HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 24/04/2563 ]
เปิดศึกหน้าฝน คนไทยสู้ 3 โรคอันตราย

  เปิดศึกใหญ่หน้าฝน คนไทยต้องสู้กับเชื้อโรคอันตราย "ไวรัส โคโรนา 2019" หรือ โควิด-19  ที่เพิ่งมาใหม่แต่คร่าชีวิตทั่วโลกแล้วนับแสนราย ขณะที่ "ยุงลาย" เจ้าถิ่น ที่ยึดหัวหาดก่อโรค "ไข้เลือดออก" ในไทยมานานกว่า 70 ปี ก็กำลังจะเข้าฤดูกาลแผลงฤทธิ์ ซ้ำกับ "โรคไข้หวัดใหญ่" ที่จ้องระบาดอยู่ทุกปี
          เรื่องนี้ รศ.(พิเศษ) ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค ที่ให้ความรู้พร้อมแนวทางรับมือ ว่า ทั้งไข้เลือดออก และโรคทางเดินหายใจ จะวนมาระบาดทุกปีเมื่อเข้าสู่หน้าฝน เพราะฉะนั้น "ต้องเข้าใจ" และ "กำจัดความเสี่ยง" เริ่มที่ "ไข้หวัดใหญ่" เป็นโรคที่มาทุกปี เด็กนักเรียน คนหนุ่มสาว ติดแล้วอาการไม่รุนแรง แต่จะรุนแรงในคนแก่ อย่างซีกโลกเหนือ ยุโรป อเมริกา จีน จะป่วยเยอะในช่วง ม.ค.มี.ค. ทำให้ปนเปกับโควิด-19 ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น
          แต่ของไทย ไข้หวัดใหญ่ กับโควิด-19 ยังแยกกันอยู่ ซึ่งไข้หวัดใหญ่ยังไม่มากเพราะยังไม่ถึงหน้าระบาด การระบาดของมันคือปลาย พ.ค. แต่ถ้ามาบรรจบกันเมื่อไหร่ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะ 2 โรคนี้ อาการคล้ายกัน เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เวลาเป็นในเด็กหรือคนหนุ่มสาว อาการไม่มาก แต่ถ้าติดในคนแก่ก็โจมตีถึงตาย
          "ทั้ง 2 โรคมีอาการคล้ายกัน เป็นเชื้อไวรัสก่อโรคทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่โควิดเป็นเชื้อใหม่ เท่าที่มีการศึกษาพบว่าโควิดมีความรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ 3 เท่า อัตราการเสียชีวิตภาพรวมสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 10 เท่า ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่มีวัคซีนป้องกันและมียารักษาจำเพาะ ในขณะที่ โควิด-19 ยังไม่มีทั้งยารักษาจำเพาะและวัคซีนป้องกัน"
          ดังนั้นปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ 7 กลุ่มเสี่ยงเร็วขึ้นเริ่ม 1 พ.ค.นี้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วยซ้ำซ้อน ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง สามารถรับบริการได้แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
          มาที่ "ไข้เลือดออก" ปีนี้คาดว่าจะมาเร็วขึ้น เพราะไข่ยุงลายที่เป็นพาหะจะฟักตัวเมื่อมีฝนหรือน้ำขัง ซึ่งเมื่อสงกรานต์ฝนเพิ่งตกทำให้มีน้ำขังหลายพื้นที่ แล้วธรรมชาติของมันเป็นยุงบ้าน ดังนั้นเมื่อคนอยู่บ้านเพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19 จึงมีโอกาสถูกกัด และป่วยมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ทางการแพทย์สามารถแยกไข้เลือดออกกับโควิด-19 ได้ แต่ไม่ถึงกับเด็ดขาด เพราะ ไข้เลือดออกมักเป็นในเด็กโต อายุระหว่าง 8-15 ปี ส่วนใหญ่มาด้วยไข้สูงมาก หน้าแดงเพราะพิษไข้ ไม่ค่อยมีอาการหวัด ไอ ส่วนโควิด-19 เป็นทุกอายุ แต่มักพบในคนหนุ่มสาว อาการส่วนใหญ่เหมือนไข้หวัด
          โรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ การรักษาไม่มียาจำเพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 80% ไม่มีอาการ เป็นคนที่สบายดี มีเพียง 20% ที่มีอาการไข้ และในจำนวน 20% ที่มีอาการนี้พบว่ามี 3-4% ที่อาการรุนแรง ต้องอยู่ในไอซียู ส่วนอัตราการเสียชีวิตเบนมาที่ผู้ใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะคนมีโรคประจำตัว ส่วนเด็กอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 1% หรือต่ำกว่านี้
          อย่างไรก็ตาม บทเรียนสำคัญคือผู้ป่วยโควิด-19 ที่เสียชีวิตในไทย พบว่ามีการป่วยไข้เลือดออกร่วมด้วยยิ่งทำให้อาการรุนแรง และการรักษาซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นเดือน พ.ค. ช่วงพีคของทั้งไข้เลือดออก และโรคระบบทางเดินหายใจ แน่นอนว่าครอบคลุมทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 โอกาสเกิดการป่วยซ้ำซ้อนหลายโรคจึงมีความเป็นไปได้ เสี่ยงที่จะอาการรุนแรง ซับซ้อน รักษายากขึ้นแน่นอน
          นับเป็นศึกใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือจากประชาชนอย่างมากในการช่วยกันตัดทุกความเสี่ยง อย่าปล่อยให้ 3 โรคนี้ ผนึกกำลังถล่มคนไทยได้ โดยขอให้ หลีกเลี่ยงการไปพื้นที่ที่มีคนอยู่เยอะ สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ส่วนไข้เลือดออก ก็ช่วยกันทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำความสะอาดบ้านเรือนอย่าให้มีมุมอับ และระวังตัวเองอย่าให้ยุงกัด.


pageview  1205119    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved