HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 27/06/2555 ]
'สโลว์ฟู้ด' ใช่แค่ทางเลือก เมื่อการกินคนไทยเปลี่ยน!

  "การทำอาหารกินเองเป็นอีกหนึ่งความปลอดภัยของการใช้ชีวิต เนื่องจากเราสามารถรู้ได้ว่าอาหารที่ทำวัตถุดิบก่อนจะนำมาปรุงเป็นอย่างไร และจะล้างน้ำให้สารปนเปื้อนต่าง ๆ ออกอย่างไร แต่ในสภาวะปัจจุบันที่เร่งรีบอาจเป็นปัญหาสำหรับหลายคน ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มทำอาหารกินเองอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งก่อน แล้วค่อยเริ่มเพิ่มขึ้นตามลำดับ"
          มื่อระบบสายพานการผลิตอาหารเชิงอุตสาหกรรมได้พาดผ่านจากโรงงานสู่ปากท้องคนไทยมากขึ้น ด้วยความสะดวก รวดเร็ว อิ่มไว แต่สำหรับผู้นิยม'สโลว์ฟู้ด" นั้นกลับมองตรงกันข้าม และตั้งคำถามหลายด้านต่อสายพานการผลิตเหล่านั้นที่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินคนไทยจากหน้ามือเป็นหลังมือ ขณะเดียวกันอาหารในระบบที่แพงขึ้นทำให้หลายคนหันมาสนใจการกินแบบ "สโลว์ฟู้ด"
          กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยารองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มองว่าช่วงหลังการกินของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากที่นิยมกินของที่ปรุงสดใหม่ หันมาเริ่มกินอาหารกระป๋องและแช่แข็งมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ตรงข้ามกับ แนวคิด "สโลว์ฟู้ด"  ที่เน้นอาหารดี สดใหม่ อร่อย สะอาด  ออกตามฤดูกาล ไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นมิตรกับผู้บริโภค โดยแนวคิดเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่อิตาลี สำหรับในไทยกลุ่มนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากในอดีตคนไทยมีแนวคิดการกินที่สอดคล้องอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันคนไทยเริ่มห่างเหินแนวคิดการกินแบบดั้งเดิมออกไปทุกที
          ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการผลิตอาหารในเชิงอุตสาหกรรมได้รับความนิยมจากคนไทยมาก เพราะสินค้าราคาถูกด้วยผลิตทีละมาก ๆ ขณะเดียวกันสภาพสังคมในตอนนี้คนในเมืองใหญ่ต่างต้องเร่งรีบทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาในการทำอาหารกินเอง เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่าอาหารที่ผ่านการผลิตจากระบบอุตสาหกรรมมีความปลอดภัยอย่างแท้จริง แม้มีตรารับรองด้านความสะอาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรายอมรับ เพราะเคยเข้าไปดูในโรงงานว่าสะอาดจริง แต่วัตถุดิบต่าง ๆ ที่กว่าจะนำมาแปรรูป ผู้บริโภคยังไม่สามารถเข้าถึงว่าพืชผักเหล่านั้นผ่านยาฆ่าแมลงอะไรมาบ้าง และจะมีผลต่อคนกินเข้าไปอย่างไร เช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคยังไม่เคยได้รับข้อมูลว่าสัตว์เหล่านั้นถูกฉีดฮอร์โมนอะไรเข้าไปและจะมีผลต่อคนอย่างไร?!
          "ถ้ามองกันจริง ๆ ถึงระบบอาหารในเชิงอุตสาหกรรมจะผลิตได้มาก และซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูก แต่ถึงวันนี้คนไทยยังบริโภคอาหารที่แพงอยู่ ขณะที่เกษตรกรยังมีรายได้เท่าเดิม นั่นแสดงให้เห็นถึงอำนาจของผู้ผลิตอาหารที่มีไม่กี่รายในไทย มีกำลังสูงที่จะกำหนดราคาสินค้าในตลาดโดยภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้หนักขึ้นเกษตรกรรายย่อยที่ไม่อยู่ในระบบของผู้ผลิตรายใหญ่จะค่อย ๆ หายไป"
          การกินแบบ "สโลว์ฟู้ด" หลายคนมองว่าต้องมีฐานะปานกลางถึงจะทำได้ เพราะต้องกินอย่างคัดสรรอาหารที่ปลอดจากสารพิษ จริง ๆ แล้วคนที่อยู่ในระดับล่างมีโอกาสเลือกมากกว่า เนื่องจากอาหารหลายอย่างที่ออกตามฤดูกาลทีละมาก ๆ ราคาจะยิ่งถูกลง ซึ่งเป็นผลดีที่จะเลือกมาปรุงเป็นอาหาร นอกจากนี้การไปเดินตลาดสดจะได้เห็นและคัดสรรอาหารที่ดีกว่าการเลือกซื้อสินค้าไม่กี่อย่างในซูเปอร์มาร์เกต
          สิ่งที่มักพูดกันมากคือ ปัญหาของอาหารที่ไม่ได้ปรุงสดมักมีสารปนเปื้อนต่าง ๆ เพื่อยืดอายุอาหาร สิ่งเหล่านี้เป็นผลลบต่อสุขภาพของคนกินเมื่อเกิดการสะสมมาก ๆ ในร่างกายจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคเบาหวาน หรือบางคนลองกินดูอาจไม่รู้สึกถึงรสชาติเลย เพราะลิ้นชาไปหมดด้วยสารต่าง ๆ ที่ใส่มาในอาหาร
          การทำอาหารกินเองเป็นอีกหนึ่งความปลอดภัยของการใช้ชีวิต เนื่องจากเราสามารถรู้ได้ว่าอาหารที่ทำวัตถุดิบก่อนจะนำมาปรุงเป็นอย่างไร และจะล้างน้ำให้สารปนเปื้อนต่าง ๆ ออกอย่างไร แต่ในสภาวะปัจจุบันที่เร่งรีบอาจเป็นปัญหาสำหรับหลายคน ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มทำอาหารกินเองอาทิตย์ละ 2-3 ครั้งก่อน แล้วค่อยเริ่มเพิ่มขึ้นตามลำดับ
          "ผู้บริโภคต้องตั้งคำถามถึงวัตถุดิบที่นำมาผลิตสินค้าให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะตอนนี้บรรดาผู้ผลิตต่างโหมโฆษณาออกมาในแง่เชิญชวนให้บริโภค แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายกระบวนการที่ผู้บริโภคยังเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนนอกจะสามารถรับรู้บางสิ่งที่ผู้ผลิตพยายามปกปิด แม้ที่ผ่านมาเราจะตั้งคำถามมากแค่ไหน ดังนั้นผู้บริโภคเองต้องตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เราจะหวังให้ภาครัฐเข้ามาช่วยไม่ได้ เพราะเสียงที่มีผลในการเปลี่ยนแปลงให้คุณภาพอาหารในประเทศดีขึ้นต้องมาจากประชาชน"
          ถ้ามองถึงการเปิดเสรีอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าที่จะมีสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามามากขึ้น เกษตรกรรายเล็ก ๆ จะยิ่งลำบากมากขึ้นเพราะจากสถิติเกษตรกรในไทยมีต้นทุนในการผลิตมากกว่าเกษตรกรประเทศอื่นในภูมิภาค และยิ่งสินค้าต่างื่ใประเทศเข้ามาราคาถูกคนจะหันไปซื้อมากขึ้น แม้รสชาติอาจจะไม่เหมือนของเราเอง ซึ่ง กินแบบ 'สโลว์ฟู้ด" ยังเน้นถึงการกินวัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่รายเล็ก ๆ อยู่ได้
          สำหรับคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากที่ต้องหันมาเรียนรู้เรื่องการทำอาหารกินเอง ลองเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ ว่านึกถึงเมนูตอนเด็ก ๆ ที่เราชอบและเริ่มศึกษาและทำดู เพราะตอนนี้อาหารสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลีนิยมมากในวัยรุ่นไทย ซึ่งทำให้พฤติกรรมการกินของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภูมิปัญญาการกินแบบไทยจะสูญหายไปตามกาลเวลา
          อนาคตเป็นเรื่องที่เราต้องพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อรักษาวัฒนธรรมการกินอาหารแบบไทย ๆ ไว้ ขณะเดียวกันต้องพยายามช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้อยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ห้อมล้อมอยู่
          การกินแบบ "สโลว์ฟู้ด" ดูเหมือนง่ายและทำได้เรื่อย ๆ แต่สิ่งสำคัญนอกจากความมั่นคงทางอาหารแล้ว อาหารคุณภาพต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างลงลึกอีกด้วย.
 


pageview  1205831    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved