ตอนนี้คัดกระดาษซับที่ดี ๆ ได้ประมาณ 4 ล้านกว่าคนแล้ว
          กรณีทารกปกติจะทราบผลวันต่อวัน โดยจะมีการแจ้งผลการตรวจผ่านทางเว็บไซต์  ทางโรงพยาบาลที่ทารกเกิดและเป็นคนเจาะส้นเลือดส่งมาตรวจสามารถใช้รหัสผ่านเข้าไปดูผลได้เลย  แต่ถ้าทารกมีความผิดปกติ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงภายใน 5 วันทำการจะทราบผล ทารกที่มีระดับทีเอสเอชเกิน 25 มิลลิยูนิต อาจเกิดจากไม่มีต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เล็ก หรืออยู่ผิดที่ ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนไม่ได้เหมือนคนปกติ ต้องรักษาตลอดชีวิต แต่การรักษาง่ายมากด้วยการกินยาเม็ดไทรอยด์ฮอร์โมนราคา 50 สตางค์ต่อเม็ด  ถ้าพบว่าทารกแรกเกิดมีค่าทีเอสเอชเกิน 25 มิลลิยูนิต ก็จะตามตัวมารักษา หากตามได้เร็วเท่าไหร่ สมอง พัฒนาการ จะเกิดขึ้นเร็วเท่านั้น สมองก็สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ แต่ถ้า 3 เดือนค่อยตามกลับมา พัฒนาการก็ช้า ทำให้สติปัญญาต่ำ
          ส่วนทารกที่มีระดับทีเอสเอชเกิน 11.2 มิลลิยูนิตอาจเป็นแค่ภาวะขาดสารไอโอดีน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกระบุว่า หากประชากรในพื้นที่มีระดับทีเอสเอชของทารกแรกเกิดเกิน11.2 มิลลิยูนิต มากกว่า 3% ถือว่าขาดสารไอโอดีน ในประเทศไทยตอนนี้เรียกว่าขาดกันทุกจังหวัด  สำหรับผลที่ตรวจพบจะไปแจ้งให้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อนำไปทำแผนบูรณาการรณรงค์แก้ไขปัญหาต่อไป
          วันนี้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายให้ทางโรงพยาบาลเจาะ "ส้นเท้า" ลูกน้อยแล้วหรือยัง !!??

pageview  1205129    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved