HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 30/05/2555 ]
ขี้ยาพุ่ง13ล.คนอัดสธ.ล้มเหลว'บุหรี่ถูก'สุดฮิต

 แฉฮิตสูบบุหรี่ซองราคาถูก ยอดสิงห์อมควันไทยทะลุ 13 ล้านคน เพิ่มจากปี 52 ถึง 5 แสนคน ด้าน "สธ.-หมอประกิต-หมอหทัย" ยอมรับไทยเสียชื่อ-เสียหน้า ล้มเหลวคุมการสูบบุหรี่ในรอบ 20 ปี ด้าน "ตูมตาม เดอะสตาร์" แนะวัยรุ่นเน้นการเรียน เล่นกีฬา เล่นดนตรี เพราะสูบบุหรี่มีแต่ทำให้ชีวิตมอดไหม้
          เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข แถลงว่า ในวันที่ 31 พ.ค.ของทุกปีองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่ ปีนี้กำหนดประเด็นรณรงค์ว่า "จับตา เฝ้าระวัง ยับยั้งอุตสาหกรรมยาสูบ" เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์อุตสาหกรรมบริษัทบุหรี่ ทั้งนี้สาเหตุที่การสูบบุหรี่ยังไม่ลดลงเนื่องจากอุตสาหกรรมยาสูบดำเนินกิจกรรมการสื่อสารการตลาด กิจกรรมสาธารณประโยชน์แอบแฝง จากข้อมูลการสำรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค.-30 ธ.ค. 2554 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติแห่งชาติ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 20,606 คน พบว่า คนไทยมีแนวโน้มการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น มีผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดทั้งที่มีควันและไม่มีควัน 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 5 แสนคน
          "เมื่อถามว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มแข็งหรือไม่ นพ.สุรวิทย์ กล่าวว่า ไม่ถึงกับว่าการบังคับใช้กฎหมายล้มเหลว อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยินดีรับผิดชอบ โดยจะหารือกับ ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป" รมช.สาธารณสุข กล่าว
          ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่จะดำเนินการ เข้มข้น คือ 1. ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เพิ่มโทษมากขึ้น2. ร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผ่านสื่อสารมวลชน 3. ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้มีการจัดบริการช่วยเลิกสูบบุหรี่แบบเบ็ดเสร็จในสถานบริการสุขภาพทุกระดับเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึง4. เพิ่มการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยไร้บุหรี่ โดยเน้นกิจกรรมสำหรับเยาวชนมากขึ้น  5. เพิ่มความเข้มงวดกับร้านค้าที่จำหน่ายบุหรี่ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 6. บังคับใช้ซองที่แบ่งขายบุหรี่จะต้องมีคำเตือนเช่นเดียวกับบุหรี่ซองชนิดอื่น ๆ ซึ่งตรงนี้อาจจะบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
          ส่วน ดร.ศรัณญา เบญจกุล สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ผลการสำรวจล่าสุด พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดมีจำนวน13 ล้านคน เป็นบุหรี่จากโรงงาน  5.1  ล้านคน บุหรี่มวนเอง 4.7 ล้านคน สูบทั้งบุหรี่จากโรงงานและมวนเอง 3.1 ล้านคน  สูบบุหรี่ชนิดมีควันอื่น เช่น ไปป์ ซิการ์ บารากู่ 1 แสนคน ทั้งนี้พบว่าอัตราการสูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-17 ปี เข้าถึงบุหรี่ได้ ง่ายขึ้น เห็นได้จากการซื้อบุหรี่ครั้งสุดท้ายแบบแบ่งมวนขายเพิ่มขึ้นจาก 84.3% ในปี 2552 เป็น 88.3% ในการสำรวจล่าสุด เยาวชนสูบบุหรี่ที่อายุน้อยลง จากเดิมเริ่มสูบอายุ 18.5 ปี เป็น 17.4 ปี
          ดร.ศรัณญา กล่าวต่อว่า สำหรับการได้รับควันบุหรี่มือสอง พบว่า สถานที่ 5 อันดับแรกที่ได้รับควันบุหรี่สูงสุดได้แก่ ตลาด สถานบันเทิง ร้านอาหาร มหาวิทยาลัย และที่ทำงาน โรงเรียนมีแนวโน้มได้รับควันบุหรี่ลดลง แต่1 ใน 4 ยังคงได้รับควันบุหรี่ที่โรงเรียน ส่วนบ้านเป็นสถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า บุหรี่ราคาถูก 35-40 บาทต่อซองอยู่ใน 5 อันดับแรกของบุหรี่ยอดนิยมที่มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 35.5% โดยในปี 2552 พบเพียงยี่ห้อเดียว แต่ปี 2554 พบบุหรี่ราคาถูก 2 ยี่ห้อติดอยู่ใน 5 อันดับแรกบุหรี่ขายดี ส่วนการโฆษณาบุหรี่ซึ่งกฎหมายห้ามโฆษณาทุกสื่อ พบว่าประชาชน 18.2% ยังเห็นโฆษณาบุหรี่โดยเฉพาะการตั้งโชว์ที่ร้านค้า นอกจากนี้ประชาชน 34.3% ยังมีความเชื่อว่า บุหรี่มวนเองมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในชนบทมีการศึกษาน้อย
          ขณะที่ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากผลการสำรวจการบริโภคยาสูบล่าสุดทำให้ประเทศไทยเสียชื่อ เพราะ คนสูบบุหรี่มากขึ้นทั้งจำนวนและเปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่การรณรงค์เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า นักสูบลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามเรามีหลักฐานทางวิชาการว่าการสูบบุหรี่จะมากขึ้นหากไม่ใช้มาตรการที่สำคัญคือ อย่างแรกการเพิ่มภาษีบุหรี่และราคาให้สูง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง แต่ประเทศไทยทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จเพราะเมื่อมีการขึ้นภาษีแล้วบริษัทผู้ผลิตกลับทำบุหรี่ราคาถูกออกมาสู่ตลาด มาตรการต่อมาคือการปราบปรามการโฆษณา การส่งเสริมการขาย และมาตรการป้องปรามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน และแม้กระทั่งในโรงเรียนที่ผลสำรวจยังชี้ชัดว่าอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่ง 2 มาตรการหลังอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ที่ทำแล้วไม่ได้ผล
          ทางด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ผลการสำรวจที่ออกมาทำให้ประเทศไทยเสียหน้าเยอะ เพราะจากการประชุมบุหรี่โลกที่ประสิงคโปร์ล่าสุด ที่พบจำนวนผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นแม้จะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ถือว่ามีผลกระทบต่อประเทศที่มองไทยเป็นตัวอย่าง เราต้องเข้าใจว่าการทำงานควบคุมบุหรี่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องต่อสู้กับบริษัทผู้ผลิตที่มีทุนมหาศาลในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเพิ่มยอดขาย ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยเหลือกันทำงานอย่างแข็งขันต่อไป เรื่องงบประมาณก็ไม่ได้จัดสรร เพราะเห็นว่าเป็นหน้าที่ของ สสส. แต่ความจริง สสส.ให้งบประมาณ 180 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขให้ประมาณ3-4 ล้านบาท ถ้าเอามาหารด้วยจำนวนหัวประชากรของประเทศ 65 ล้านคน เท่ากับเราใช้งบประมาณในการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่คนละ 2.50 บาท ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้งบประมาณ 12 ดอลลาร์ ต่อหัวประชากร ดังนั้นรัฐบาลจะต้องอัดงบประมาณโดยตรงให้กับกระทรวง
          "ผมเห็นว่างบประมาณที่ สสส.ให้การสนับสนุนการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเรื่องสุราและอุบัติเหตุ" ศ.นพ.ประกิต กล่าว
          ขณะที่ นายยุทธนา เบื้องกลาง หรือ "ตูมตาม เดอะสตาร์"  ศิลปินบริษัทจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด มหาชน กล่าวว่า เป็นความจริงที่เห็นว่าขณะนี้ตลาดบุหรี่ได้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น และเด็ก ในฐานะเป็นเด็กต่างจังหวัดเห็นว่าร้านค้ายังขายบุหรี่ให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เยอะมาก เคยถามทางผู้ขายทราบว่าเพราะผู้ใหญ่เป็นคนใช้เด็กไปซื้อให้ จึงถือว่าไม่ผิด แต่ความจริง แล้วถือว่าลักษณะดังกล่าวยิ่งทำให้เด็กเห็นและอยู่ใกล้ชิดกับสิ่งเหล่านี้มากขึ้นและอาจทำให้เขาสูบในที่สุด เพราะฉะนั้นจึงอยากขอร้องว่าอย่าให้ลูกหลานไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ดีกว่า ส่วนในกลุ่มวัยรุ่นนั้นอยากจะขอให้ทำหน้าที่ของตนเองทั้งเรื่องการเรียน การเล่นกีฬา และการเล่นดนตรีดีกว่า เพราะบุหรี่ยิ่งสูบชีวิตเรามีแต่จะมอดไหม้ มีแต่เสียกับเสีย.
 


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved