HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 25/07/2555 ]
'วัดสร้างสุข'สมดุลชีวิตแบบไทย

  วัดในกรุงเทพมหานครมีประมาณ 400 วัด ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนทุกกลุ่มสามารถเข้าไปทำกิจกรรมตลอดจนเป็นพื้นที่พึ่งพิงทางจิตใจได้อย่างดี บางวัดจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือช่วงเวลาหลังเลิกงาน ในจำนวนนี้เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ซึ่งวัดเหล่านี้ล้วนมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ คนที่เข้าไปสัมผัสแล้วสบายใจและได้ธรรมะกลับมาดำรงชีวิตในปัจจุบัน ขณะเดียวก็มีบางวัดที่ไม่มีกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา แต่ใช้สถานที่นี้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์เพียงอย่างเดียวและจัดกิจกรรมทางศาสนาเท่านั้น หรือเป็นที่รวมจิตรวมใจของชุมชนใกล้เคียง
          สมาคมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้ริเริ่มโครงการวัดสร้างสุขขึ้น มีวัตถุประสงค์ที่จะให้พระสงฆ์เป็นผู้นำกระแสในเรื่อง 5 ส ทั้งในเรื่องกายภาพ และจิตใจ ด้านกายภาพนั้นต้องการให้วัดเป็นศูนย์กลางชุมชน เป็นผู้นำชุมชน เป็นแหล่งที่พึ่งทางใจ ให้ประชาชนหันหน้าเข้าวัดมากขึ้นแทนที่จะพึ่งพาสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกันได้เชิญชวนภาคเอกชนลงมาทำงานสนับสนุนโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์)ให้วัดมากขึ้น โดยร่วมกันทำกิจกรรม 5 ส อาทิ การปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดการเรื่องขยะ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม  เป็นต้น
          สำหรับหลักการ 5 ส นำมาประยุกต์ใช้ได้กับจิตใจ เริ่มจาก 1. สะสาง หมายถึง พอดี ตรงกับหลักพุทธศาสนาที่ว่าอยู่กับปัจจุบัน 2. สะดวก หมายถึงระเบียบเรียบร้อย ตรงกับคำสอนทางศาสนา "ว่าง" 3. สะอาด หมายถึง ไม่สกปรก ตรงกับหลักพุทธศาสนา "รู้" 4. สร้างมาตรฐาน หมายถึง กฎเกณฑ์ ตรงกับหลักพุทธศาสนา "ศีล" 5. สร้างวินัย หมายถึงรักษากฎเกณฑ์ ตรงกับหลักพุทธศาสนา "รักษาศีล"
          จากการสำรวจ วัดที่มีพื้นที่กว้าง แต่การจัดการ เช่น บริเวณลานจอดรถ หากมีการจัดระเบียบ จะสามารถเพิ่มพื้นที่จอดรถได้ เวลามีอุบัติเหตุฉุกเฉินสามารถเคลื่อนย้ายได้ทันที ปัญหาเรื่องขยะ วัดสามารถเป็นต้นแบบการกำจัดขยะ สามารถนำขยะอินทรีย์ เศษอาหารมาทำปุ๋ย ทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้กับต้นไม้ในวัด และแจกจ่ายให้กับชุมชน หรือการทำธนาคารขยะ เป็นต้น สถานที่เก็บรองเท้า ที่เป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่มองข้ามทำให้คนเข้าวัดปัจจุบันไม่อยากถอดรองเท้าเพราะเกรงรองเท้าหาย
          นพ.ชาญวิทย์ วสันต์พนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนโครงการซีเอสอาร์ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม ทำสังคมให้เป็นสุข พัฒนารูปแบบและแนวคิด 5 ส สู่บริบทของวัด ส่งเสริมให้วัดเป็นพื้นที่ตัวอย่างทั้งด้านกายภาพและจิตใจ เพื่อขยายสู่ประชาชนต่อไป
          ด้านายอนุวรรต์ ศิลาเรืองอำไพ ผู้อำนวยการสายงานการศึกษาฝึกอบรมและวินิจฉัยให้คำปรึกษา ส.ส.ท. กล่าวเสริมว่า โครงการวัดสร้างสุข เน้นระดมความร่วมมือเครือข่ายภาคธุรกิจที่ได้รับรางวัล 5 ส แห่งประเทศไทย 25 หน่วยงาน ให้คำแนะนำและถวายความรู้แก่พระสงฆ์ สามเณร เผยแพร่เรื่อง 5 ส ไปสู่ภาคประชาชน ในปีนี้จะคัดเลือกวัดพัฒนาต้นแบบนำร่องดำเนินโครงการ 5 ส 4 วัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีศักยภาพและสนใจเข้าร่วมโครงการ พร้อมถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องวินัยสู่ประชาชน ก่อนที่จะขยายให้ครอบคลุมวัดในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศภายใน 3 ปี และผลักดันโครงการนี้ให้สู่โครงการด้านซีเอสอาร์ของภาคเอกชนต่อไป
          ก่อนที่จะดีเดย์โครงการ คณะทำงานได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับพระที่นำแนวคิด 5 ส ไปพัฒนาวัด ได้แก่ พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระมหาเฉลิม ปิยะทัสสึ วัดปัญญานันทาราม และพระปลัดนิพพาน โชติธัมโม วัดเขาวง จ.สระบุรี รวมทั้งบริษัทที่ได้รับรางวัล 5 ส เพื่อระดมความคิดเห็นจัดทำคู่มือมาตรฐาน 5 ส
          นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่าสสส.มองเรื่องสุขภาวะเพื่อจะอยู่อย่างมีความสุขในสังคมไทย ไว้ 5 ด้านได้แก่ 1. สุขภาวะทางกาย 2. สุขภาวะทางใจ 3. สังคมดี 4. จิตตะปัญญา หมายถึงมีทัศนคติที่ดีในการมีชีวิตอยู่ มีการวางแผนการใช้ชีวิตที่ดี มีธรรมะเป็นทางออก 5. มีการบริหารจัดการเงินที่ดี ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความท้าทายในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทย สสส.เชื่อว่าสังคมอยู่ยากมากขึ้นถ้าสังคมมีลักษณะเช่นนี้ สสส.ต้องการให้วัดเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ไม่อยากมองว่าวัดเป็นพื้นที่ของพระเพียงอย่างเดียว แต่บางวัดขาดระบบการจัดการ มีตัวอย่างวัดมีถังสังฆทาน 500 ถังกองรวมไว้ ของในถังหมดอายุ เพราะพระไม่มีเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ตัวอย่างนี้แค่บริษัททำซีเอสอาร์ เชิญชวนพนักงานไปร่วมสะสางสิ่งของภายในวัด ทำความสะอาดวัด ขณะที่สังคมโหยหาพื้นที่ดี ๆ แต่วัดสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะ สภาพแวดล้อมไม่ดี ส่งผลให้คนไม่เข้าวัด
          พระมหาสุทิตย์ กล่าวเสริมว่า วัดในประเทศไทยขาดการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่ดีต่างจากวัดที่ญี่ปุ่นจะมีขนาดเล็กไม่ใหญ่โต มีการออกแบบทางกายภาพทั้งการจัดสวน การก่อสร้างอาคารเข้าไปแล้วได้สัมผัสความสงบเรียบง่าย ดังนั้นหากต้องการให้วัดเป็นสถานที่พัฒนาจิตใจเริ่มต้นปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้น่าเข้าด้วย อีกทั้งกิจกรรมในวัดต้องเปลี่ยนไป หลายวัดมีการสอนสมาธิ ขณะที่บางวัดยังเปิดให้เล่นพนันในงานศพ
          ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า กิจกรรมทำซีเอสอาร์ด้วยการนำ 5 ส สู่พื้นที่วัดช่วยด้านจิตใจของพนักงาน นึกถึงภาพของพนักงาน 100-200 คนมารวมตัวกันอยู่ในวัด ช่วยกันกวาดลานวัด หากแต่ก่อนทำกิจกรรมร่วมกันมาชวนกันอาราธนาศีลในโบสถ์ จิตสงบขึ้น เชื่อว่าความโกรธ โลภ หลง ของพนักงานค่อย ๆ เบาลง อยู่ในโรงงานในบริษัทไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนี้ แต่ละคนได้ทั้งทาน ศีล ภาวนา เมื่อคนมีความสุขย่อมส่งถึงผลงาน ทำงานมีประสิทธิภาพ เวลานี้สังคมไทยต้องมองหาความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ทำให้เราอยู่กันอย่างยั่งยืน ต้องทำชีวิตให้สมดุล ทำงานอย่างเดียวไม่ได้ บางคนในวัย 30-40 ปีทำงานหนัก พออายุ 70 ป่วยเป็นมะเร็งอันเป็นผลมาจากความเครียดในวัยทำงาน หากยังอยู่แบบเดิมสังคมจะป่วยและตายในที่สุด เมื่อคนเข้าวัดช่วยให้รักษาศีล ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่สังคมไทยชอบทำบุญแต่ยังไม่ละทิ้งความชั่ว
          "ไม่ทันแล้วที่เน้นการใช้มือทำงานได้คล่อง เน้นการใช้หัวมากขึ้น ใช้หัวเพื่อคิดว่าจะใช้มือทำงานอย่างไรให้งานออกมาดีมีคุณภาพ สุดท้ายอยู่ที่การจัดการองค์กร อยู่ที่คน องค์กรต้องมีทั้งคนต้องเก่งและดี คนดีคือเห็นคนอื่นแล้วไหว้ เห็นคนอื่นเดือดร้อนแล้วช่วยเหลือ เพราะทุกสังคมต้องการคนดี หากองค์กรไม่ปรับวิธีคิดจะสู้คนอื่นไม่ได้ การทำงานต้องใช้ความคิดมากขึ้น ถ้าองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับคน เท่ากับว่ากำลังกัดกินทรัพยากรตัวเอง คนเก่งไม่กลัว กลัวคนไม่ดี" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์บอกเล่า
          สังคมไทยมีวัดเป็นศูนย์กลางทางจิตใจมาช้านาน แม้สังคมเปลี่ยนไปกี่ยุคสมัย คนทุกข์ใจก็ยังมุ่งไปใช้วัดเป็นที่พึ่งทางใจ กิจกรรมการให้ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ช่วยทำให้จิตสงบนิ่งสร้างสมดุลชีวิตได้ในที่สุด.

 


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved