HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 11/06/2564 ]
ไฟเขียว อปท.-เอกชน ซื้อวัคซีนผ่านศบค

 เคาะราคา ซิโนฟาร์ม เข็มละ888
          "ราชกิจจาฯ" ไฟเขียว เพิ่มหน่วยงานรัฐนำเข้าวัคซีน เปิดทาง อปท.-เอกชนขอซื้อได้ เพื่อเร่งกระจายฉีดตามเป้า 50 ล้านคน มีเงื่อนไขต้องผ่าน ศบค. "สมช." ห่วงสั่งซื้อเข้ามากเกิดปัญหาภายหลัง เหตุไม่มีคนฉีดเพราะสถานการณ์ดีขึ้น เผย เอกชนจองซิโนฟาร์มโมเดอร์นาแล้ว 3-5 ล้านโด๊ส แต่ยังไม่กำหนดวัน "ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์" เคาะราคา "ซิโนฟาร์ม" เข็มละ 888 บาท ฮึ่ม ใครหาผลประโยชน์เจอปรับ 15 เท่า "ศบค.มท." สั่ง ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เข้ม อปท.ซื้ออย่าเหลื่อมล้ำเด็ดขาด "อนุทิน" แจง ให้วัคซีน กทม.มากเหตุระบาดหนัก โยน สังขละบุรีถามจังหวัดเองได้วัคซีนแค่ 1 ขวด
          ไฟเขียวนำเข้าวัคซีน
          เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) โดยมีใจความว่า  เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว เป็นไปตามมาตรการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19
          นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. โดยข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้ 1.ให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอแก่ประชาชน โดยอย่างน้อยให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร (ไม่น้อยกว่าจำนวนประชากร 50 ล้านคน) 2.ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานงานส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการดำเนินการขึ้นทะเบียนวัคซีน ให้เป็นไปอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ
          เพิ่มหน่วยงานรัฐซื้อได้
          3.ให้กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สภากาชาดไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์ หรือสาธารณสุขแก่ประชาชนร่วมมือกันจัดหา สั่งหรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ภายใต้กฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานนั้น ๆ กำหนด
          4.เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชน เข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น สถานพยาบาลเอกชนและภาคเอกชน อาจจัดหาหรือขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากหน่วยงานตามข้อ 3 ภายใต้กฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาให้บริการประชาชน หรือบุคลากรในความดูแลได้ตามความเหมาะสม โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยา และต้องพิจารณากำหนดราคาวัคซีนและการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
          มีข้อแม้เอกชนขึ้นตรง ศบค.
          5.โดยที่ในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรยังมีจำนวนจำกัด หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากหน่วยงานตามข้อ 3 และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องรวมถึงหลักเกณฑ์ หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. และต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ ศบค. หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด การดำเนินการของ อปท.ในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามแนวทาง หรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีนของ อปท. ที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน และเพื่อให้การกระจายวัคซีนในห้วงเวลาวิกฤติมีความเป็นธรรมมากที่สุดให้ อปท. สนับสนุนและให้ความสำคัญในการอำนวยความสะดวก แก่ประชาชนในพื้นที่ในการเข้ารับบริการฉีดวัคซีน เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวมของประเทศ
          6.ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วน เชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์ม "หมอพร้อม" ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีน และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.2564
          ย้ำห้ามซื้อตรงบริษัท
          ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาฯสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. กล่าวว่า ซื้อได้กับหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตนำเข้าเท่านั้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขในการจำหน่าย หากซื้อต้องจัดสรรปริมาณกันทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้น หน่วยงานที่นำเข้าวัคซีนมาในราชอาณาจักรได้ เช่น กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้เอกชนและ รพ.เอกชนจัดซื้อวัคซีนจากหน่วยงานข้างต้นได้ แต่ไม่สามารถสั่งตรงจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนได้ และให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนเองได้แต่ต้องดูระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย รวมถึงแผนงานงบประมาณและแผนวัคซีนของ ศบค.ด้วยเพราะ อปท.ต้องใช้งบประมาณของแผ่นดินเช่นกัน ต้องใช้งบอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ต้องสอดคล้องกับแผน ศบค.
          ยันต้องสอดคล้อง ศบค.
          พล.อ.ณัฐพล ระบุว่า ศักยภาพงบประมาณที่แตกต่างของแต่ละ อปท. อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ อยากให้ทำหน้าที่แค่สนับสนุน อำนวยความสะดวกจัดประชาชนตามที่ ศบค. หรือ สธ.ดำเนินการอยู่หากซื้อต้องดูกฎหมายแผนงานที่ ศบค.กำหนดว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ ศบค. พิจารณากระจายวัคซีนได้เหมาะสมแล้ว โดยพิจารณาจากสัดส่วนประชากร สถานการณ์การแพร่ระบาด ดังนั้นจังหวัดใดที่สถานการณ์การแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่เสี่ยง จะได้รับฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นและพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ละ อปท.ที่จะซื้อต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จึงนำมาเข้า ศบค.อีกครั้งแต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วทุก อปท.จะสามารถซื้อวัคซีนได้เองในทันที
          ต่อข้อถามว่าเอกชนที่จัดซื้อวัคซีน ไม่ต้องผ่านการพิจารณาจาก ศบค. เพราะหน่วยงานที่นำเข้ามาจะรายงานให้ ศบค.รับทราบอยู่แล้ว เลขาฯสมช.ตอบว่า การจัดซื้อของเอกชนสามารถดำเนินการควบคู่กับการกระจายวัคซีนของ ศบค. เพราะคนไทยฉีดได้เร็วเท่าใดยิ่งดี ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมวัคซีนไว้จำนวน 100 ล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้คนไทย 50 ล้านคน จาก 67 ล้านคน รวมกับต่างชาติที่อยู่ในไทย 2.6 ล้านคนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ยอมรับปัญหาขณะนี้คือไม่ทราบว่าคนไทย ที่ต้องการฉีดวัคซีนมีจำนวนเท่าใด หากสั่งวัคซีนเข้ามาในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาในภายหลังเพราะไม่มีคนฉีด หากมองปัญหาในอนาคตเป็นเรื่องลำบาก เมื่อถึงวันนั้นจะถูกสื่อมวลชนตำหนิ ขอให้ทุกคนนึกถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าเมื่อถึงเดือน ก.ย.สถานการณ์ดีขึ้น ถ้ามีคนไทยต้องการฉีดเท่าใด มีการเตรียมวัคซีนไว้จำนวนหนึ่งคิดว่ามีปริมาณมากพอ อย่างไรก็ตามวัคซีนที่เอกชนจะจัดซื้อเข้ามามีประมาณ 3-5 ล้านโด๊ส แต่ยังไม่ทราบว่าจะนำเข้ามาในช่วงเวลาใด เนื่องจากเพิ่งประกาศและไม่ทราบว่ามีการติดต่อซื้อกับบริษัทผู้ผลิตใด เท่าที่ทราบมีเพียงซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา
          ปรับ 15 เท่าราคาวัคซีน
          ด้าน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาฯราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "NithiMahanonda"  ใจความสรุปว่า "ประกาศข้อกำหนดผู้ขอรับการจัดสรรวัคซีน ตัวเลือกซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 คือเป็นองค์กรนิติบุคคลหรือหน่วยงานทั้งภาครัฐ (สำหรับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้เป็นไปตามประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีน องค์กรการกุศลและหน่วยงานเอกชน โดยจะพิจารณาการจัดสรรในระยะที่ 1 ตามประเภทการดำเนินงานของหน่วยงาน (ความสำคัญด้านความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ) ระดับความเสี่ยงของโอกาสในการแพร่เชื้อให้กับสังคม และระดับความเสี่ยงโควิดบนพื้นที่ ของทำเลที่ตั้งสถานประกอบการ
          องค์กร/หน่วยงานสามารถจัดสรรวัคซีนให้แก่กลุ่มบุคคล ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกได้ทุกประเภท ทั้งพนักงาน ครอบครัวพนักงานและแรงงานต่างชาติ แต่ไม่อนุญาตให้เรียกเก็บเงินค่าวัคซีนและค่าบริการอื่น ๆ กับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ และห้ามหาผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งนี้หากองค์กร/หน่วยงานใดฝ่าฝืนระเบียบ ตามข้อกำหนดราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะดำเนินการปรับในอัตรา 15 เท่า ของมูลค่าวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร องค์กร/หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือก ยินดีร่วมช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาควัคซีนตัวเลือกจำนวน 10% ของจำนวนวัคซีนตัวเลือกที่ได้รับการจัดสรร จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อให้กับชุมชนผู้ด้อยโอกาส โดยรายละเอียดและขั้นตอนในเรื่องนี้จะแจ้งให้ทราบต่อไป
          ซิโนฟาร์มเข็มละ 888 บาท
          องค์กร/หน่วยงานต้องประสานจัดหา รพ.เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนตัวเลือกโดย รพ. ดังกล่าวต้องได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นสถานพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีนตัวเลือกกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อควบคุมมาตรฐานความปลอดภัย โดยค่าบริการฉีดวัคซีนนั้นสถานพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้กับองค์กร/หน่วยงานนั้นได้ แต่ห้ามเรียกเก็บจากผู้รับการฉีดเป็นอันขาด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนดอัตราวัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" ราคาเข็มละ 888 บาท โดยอัตรา ดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษาพร้อมประกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากวัคซีนแล้วแต่ไม่รวมค่าบริการของ รพ. และค่าบริการทางการแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละ รพ.ที่ทางองค์กร/หน่วยงานติดต่อประสานเพื่อการบริการฉีดวัคซีน สำหรับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในระยะที่ 2 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะเข้ารับการฉีดวัคซีนตัวเลือกนี้ จะประกาศให้ทราบต่อไป หลังจากตรวจสอบระบบความปลอดภัย และการเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานพยาบาลแล้ว
          ศบค.มท.สั่งผู้ว่าฯเข้ม
          ขณะที่นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ปภ.)ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่
          เกี่ยวกับการสั่งการ และประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค. มท.) สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามแนวประกาศ ศบค. อย่างเคร่งครัด ในส่วนของการจัดหาวัคซีนของ อปท. นั้นหาก อปท. จะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ต้องสอดคล้องกับแนวทาง ศบค. หรือนายกฯกำหนด และเป็นไปตามแนวทางหรืออยู่ในการกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดหาวัคซีน ที่มีศักยภาพด้านงบประมาณและรายได้ที่แตกต่างกัน
          "อนุทิน"อนุโมทนา
          วันเดียวกันนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนนอก รพ.ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค ก่อนจะกล่าวถึงกรณีวัคซีนทางเลือกว่า หากมีหน่วยงานใดเข้ามาให้การสนับสนุน ช่วยเหลือเป็นประโยชน์กับประชาชน สธ. ยินดี และขออนุโมทนาสาธุด้วย สธ. พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ในส่วนของ สธ. นั้น อปท. ยังไม่ได้ประสานมา ถ้าติดต่อมาต้องมีการพิจารณา ถ้า อปท. จะซื้อและฉีดต้องดูแผนของ ศบค. เพื่อไม่ซ้ำซ้อนกัน ย้ำว่าสิ่งที่ทำต้องเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง หากผลประโยชน์เกิดกับคนใดคนหนึ่ง สธ. ไม่ยอม
          แจงให้ กทม.มาก
          นายอนุทิน เปิดเผยอีกว่า สธ.ได้ส่งวัคซีนให้ตามร้องขอจาก กทม. เพื่อกระจายไปยังจุดฉีดทั้งในและนอกสถานพยาบาล โดยกรุงเทพฯได้จัดสรรวัคซีน 2 ล้านโด๊ส เพราะมีการระบาดมาก ส่วนต่างจังหวัดสถานการณ์เบาลงแล้วมีเพียง 3-4 จังหวัดที่ยังมีคลัสเตอร์แต่ควบคุมได้ ดังนั้นวันนี้ปัญหาใหญ่คือกรุงเทพฯ ถ้าแก้ปัญหาในกรุงเทพฯได้เท่ากับแก้ปัญหาของประเทศได้ เพราะกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางที่ผู้คนทั่วประเทศมาทำมาหากิน มาใช้ชีวิตและสัญจร เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ
          โยนสังขละบุรีถามจว.
          ต่อข้อถามการจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังมีไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น อ.สังขละ บุรี จ.กาญจนบุรี ที่มีรายงานว่าได้วัคซีนเพียง 1 ขวด จะมีการพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า การจัดสรรวัคซีนจะคำนวณจากจำนวนวัคซีนหารด้วยจำนวนจังหวัดและหารด้วยจำนวนประชากรในจังหวัด แล้วมาเทียบกับปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ จะออกมาเป็นตัวเลขของวัคซีนในแต่ละจังหวัด ไม่มีจังหวัดไหนที่ได้เท่ากันแน่นอน เป็นการจัดสรรอย่างเป็นธรรม จากนั้นกรมควบคุมโรคกระจายวัคซีนลงไปตามจำนวนที่คำนวณแล้ว ทางจังหวัดจะเป็นผู้บริหารจัดการจัดส่งเอง ดังนั้นในส่วนของ อ.สังขละบุรี อาจต้องไปดูว่าไม่ใช่พื้นที่การระบาดหรือไม่ ถึงได้รับวัคซีนในจำนวนเท่านั้น เรื่องนี้ต้องไปถามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด.


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved