HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/05/2555 ]
โรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

พญ.วิสาข์สิริ ตันตระกูล, วรกต สุวรรณสถิต, เจนจิรา เพ็งแจ่ม
          หน่วยโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติ  ภาควิชาอายุรศาสตร์
          คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
          โรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับสามารถพบได้ในคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ในเด็กมักเกิดจากต่อมทอนซิลโต หรือปัญหาเรื่องโครงสร้างใบหน้า หรือเด็กอ้วน ส่วนในผู้ใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยคุ้มครองจากโรคนี้ แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคนี้มากขึ้น
          ...สัญญาณเตือนว่าอาจเป็นโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับในผู้ใหญ่ จะมีอาการดังนี้
          1. นอนกรนเสียงดังเป็นประจำ2. สังเกตเห็นว่า ขณะนอนหลับมีการหยุดหายใจ โดยอาจหายใจแรง ๆ เสียงดังเป็นพัก ๆ สลับกับนิ่งเงียบ แล้วหายใจเฮือกเหมือนจะสำลักน้ำลาย บางครั้งผู้ป่วยจะตื่นขึ้นมารู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก
          3. ง่วงนอนกลางวัน บางครั้งเผลอหลับไปในสถานการณ์ที่ไม่สมควร เช่น ขณะทำงาน ขณะประชุม หรือขณะขับรถ เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตตนเองและผู้อื่นจากการหลับในได้เมื่อขับขี่
          4. มีปัญหาเรื่อง ไม่มีสมาธิในการทำงาน ขี้ลืม หงุดหงิดง่าย วิตกจริต หรือซึมเศร้า
          5. ปวดศีรษะเมื่อตื่นนอนตอนเช้า หรือมีอาการคลื่นไส้
          6. ปัสสาวะบ่อยช่วงนอนหลับกลางคืน7. ความต้องการทางเพศลดลง ผู้ชายอาจมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลง ผู้หญิงอาจมีปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
          อาการเหล่านี้ ผู้ป่วยแต่ละคนอาจไม่ได้มีทุกข้อ และอาจแตกต่างกันในด้านความรุนแรงของแต่ละบุคคล และที่สำคัญปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมานานอย่างช้า ๆ ดังนั้น ตัวผู้ป่วยเองอาจจะไม่รู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติอะไร หรือคิดว่าเป็นอาการผิดปกติที่พบได้ในผู้สูงอายุทั่วไปจึงไม่ได้ใส่ใจ แต่คนรอบข้าง คนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานอาจเป็นผู้ที่สังเกตเห็นถึงความผิดปกติว่า ผู้ป่วยมีความง่วงนอนผิดปกติหรือมีอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์
          ในเด็กที่มีโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ อาจมีอาการดังนี้
          1. เด็กอ้วน หรือเด็กที่มีต่อมทอนซิล และหรือต่อมอะดีนอยด์โต2. เด็กที่มีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด บางอย่างมีผลต่อโครงสร้างใบหน้า เช่น เด็กดาวน์ซินโดรม
          3. ขณะนอนหลับ เด็กมีอาการดังนี้ นอนกรน หรือหายใจเสียงดัง หายใจลำบาก กลางวันเด็กมีอาการไฮเปอร์ อยู่นิ่งไม่ได้ และสมาธิสั้น
          4. เด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อาจมีอาการเชื่องช้า เรียนได้ไม่ดี ที่โรงเรียนอาจบอกว่าเด็กช้าหรือขี้เกียจ
          ผู้ปกครองควรทราบว่า เด็กที่นอนกรน เสียงดังทุกคืน ถือว่าผิดปกติ ผู้ปกครองจึงควรพาเด็กมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย จะทราบได้อย่างไร? ว่า..เป็นคนนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ
          หากมีอาการนอนกรนดังเป็นประจำ หรือมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป การตรวจวินิจฉัยจำเป็นต้องมารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ (สลีป แล็บ)
          โดยจะมีการติดอุปกรณ์หลายอย่างเพื่อวัดคลื่นสมองขณะนอนหลับวัดระดับออกซิเจนและลมหายใจ เป็นต้น
          การตรวจการนอนหลับ ตรวจกันอย่างไร?
          การตรวจการนอนหลับเป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยโดยการติดอุปกรณ์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ โดยใช้เวลาในการติดอุปกรณ์ 30-45 นาทีต่อราย คือ
          1. ติดอุปกรณ์ที่ศีรษะ หางตา หลังหู และคาง เพื่อดูการหลับของคลื่นสมองและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ
          2. ติดอุปกรณ์ที่คอ เพื่อบันทึกการสั่นสะเทือนของกล่องเสียงรวมถึงเสียงกรน
          3. ติดอุปกรณ์ที่จมูก หน้าอก หน้าท้อง เพื่อดูความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจที่สูดเข้าออก หรือการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหายใจทั้งหน้าอกและหน้าท้องที่จะต้องสัมพันธ์กัน
          4. ติดอุปกรณ์ที่ปลายนิ้ว เพื่อวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดที่ได้จากการหายใจว่าเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่
          5. ติดอุปกรณ์ที่ขาทั้ง 2 ข้างเพื่อตรวจวัดกล้ามเนื้อบริเวณขาฉบับหน้า เรามาติดตามว่าแนวทางการรักษาโรคนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับเป็นอย่างไร รวมถึงวิธีการผ่าตัดรักษาจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
          * ข่าวประชาสัมพันธ์ * ศูนย์โรคการนอนหลับร่วมกับงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จัดบรรยายพิเศษ เรื่อง "นอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ และงานคืนสู่เหย้าชาว CPAP รามาธิบดี (Ramathibodi CPAP Fair) ครั้งที่ 1" ในวันที่ 22 มิ.ย. 2555 เวลา 08.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ ผู้สนใจสำรองที่นั่งได้ที่ 0-2201-2521 ในวันและเวลาราชการ


pageview  1205453    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved