HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 05/07/2555 ]
ยังมีอีกเยอะ..ไม่ค่อยรู้ 'ไวรัสภัยเด็ก' ไม่เท่าทัน..อันตราย!!

 แม้ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารทางการแพทย์ในส่วนที่เกี่ยวกับ 'สุขภาพเด็ก" จะมีหลั่งไหลออกสู่สาธารณะมากมาย ผ่านทางสื่อหลากหลายแขนง แต่กับสิ่งที่เป็นภัยต่อสุขภาพเด็กนั้น หลาย ๆ อย่างทางพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ค่อยจะเท่าทัน หลาย ๆ บ้านเมื่อลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วจึงจะรู้-จึงจะตระหนักถึงภัย
          'ภัยไวรัส" นี่ก็ 'ภัยสุขภาพเด็ก" ที่มีอยู่ไม่น้อย
          รวมถึง 'โรต้า" ไวรัสที่ทำให้เด็ก 'อุจจาระร่วง"
          'ความจริงคือ 50% ของผู้ที่เป็นแม่ ไม่เคยรู้จักเชื้อไวรัสโรต้ามาก่อนเลย" .นี่เป็นการระบุของ ศ.ดร.ลูลู่ บราโว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมะนิลา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและโรคเขตร้อน เป็นการระบุอันสืบเนื่องจากการที่เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ มีการประกาศความร่วมมือระดับภูมิภาคสนับสนุนการฉีดวัคซีน (The Immunization Partners in Asia Pacific : IPAP) โดยการร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมผลักดันขับเคลื่อนการป้องกันโรค
          ทั้งนี้ สำหรับ "ไวรัสโรต้า" นั้น มีข้อมูลระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีเด็กป่วยด้วยไวรัสนี้ถึงประมาณ 125 ล้านคน เสียชีวิต 5-6 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ก็รวมถึงเด็กไทย โดยตัวเลขเด็กไทยที่ติดเชื้อนั้น ยกตัวอย่างในปี 2552 มีรายงานว่าเด็กไทยติดเชื้อไวรัสโรต้าราว 4 หมื่นคน โดยที่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งไม่รู้จักไวรัสนี้มาก่อน
          โรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กทารก เด็กเล็ก อาการของเด็กที่ติดเชื้อคือ อุจจาระร่วงรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำ ซึ่งอาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน, เป็นไข้ ซึ่งไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และอาเจียน ซึ่งอาจอาเจียนมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน และในเด็กบางคนอาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ภายในเวลา 24 ชม. โดย การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กวัย 6 เดือน ถึง 5 ขวบ แต่กับเด็กทารกแรกเกิดในช่วงเดือนแรก ๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน และอาการก็จะหนักกว่าเด็กวัยที่โตกว่า โดยเด็กที่ติดเชื้อมีโอกาสสูงที่จะถึงขั้นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 2-7 วัน ถ้าเป็นเด็กทารกและเด็กเล็กอาจจะนานกว่านี้
          การติดเชื้อไวรัสโรต้าของเด็ก ๆ อาจจะกระทบต่อพัฒนาการและการเติบโตของเด็กด้วย โดยเด็กทุกคนมีโอกาสจะติดเชื้อไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนอายุ 5 ขวบ และเด็กก็อาจจะติดเชื้อนี้ได้หลายครั้ง แต่ครั้งแรกอาการจะรุนแรงที่สุด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งเชื้อนี้พบได้ตลอดปี อาจมีอยู่ได้ทุกที่ เชื้อจะมีชีวิตหลายวัน และค่อนข้างทน ไม่สามารถทำลายด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป ขณะที่ การติดเชื้อเกิดได้ง่ายจากการสัมผัสเชื้อซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่กับน้ำ อาหาร สิ่งของ ของเล่น เมื่อเด็กนำมือที่สัมผัสเชื้อเข้าปากก็ติดเชื้อได้แล้ว!!
          และนอกจากเป็นภัยสุขภาพ-ผลเสียต่อตัวเด็ก กับครอบครัวที่มีเด็กติดเชื้อไวรัสโรต้า ราว 2 ใน 3 จะมีผลต่อสภาพจิตใจ การทำงาน ผู้ปกครองอาจต้องขาดงาน เสียรายได้ เพื่อจะดูแลลูกหลาน นี่ก็เป็นผลเสียอีกด้าน
          อย่างไรก็ตาม หากเด็กในครอบครัวมีอาการท้องเสีย ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะ หากเด็กมีอาการถึงขั้นอุจจาระร่วง อาเจียนมาก อาจเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ซึ่งก่อนจะไปถึงแพทย์ก็ควรให้เด็กจิบน้ำเป็นระยะ ๆ และแม้ระหว่างอาเจียนก็ควรให้อาหารและนมตามปกติ
          ทั้งนี้ กับการป้องกันไวรัสโรต้าให้เด็ก คำแนะนำคือ.ล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ รักษาสุขอนามัยของสมาชิกในบ้าน บริเวณที่เด็กชอบเล่น ล้างของเล่นของเด็กเสมอ ๆ เตรียมอาหารของเด็กให้ถูกสุขลักษณะ และการ "ให้เด็กดื่มน้ำนมแม่จะช่วยให้มีภูมิคุ้มกัน" ซึ่งถึงแม้เด็กจะติดเชื้อไวรัสโรต้าก็อาจจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย นอกจากนี้ ปัจจุบันก็มี "วัคซีนชนิดกิน" เพื่อป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งก็เป็นอีกวิธีป้องกัน โดยในประเทศไทยก็มีการจัด โครงการ "คุณร่วมหยุด เราร่วมหยอด เพื่อน้องปลอดไวรัสโรต้า" โดยความร่วมมือของมูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน และทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อปกป้องเด็กไทย พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความเข้าใจให้พ่อแม่ผู้ปกครอง
          'ประเทศไทยมีพื้นฐานทางสาธารณสุขดี มีการดูแลค่อนข้างดี ทำให้เด็กในไทยมีอัตราการตายต่ำ แต่เด็กไทยก็มีการเข้าโรงพยาบาลและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาก เนื่องจากยังไม่มีการป้องกันที่ดี ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะตรงเป้าทันทีคือให้วัคซีนป้องกันโรค ถ้าเด็กได้รับความคุ้มครองโดยการฉีดวัคซีนแล้ว ก็จะไม่เป็นโรค และลดอัตราการเสียชีวิต เด็กไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน และพ่อแม่ก็จะไม่เดือดร้อนมาก".นี่เป็นการระบุของ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
          ส่วนกรณีวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ ระบุว่า.ฝ่ายวิชาการ ภาครัฐ ก็มีความเห็นว่าควรนำเข้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันวัคซีนแห่งชาติ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยมีโครงการนำร่องฉีดวัคซีนไวรัสโรต้าให้กับเด็กที่ จ.สุโขทัย แล้วเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งภายใน 2 ปีนี้ก็น่าจะเห็นผลชัดเจน
          'ไวรัสภัยเด็ก" ยังมีผู้ใหญ่อีกไม่น้อยที่ไม่ค่อยรู้
          แต่กับคนเป็นพ่อแม่นั้นจำเป็นจะต้องเท่าทัน
          มิฉะนั้นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ.'อันตรายต่อลูก".


pageview  1205894    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved