HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/08/2564 ]
เพิ่มความเร็ว แจ้ง-รับตัว ผู้ป่วยโควิด

กทม.กระจายงานพื้นที่ ดึงเข้าระบบรักษาไวขึ้น หนุนศูนย์แยกกักในชุมชน
          นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการดำเนินการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (HI) และแยกกักในชุมชน (QI) เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมี รองปลัด กทม. ผอ.สำนักอนามัย ผอ.เขต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบซูม (zoom)
          โดยที่ประชุมสำนักอนามัยกล่าวถึงแนวทางการกักตัวที่บ้านว่าปัจจุบันผู้ป่วยโควิด-19 สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเป็นหมายเลขกลาง  ขณะที่ กทม. เปิดให้บริการสายด่วนโควิด 50 เขต เพิ่มเติมเขตละ 20 คู่สาย ทำให้ประชาชนมีตัวเลือกใช้บริการมากขึ้น รวมถึงการใช้บริหารผ่านแอพพลิเคชั่นด้วยการสแกนผ่านคิวอาร์โค้ดซึ่งจะมีการลงบันทึกข้อมูลผ่านทาง web portal ของ สปสช. โดยระบบจะจับคู่หน่วยบริการอัตโนมัติ และส่งไปให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้านของผู้ป่วย ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขจะตอบรับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง
          ทั้งนี้ จะมีการประเมินระดับอาการกรณีสีเขียวจะเข้าระบบกักตัวที่บ้าน หากที่บ้านไม่สามารถแยกกักได้จึงส่งกักตัวในชุมชน หรือหากประเมินแล้วเป็นสีเหลือง หรือสีแดง กรมการแพทย์จัดทำระบบ Bed Management Center โดยจะหาเตียงว่างเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งมีศูนย์เอราวัณ 1669 ดูแลรถรับ-ส่งผู้ป่วย  มีการจัดตั้งวอร์รูมที่ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง เพื่อติดตามสถานการณ์โดยบุคลากรจากสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และกรมการแพทย์
          นอกจากนี้ สวทช. และ DGA ยังพัฒนาโปรแกรม BKK HI/CI care ซึ่งสามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน โดยแพทย์สามารถติดต่อกับคนไข้ผ่านทางไลน์ (LINE OA) เพื่อสอบถามอาการป่วยรายวัน โดยได้รับความร่วมมือจากจิตอาสาหลายภาคส่วนเข้าร่วมทำงาน ยกตัวอย่าง ด้านการจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย โดยสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงทางดิลิเวอรี่ Skootar โดยแยกประเภทอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น อาหารฮาลาลสำหรับมุสลิม อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับพระภิกษุ  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่าน ครอบคลุมทั้ง 50 เขต รวมถึงการจัดส่งยาหรืออุปกรณ์แรกรับ
          สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนจะมีเอกสารคำแนะนำส่งไปให้ถึงบ้าน เช่น วิธีการวัดไข้ วัดออกซิเจน เอกสารเพื่อบันทึกอาการในแต่ละวัน พร้อมกับมีอาสาสมัครสาธารณสุข ตำรวจนครบาล จิตอาสาพระราชทาน ส่งยาให้ผู้ป่วย ในพื้นที่ กทม.มี 238 แห่ง รองรับผู้ป่วยประมาณ 80,000-100,000 คน
          ส่วนศูนย์แยกกักในชุมชน หรือที่เรียกว่าศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ปัจจุบันมี 62 แห่ง กระจายใน 50 เขต เปิดบริการแล้ว 47 แห่ง (ณ วันที่ 4 ส.ค.) สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 7,926 เตียง ทั้งนี้ ปลัด กทม. ได้มอบหมายให้สำนักอนามัย พิจารณาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์พักคอยฯ ให้เอื้อต่อการทำงานได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมจัดทำแนวทางในการนำผู้ป่วยโควิด-19 เข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน และการแยกกักในชุมชน เพื่อให้เกิดแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วด้วย อีกทั้งกำชับสำนักงานเขตดูแลให้คำแนะนำการจัดตั้งศูนย์แยกกักโดยชุมชน ให้สามารถดำเนินการได้ เพื่อช่วยลดผู้ป่วยตกค้างในชุมชนโดยเร็วที่สุด.


pageview  1205836    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved