HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 01/06/2555 ]
หน้าฝนระวัง'เห็ดมรณะ'พิษรุนแรงเปิบตายสถานเดียว สธ.เตือนห้ามบริโภคเด็ดขาดหลังสังเวยแล้ว 9 ศพ

 ช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของเห็ด ทำให้มีเห็ดป่าหลายชนิดที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ประกอบกับคนไทยนิยมบริโภคเห็ด เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เห็ดบางชนิดไม่สามารถรับประทานได้ เนื่องจากมีสารพิษเป็นส่วนประกอบ เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการมึนเมา ประสาทหลอน หากบริโภคมากเกินไปอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์น่าสลดใจที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านป่าโปงสูง ต.ป่าโปง และราษฎรบ้านคอนผึ้ง ต.แม่คะตวน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ที่กินเห็ดพิษเข้าไปจนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 9 ศพ จากจำนวนผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเข้าไป 17 ราย สาหัส 4 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
          นายแพทย์ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุข จ.แม่ฮ่องสอน ประกาศเตือนราษฎรที่ชอบรับประทานเห็ดว่า ขณะนี้มีราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าโปงสูง หมู่ 1 ต.ป่าโปง เสียชีวิต 6 ราย และบ้านคอนผึ้ง หมู่ 5 ต.แม่คะตวนเสียชีวิตอีก 3 ราย ส่วนคนที่รอดชีวิตจากการกินเห็ดพิษ เนื่องจากกินปริมาณไม่มากซึ่งการกินเห็ดพิษเสียชีวิตในครั้งนี้ ทำให้หมู่บ้านป่าโปงสูงบรรยากาศถึงกับเงียบเหงา ชาวบ้านอยู่ในสภาวะซึมเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
          อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุสลด นายแพทย์ศรัญ พรมวังขวา พร้อมทีมแพทย์ สสอ. เจ้าหน้าที่จิตวิทยา กว่า 10 คน เดินทางเข้าไปให้การรักษาพยาบาล และเยียวยาจิตใจราษฎรชาวไทยภูเขาบ้านป่าโปงสูง พร้อมติดตามอาการ 2 หนูน้อยที่รอดชีวิตจากการกินเห็ดพิษเข้าไป ทั้งนี้หลังเกิดเหตุร้ายผู้เฒ่าผู้แก่ภายในหมู่บ้านต่างคิดและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องมีเรื่องที่ไม่ดี มีการผิดผี หรือผิดประเพณี เกิดขึ้นในหมู่บ้านแน่นอน เพราะไม่ถึง 2 ปีก็มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นในหมู่บ้านถึง 2 ครั้ง โดยเมื่อต้นปีที่แล้วเกิดฟ้าผ่ากระบือตายยกฝูง 12 ตัว มาในปีนี้เวลาใกล้เคียงกันก็มีคนในหมู่บ้านตายพร้อมกันถึง 6 ราย ถือเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนในหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนต่างจับกลุ่มพูดคุยหารือแนวทางในการแก้อาเพศที่เกิดขึ้น บทสรุปคือชาวบ้านต่างช่วยกันรื้อบ้านของผู้ตายซึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นเสาหลักของบ้าน หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากเชื่อว่าหากผู้หญิงเสียชีวิตจะทำให้ครอบครัวไม่เป็นสุขต้องรื้อบ้านเรือนทิ้งแล้วสร้างที่แห่งใหม่ หรือไปอาศัยกับญาติพี่น้อง หากต้องการกลับมาสร้างที่ดินเก่า ต้องปล่อยทิ้งร้างไว้ 3 ปี
          ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับครอบครัวที่กินเห็ดพิษตายนั้น ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 43 จ.แม่ฮ่องสอน ได้มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 1,000 บาท จำนวน 6 ราย
          สำหรับเหตุการณ์เห็ดพิษเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-28 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน จ.แม่ฮ่องสอน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 3 ครั้ง คือใน อ.สบเมย 2 ครั้ง อ.ปางมะผ้า 1 ครั้ง โดยสรุปดังนี้ เหตุการณ์แรก มีผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษจำนวน 8 ราย ที่หมู่ 1 ต.ป่าโปง อ.สบเมย ซึ่งเป็นการรับประทานเห็ดพิษใน 2 ครอบครัว มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเสียชีวิตที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เห็ดที่รับประทานนำมาจากเพื่อนบ้านรายหนึ่ง ลักษณะเป็นดอกสีขาวยังไม่ตูม ทีมสอบสวนโรคได้ส่งตัวอย่างเห็ดจากบริเวณป่าที่ไปเก็บ และเห็ดที่ผู้เก็บไปชี้จุดยืนยันเก็บส่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจำนวน 6 ตัวอย่าง ซึ่งยังไม่ทราบผล เหตุการณ์ครั้งที่ 2 มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเนื่องจากการกินเห็ดเข้ารับการรักษาใน รพ.สบเมย 4 ราย ทั้งหมดเป็นผู้ป่วยชาวกะเหรี่ยง โดยเก็บเห็ดจากป่าบริเวณบ้านห้วยหวาย หมู่ 2 ต.แม่สวด อ.สบเมย จำนวน 5 ดอก เห็ดดังกล่าวมีลักษณะดอกตูม สีขาว หมวกเห็ดมีลักษณะเรียบลื่น ไม่มีเมือกหรือยางเหนียว ผู้เก็บเข้าใจว่าเป็นเห็ดไข่ห่านไข่เหลือง จึงนำมาแกง ก่อนจะถูกส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่ รพ.ลานนาเชียงใหม่ 1 ราย รพ.นครพิงค์ จำนวน 2 ราย รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย ต่อมาเสียชีวิต 3 ราย รอด 1 ราย และเหตุการณ์ล่าสุด มีผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเนื่องจากการกินเห็ดเข้ารับการรักษาใน รพ.ปางมะผ้า 5 ราย เป็นกลุ่มทหาร จากฐานปฏิบัติการหลักแต่ง ต.นาปู่ป้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ได้ให้ประวัติรับประทานเห็ดที่มีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกหิน ขณะนี้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ออกจากโรงพยาบาลปางมะผ้าแล้ว 1 ราย อีก 4 รายส่งตัวไปรักษาต่อที่ รพ.ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง โดยในจำนวนนี้ 2 ราย อาการหนัก เตรียมส่งต่อไปรักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ
          ด้าน ว่าที่ร้อยตรี อัสชล บุญมาดำ นักวิชาการชำนาญการ จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสบเมย และ นายกฤต วงศ์น้อย หัวหน้าสถานีอนามัยแม่กองแป เดินทางพร้อม นายไมตรี ชีวพิพัฒกุล ราษฎรบ้านป่าโปงสูง ต.ป่าโปง อ.สบเมย เป็นผู้ที่เข้าไปเก็บเห็ดจากป่ามาแบ่งปันให้เพื่อนบ้านปรุงอาหาร ส่งผลทำให้เพื่อนบ้านเสียชีวิตไป 6 ราย ได้พาเจ้าหน้าที่ไปดูพื้นที่เก็บเห็ดพิษในป่า เพื่อนำตัวอย่างมาตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งพื้นที่ที่เก็บเห็ดพิษนั้นอยู่ห่างจากพื้นที่การเกษตร และพบว่ามีเห็ดหลากหลายชนิดเกิดขึ้น คล้าย ๆ กับพวกเห็ดไข่ห่าน บางชนิดมีวงแหวนรอบ บางชนิดไม่มี
          ซึ่งดูความแตกต่างของเห็ดพิษ และไม่มีพิษ แทบไม่ออก เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างเห็ดทั้งหมด เพื่อส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อีกครั้งภายหลังมีผู้กินเห็ดพิษเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์ไพศาล ได้ออกมาประกาศเตือนสั่งงดเก็บ และบริโภคเห็ดไข่ห่านไข่เหลือง โดยเน้นประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแขนงให้งดรับประทานเห็ดไข่ห่าน หรือไข่เหลือง เพราะไม่สามารถแยกแยะได้ชัดเจนว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ ไม่เช่นนั้นจะเกิดมีผู้เสียชีวิตอีก เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดไข่ เห็ดถอบ เห็ดโคน เห็ดหล่ม ที่กินได้ไม่มีพิษ แต่เห็ดบางชนิดมีสีขาวเหมือนเห็ดธรรมดา เมื่อยังอ่อนจะคล้ายเห็ดที่รับประทานได้กระจายอยู่ทั่วไป
          สำหรับเห็ดไข่จะมีลักษณะดอกสวยมี 2 สี คือ สีเหลือง และสีขาว ดอกตูมคล้ายไข่ไก่ โดยเฉพาะเห็ดที่เก็บมาจากป่า หากเป็นเห็ดมีพิษจะมีลักษณะสีเข้มฉูดฉาด เช่น สีแดงส้ม มีวงแหวนพันรอบก้าน ดอกมีขน และหนามเล็ก ๆ มีเมือกหรือน้ำยางสีขาวออกมาที่หมวกเห็ด เมื่อรับประทานเห็ดพิษเข้าไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ทำให้ปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนอย่างรุนแรง บางชนิดทำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน บางรายบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
          นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมเหล้า เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และทำให้พิษกระจายได้รวดเร็วรุนแรงขึ้น หากพบผู้รับประทานเห็ดมีพิษควรช่วยเหลือปฐมพยาบาล โดยพยายามทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาอาหารออกมาให้หมด ซึ่งจะทำให้มีอาการดีขึ้น แล้วให้นำส่งต่อโรงพยาบาล ขอเตือนประชาชนผู้บริโภคเห็ด ควรระมัดระวังการเลือกเก็บเห็ดมาบริโภค หรือจำหน่ายด้วย อย่ารับประทานเห็ดที่ไม่รู้จัก หรือไม่รู้แหล่งที่มา ควรตรวจสอบให้ดีก่อน เนื่องจากปัจจุบันรูปทรงของเห็ดแต่ละชนิดมีลักษณะคล้ายกันจนบางครั้งแยกแทบไม่ออกว่ามีพิษหรือไม่ ทั้งนี้หากไม่มั่นใจเห็ดที่เก็บมา หรือคนนำมาให้อย่านำมาปรุงอาหารรับประทานเด็ดขาด ทั้งนี้เห็ดที่ชาวบ้านเก็บมาบริโภคจะมีลักษณะคล้ายเห็ดระโงกหรือที่เรียกว่าเห็ดไข่ห่าน ไข่เหลือง มีสารพิษซึ่งสามารถทำลายเซลล์เกือบทุกส่วนของร่างกาย อาการจะเริ่มเมื่อได้รับพิษประมาณ 6-12 ชั่วโมง หรือบางรายอาจถึง 24 ชั่วโมง เริ่มจากทางเดินอาหารผิดปกติ อาเจียน ท้องเดิน เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ได้รับพิษอาจตายในระยะแรกที่ตับบวมโต เจ็บบริเวณตับ และตับไม่ทำงาน
          ปัจจุบันจากการรักษายังไม่มียาต้านพิษโดยเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเข้าไป พิษจะไปทำลายตับมากที่สุด และทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะภายในร่างกาย ทั้งลำไส้ กระเพาะอาหาร ไต บางชนิดทำลายระบบประสาท คนที่รับประทานเห็ดพิษเข้าไปปริมาณมาก ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตแทบทุกราย.
 


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved