HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 13/05/2563 ]
จากต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ สู่โควิด-19 วิกฤติทางใจต้องตั้งการ์ดยาว

   ทีมข่าวเฉพาะกิจ  รายงาน
          ต้องยอมรับว่าผลกระทบทางสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 คือความหนักหน่วงที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  สภาพจิตใจเป็นหนึ่งในปัญหาซึ่งก่อนหน้านี้เริ่มมีเสียงสะท้อนให้จับตาปรากฏการณ์  "ฆ่าตัวตาย" ที่จะกลายเป็นผลกระทบเรื้อรังในระยะยาว
          จับสัญญาณจากข่าวความเดือดร้อนที่นำไปสู่การตัดสินใจทำร้ายตัวเอง และประสบการณ์จากวิกฤติเศรษฐกิจสำคัญในอดีต แม้ครั้งนี้ไม่ได้มีที่มาจากปมโดยตรง แต่มาตรการสกัดกั้นโรคระบาด การล็อกดาวน์ทั่วประเทศก็ส่อแววพ่นพิษเศรษฐกิจย่อยยับไม่ต่างกัน
          มีข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ โดย นพ.ณัฐกร  จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการฆ่าตัวตายของประเทศไทยช่วงวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่  เปรียบเทียบระหว่างวิกฤติการเงินต้มยำกุ้ง ปี 2540  และวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551  แบ่งข้อมูลเป็นระยะ 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลังของแต่ละปี ในช่วงเวลา 5 ปีต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ ดังนี้
          "วิกฤติต้มยำกุ้ง"
          จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วประเทศช่วงปี 2540-2544
          ปี 2540   6 เดือนแรก 1,994 คน   6 เดือนหลัง 2,189 คน   รวม 4,183 คน
          ปี 2541   6 เดือนแรก 2,522 คน   6 เดือนหลัง 2,442 คน   รวม 4,964 คน
          ปี 2542   6 เดือนแรก 2,868 คน   6 เดือนหลัง 2,422 คน   รวม 5,290 คน
          ปี 2543   6 เดือนแรก 2,722 คน   6 เดือนหลัง 2,467 คน   รวม 5,189 คน
          ปี 2544   6 เดือนแรก 2,658 คน   6 เดือนหลัง 2,145 คน   รวม 4,803 คน
          "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์"
          จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วประเทศช่วงปี 2551-2555
          ปี 2551   6 เดือนแรก 1,963 คน   6 เดือนหลัง 1,815 คน    รวม 3,778 คน
          ปี 2552   6 เดือนแรก 1,966 คน   6 เดือนหลัง 1,821 คน    รวม 3,787 คน
          ปี 2553   6 เดือนแรก 1,896 คน   6 เดือนหลัง 1,865 คน    รวม 3,761 คน
          ปี 2554   6 เดือนแรก 2,077 คน   6 เดือนหลัง 1,796 คน    รวม 3,873 คน
          ปี 2555   6 เดือนแรก 2,107 คน   6 เดือนหลัง 1,878 คน    รวม 3,985 คน
          อย่างไรก็ตาม สถิติข้างต้นเป็น "ภาพรวม" จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในแต่ละปีที่เกิดจาก "หลากหลายปัจจัย" ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ ความเจ็บป่วย  และปัญหาด้านเศรษฐกิจ  โดยช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของจำนวนการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นและพุ่งสูงหลังพ้นวิกฤติมาแล้ว 24 เดือน โดยปี 2542 ถือเป็นปีที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการเก็บข้อมูล คือมีอัตราเฉลี่ย 8.59 ต่อประชากรแสนคน  ส่วนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จในแต่ละปีช่วงนั้นใกล้เคียงกัน โดยอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 5.9-6.0 ต่อประชากรแสนคน ไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยที่เกิดขึ้นในปีอื่น ๆ
          จากข้อมูลการฆ่าตัวตายสำเร็จย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราเฉลี่ย 6.0-6.5 ต่อประชากรแสนคน ดังนี้
          ปี   2552   2553  2554  2555  2556  2557  2558  2559  2560   2561
              5.97   5.90  6.03  6.20  6.08  6.08  6.47  6.35  6.03   6.32
          สำหรับปี 2562 มีการออกมาเปิดเผยอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 6.64 ต่อประชากรแสนคน หากจำแนกอัตราฆ่าตัวตายผู้ชายจะสูงกว่าผู้หญิงทุกปีประมาณ 4 เท่า  ยกตัวอย่าง 5 ปีที่ผ่านมา
          ปี         2557        2558       2559         2560         2561
          ชาย       9.63        10.54      10.29        9.93         10.41
          หญิง       2.63        2.53       2.56         2.28         2.44
          ในปี 2562 ก็เช่นเดียวกันอัตราการฆ่าตัวตายผู้ชายยังคงสูงกว่าผู้หญิง โดยช่วงอายุที่พบการฆ่าตัวตายสูงสุดอยู่ในวัยแรงงานระหว่าง 30-39 ปี วิธีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.4 คือการแขวนคอ ขณะที่ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยด้านความสัมพันธ์ รองลงมาคือโรคประจำตัว ความเจ็บป่วยเรื้อรัง ติดสุรา  เคยมีประวัติทำร้ายตัวเอง ยาเสพติด และปัญหาด้านเศรษฐกิจ
          ท่ามกลางปัญหาการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นทุกปี  เงื่อนไขความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจหนักทำให้มีข้อห่วงใยเพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มีการวางกรอบเป้าหมายภายในปี 2564 ต้องลดอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จไว้ไม่เกิน 6.0 ต่อประชากรแสนคน  จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2540 พบว่าประเทศไทยเคยมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่า 6.0 ต่อประชากรแสนคน ในช่วงระหว่างปี  2549-2553
          การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่นอกจากไม่ได้มาจากปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงปัจจัยเดียว ก่อนตัดสินใจยังมักมีสัญญาณเตือนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
          เบื้องต้นกรมสุขภาพจิตออกมาระบุถึงการจัดทำแผนฟื้นฟูจิตใจในสภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 แบ่งเป็น 1. เพิ่มระดับเฝ้าระวังสุขภาพจิต โดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตายทั้งจากระบบรายงานและที่ปรากฏเป็นข่าว 2. ระบุกลุ่มเสี่ยงผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายคู่ขนานกับการประสานหน่วยบริการเข้าไปดูแลด้วยกระบวนการบำบัดแบบสั้นและการป้องกันภาวะสุขภาพจิตตามระดับความรุนแรง ในกลุ่มผู้เสี่ยงระดับรุนแรงต้องติดตามต่อเนื่องว่าจะไม่กลับมาทำร้ายตนเองซ้ำอีก และ 3. เสริมความเข้มแข็งทางใจ ผ่านกลไกบ้าน วัด โรงเรียน พร้อมเข้มงวดมาตรการจำกัดการดื่มสุราและใช้สารเสพติด
          มาตรการรับมือวิกฤติทางใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ความรู้สึกที่ค่อย ๆ สะสมทำให้ผลลัพธ์อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยรวดเร็ว ทันที ดังนั้น การตั้งการ์ดรับมือกับสถานการณ์หลังจากนี้จึงยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ.

          ชี้ช่องบรรเทาทุกข์
          สายด่วน สุขภาพจิต 1323                 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300
          แอดไลน์ "KhuiKun" (คุยกัน)            สมาคมสะมาริตันส์ 0-2713-6793 1765
          แอพพลิเคชั่น "SABAIJAI" (สบายใจ)   สายด่วนกระทรวงวัฒนธรรม 1765


pageview  1204951    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved