HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 18/12/2562 ]
เช็กอัพกายใจ ดูแลสุขภาพ นิ้วล็อก

   การงอ หรือเหยียดนิ้วได้อย่างยากลำบาก หรือทำไม่ได้ ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อไม่สะดวก เนื่องจากลมเดินไม่สะดวก
          เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึง โรคนิ้วล็อก โดยรายที่มีอาการรุนแรง นิ้วมือจะถูกล็อกให้งอและต้องใช้การช่วย เพื่อให้นิ้วมือเหยียดออกได้และ "นิ้วล็อก" สามารถเป็นได้ทุกนิ้ว ส่วนใหญ่จะพบนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง ...
          โรคนิ้วล็อก จากความรู้หนังสือการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุปวดเข่า ไหล่ติด นิ้วล็อก ด้วยการนวดไทยสำหรับประชาชน โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายถึงสาเหตุการเกิดโรคและแนะนำการดูแลสุขภาพไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ โรคนิ้วล็อก มีสาเหตุจากลมเดินไม่สะดวก โดยมีอาหารแสลงและอากาศที่ร้อนชื้น ทำให้เกิดสภาวะเลือดตกตะกอน ไหลเวียนไม่สะดวก, จากการอักเสบของเอ็นโคนข้อนิ้วโดยตรง เช่น เกิดจากการใช้งานมาก การใช้เกินกำลังทำให้โคนนิ้วอักเสบ เช่น การหิ้วของหนักเป็นประจำ อุบัติเหตุกระทบกระแทก ฯลฯ หรือ จากความเสื่อมของร่างกาย ไขมันฝ่ามือหายไปหรือฝ่อตัวลง เอ็นหด เส้นเอ็นถูกพังผืดรัด หรือถ้าพบในเด็ก มักพบที่นิ้วโป้ง ซึ่งเกิดจากการเจริญของปลอกเอ็นกับเอ็นไม่สัมพันธ์กัน เป็นต้น
          "นิ้วล็อก" ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากความเครียดความอ่อนล้าสะสมของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เยื่อหุ้มกระดูกริมหัวต่อกระดูกของนิ้วมือ ทำให้ มีอาการปวดบวม มีก้อนแข็งตึง เป็นเม็ดทราย เป็นลูกหรือแข็งเป็นแนวบริเวณฝ่ามือ ฐานนิ้วมือและนิ้วมือ โดยเฉพาะโคนข้อนิ้วอาจบวมอักเสบชัดเจน มีปัญหานิ้วฝืด เหยียดไม่ได้โดยมักเป็นตอนเช้า เวลากำนิ้วมือจะกำไม่เข้าหรือกำได้ด้วยความยากลำบาก
          นอกจากนี้ยัง มีเสียงฝืดดัง เมื่อกำมือเข้ามาแล้ว เวลาเหยียดนิ้วมือจะไม่ค่อยออก บางรายอาจงอค้างและรู้สึกเจ็บมากต้องใช้มืออีกข้างช่วยแกะออก ถ้ามีอาการมากจะเกิดภาวะนิ้วมืองอแข็ง กำเหยียดไม่ได้และอาจมีอาการปวดชาร่วมด้วย ซึ่งอาการของโรคแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก นิ้วฝืด มีการอักเสบที่โคนข้อนิ้ว ข้อต่อจะมีอาการเหยียดฝืด ตึงมือจากปลอกเอ็นหรือข้อเคลื่อน เอ็นอักเสบ ระยะที่ 2 นิ้วล็อก เอ็นเริ่มติด กำเหยียด จะมีเสียงดัง และระยะที่ 3  นิ้วติดนิ้วแข็ง งอไม่เข้า เหยียดตรงไม่ได้ ฝ่ามือแห้ง เห็นเส้นเอ็นฝ่ามือลอยขึ้นแข็ง
          การรักษาด้วยการนวดไทย โดยหลักการรักษา นวดแนวเส้นและจุดที่เกี่ยวข้องกับนิ้วมือที่มีอาการ หรือใช้การประคบร้อนบริเวณฝ่ามือเพื่อกระจายเลือดที่คั่งตกตะกอน และให้เลือดใหม่ไหลเวียนผ่านบริเวณนิ้วมือได้สะดวกขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งขอยกตัวอย่าง จุดนวดด้านหน้ามือโดยท่านวด ผู้ถูกนวด นอนหงาย กางแขนตั้งฉากกับลำตัว
          ส่วนผู้นวด นั่งคุกเข่า หันหน้าเข้าหาแขนข้างที่จะนวด จุดที่จะนวดได้แก่ บนเนินใหญ่ของฝ่ามือ จุดที่สอง กลางฝ่ามือ และจุดที่สาม บนเนินเล็กของฝ่ามือ การนวดแต่ละจุดจะกดนาน 2-3 ช่วงลมหายใจเข้าออก ประมาณ 10-20 วินาที จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือซ้อนกัน กดจุดฝ่ามือในจุดต่าง ๆ ตามลำดับ
          จุดนวดด้านหลังมือ จุดหลังมือจุดแรก ตรงง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ จุดที่สอง ตรงร่องระหว่างโคนนิ้วชี้กับนิ้วกลาง จุดที่สาม ตรงร่องระหว่างโคนนิ้วกลางกับนิ้วนาง และจุดที่สี่ ตรงร่องระหว่างโคนนิ้วนางกับนิ้วก้อย ซึ่งการนวดแต่ละจุดกดนาน 2-3 ช่วงลมหายใจเข้าออก ประมาณ 10-20 วินาทีเช่นกัน ใช้นิ้วหัวแม่มือกดจุดหลังมือจุดแรกถึงสุดท้ายตามลำดับ เป็นต้น
          นอกจากนี้จากชุดความรู้หนังสือการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุฯ ยังแนะนำ ท่าบริหาร เกร็งกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือให้แข็งแรง โดยการบริหารแบบเกร็งกล้ามเนื้อ เริ่มจากการกำมือ เหยียดนิ้ว, ดึงแขน เท้าแขนสามจังหวะ, ดัดนิ้วมือ ขึ้นไปทางด้านหลังมือ และ ฤาษีดัดตน "แก้ลมข้อมือ" และ "แก้ลมในแขน" โดยแก้ลมในแขนนั้น นั่งชันเข่ายกแขนขึ้น มือข้างหนึ่งจับฝ่ามือของอีกด้านหนึ่ง เหยียดแขนดัดนิ้วให้แอ่นเต็มที่ พร้อมการหายใจเข้าแล้วคลายพร้อมการหายใจออก หรือเอามือประสานกันโดยให้นิ้วอยู่ระหว่างนิ้วของกันและกัน ม้วนมือทั้งสองข้างเข้าหาตัว แอ่นฝ่ามือไปข้างหน้า เหยียดแขนให้เต็มที่ เป็นต้น
          อีกทั้งแนะนำถึง การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการเกิดโรคเช่น หิ้วของหนักใช้งานเกินกำลัง การบิด ดัด สลัดคอแขนและนิ้วมือ รวมทั้งพักการใช้งานนิ้วมือ ฯลฯ ร่วมดูแลสุขภาพ.


pageview  1205100    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved