HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 31/05/2564 ]
5 จุดวิธีสังเกต โรคปวดหลังในผู้สูงอายุ

 ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมองว่า "อาการปวดหลัง" เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น จึงซื้อยามารับประทานเอง แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องปกติหรือไม่ปกติ บางอาการหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจนำไปสู่ความพิการตามมาได้
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ "นพ.สิทธิพงษ์ สุทธิอุดม" ศัลยแพทย์ระบบประสาท แพทย์หัวหน้าศูนย์กระดูกสันหลัง รพ.นครธน อธิบายว่า อาการปวดหลังนั้นรบกวนการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมาก ยิ่งหาก "ปวดเรื้อรัง" ก็เสี่ยงกับ "โรคกระดูกสันหลัง" ที่รุนแรงในอนาคต
          ทั้งนี้สาเหตุของอาการปวดหลัง เกิดจาก 1. อุบัติเหตุหกล้ม ซึ่งเราพบว่าส่วนใหญ่จะล้มในห้องน้ำ ล้มก้นกระแทกพื้น เกิดกระดูกสันหลังยุบได้มาก 2.กระดูกเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุจะมีกระดูกบางลง ยิ่งผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนก็จะมีแคลเซียมในกระดูกน้อยลง
          วิธีสังเกตผู้สูงอายุในบ้านเกี่ยวกับอาการปวดหลัง 1. ผู้สูงอายุจะเคลื่อนไหวน้อยลงเพราะกระดูกสันหลังเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ประสานกับการทำงานส่วนอื่น ๆ ในการเคลื่อนไหวของร่างกายหากผู้สูงอายุมีอาการปวดหลัง ก็จะมีลักษณะ ที่เริ่มผิดปกติไปจากเดิม เนื่องจากคนไข้ อาจจะมีอาการปวดหรือทรมานในเวลาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ค่อยลุกเดินหรือเคลื่อนไหว ตามปกติที่เคยเป็น
          2. ติดนอนทั้งวันจนไม่ยอมลุกไปทำกิจกรรมที่ตนชอบ โดยปกติจากคนที่ชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อมีอาการปวดหลัง หรือสัญญาณเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกแต่อยากจะนอนอยู่กับที่เดิม ๆ ในบริบทเดิม ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด และเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด
          3. ใช้เวลาในการเข้าห้องน้ำนานกว่าปกติ เนื่อง จากผู้สูงอายุต้องคอยระวังตัวในการเข้าห้องน้ำอยู่แล้วเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การลื่นล้มซึ่งส่งผลอันตรายเป็นอย่างมาก และผู้สูงอายุที่มีอาการปวดหลังที่ตามมาอีก ก็ยิ่งทำให้เคลื่อนไหวตัวได้ช้าลงมากกว่าปกติจึงใช้เวลานานในการเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง
          4. ผู้สูงอายุอาจมีเสื้อผ้าเปียกปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อมีอายุที่มากขึ้น การกลั้นปัสสาวะและอุจจาระจะมีประสิทธิภาพที่ลดลงรวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นปัญหา อาจทำให้เดินทางไปยังห้องน้ำช้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือลุกไปไม่ไหวนั่นเอง
          5. อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอาการที่ค่อนข้างอันตรายมาก ๆ เพราะอาการนี้แสดงให้เห็นถึงการปวดหลังที่เรื้อรังหรือมีระยะเวลานาน จึงทำให้กระดูกทับเส้นประสาทหรือเส้นประสาทอักเสบ เดินไม่ได้ไกล มีอาการชาร่วมด้วย และอาจส่งผลอันตรายไปสู่ความพิการได้ ดังนั้นจำเป็นต้องดูแล และสังเกตอาการอยู่เป็นประจำ
          "นพ.สิทธิพงษ์ ระบุว่า สำหรับ แนวทางการรักษานั้นทีมแพทย์ตรวจรักษา จะต้องดูความผิดปกติทางกระดูกสันหลัง ไขสันหลัง และเส้นประสาท อย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุของโรคอย่างแท้จริง และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม กับผู้ป่วยแต่ละราย
          ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่ต้องผ่าตัด จะรักษาด้วยการรับประทานยา ใส่อุปกรณ์เสริมช่วยรัดหลัง ออกกำลังกายเพื่อเสริมกล้ามเนื้อหลัง ตลอดจนการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวด เบื้องต้นผู้ป่วยกว่า 70% จะดีขึ้น
          แต่หากจำเป็นต้องผ่าตัด ในการให้การผ่าตัดแก่ผู้ป่วยด้วยกล้องเอ็นโดสโคป แผลเล็กแค่ 8 มิลลิเมตร เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้ไว ลดอาการปวดจากการผ่าตัด หลังการรักษาทางทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่จะแนะนำรายละเอียดการดูแลเป็นพิเศษเกี่ยวกับวิธีนอนและวิธีนั่งที่ถูกต้อง วิธีการลุกขึ้นยืนอย่างปลอดภัยแก่ผู้ป่วย รวมไปถึงการได้รับการรักษาจากหมอกายภาพของโรงพยาบาลในกรณีที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษมีการรักษาที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ต่อไป.


pageview  1204953    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved