HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 19/05/2555 ]
ปัญหา 'ผม'

    ผมดกดำ นุ่มสลวย สวยเก๋ ใคร ๆ ก็ปรารถนา แต่ในชีวิตจริงของหลายคน กลับตรงกันข้ามกัน ผมมีปัญหาสารพัด จนต้องวิ่งโร่ไปให้หมอรักษา
          พญ.ชินมนัส ตั้งจาตุรนต์รัศมี หัวหน้ากลุ่มงานเส้นผมและเล็บ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ศีรษะของคนเรามีต่อมผมประมาณ 100,000-200,000 ต่อม ในแต่ละต่อมจะมีเส้นผมประมาณ 2-5 เส้น
          การหลุดร่วงของเส้นผมขึ้นอยู่กับวงจรการเติบโตของเส้นผม แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ
          ระยะการเจริญเติบโต คือ ระยะที่ต่อมรากผมอยู่ลึกที่สุดในขั้นหนังแท้ โดยมีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงอยู่มากมาย ใช้เวลาประมาณ 1,000 วันหรือ 3 ปี ในการเจริญเติบโตเป็นเส้นผม เส้นผมทั้งศีรษะ 85-90% จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้
          ระยะหยุดการเจริญเติบโต ต่อมรากผมจะหยุดการแบ่งเซลล์ ค่อย ๆ เลื่อนสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยทั่วไประยะนี้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
          ระยะพัก เป็นระยะสุดท้ายของเส้นผม ต่อมรากผมเลื่อนสูงขึ้นจนถึงบริเวณเซลล์ต้นกำเนิด เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 100  วันหรือ 3 เดือน ทั้งนี้ 10%ของเส้นผมทั้งศีรษะอยู่ในระยะพัก ก่อนที่เซลล์ต้นกำเนิดจะส่งสัญญาณให้ต่อมผมเลื่อนลงมาอีกครั้ง เพื่อให้มีการสร้างเส้นผมใหม่ โดยเส้นผมใหม่จะดันผมเก่าให้หลุดร่วงไป
          ผมปกติร่วงประมาณวันละ 50-100 เส้นต่อวัน ในวันที่สระผม ผมอาจหลุดร่วงมากถึง 200 เส้นได้ หรือคนกินมังสวิรัติ อดอาหารลดน้ำหนัก รับประทานยาลดน้ำหนักที่ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วในระยะเวลา สั้น ๆ มีความเครียด เจ็บป่วย เช่น เป็นโรคเอสแอลอี โรคไทรอยด์ อาจจะกระตุ้นทำให้ผมร่วงมากขึ้นได้
          คนไข้มารักษาที่สถาบันโรคผิวหนัง ส่วนใหญ่มาด้วย 2 ปัญหา คือ 1. ปัญหาผมบาง หลุดร่วงง่าย เป็นหย่อม 2. ปัญหาหนังศีรษะ มีอาการคัน มีรังแค เป็นขุย
          ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากพันธุกรรม คุณพ่อคุณแม่มีปัญหาผมบาง ลูกก็อาจจะมีผมบางได้
          ผมร่วงเป็นหย่อม ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันไวต่อตัวเอง คือ ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อรากผมตัวเอง ทำให้เซลล์ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันไวต่อตัวเองนั้นไปโจมตีรากผม ทำให้ผมหลุดร่วงเป็นหย่อม ๆ ในบางคนที่เป็นเยอะผมอาจร่วงหมดทั้งศีรษะ หรือตื่นขึ้นมาผมขาวโพลนทั้งศีรษะ อย่างไรก็ตามปัญหาเชื้อราบนหนังศีรษะก็ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เชื้อราบนหนังศีรษะมักเป็นในเด็ก ไม่ค่อยเป็นในผู้ใหญ่ ยกเว้นมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รับประทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
          โรคของผมส่วนใหญ่รักษาได้ แต่จะหายขาดหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็น อย่างผมบางจากพันธุกรรม รักษาด้วยการทายา หรือรับประทานยาควบคู่กันไป ก็จะทำให้ผมหนาขึ้นได้ แต่จะต้องรักษาไปตลอด เมื่อหยุดการรักษาผมก็จะกลับไปบางเหมือนเดิม กรณีผมร่วงเป็นหย่อมการรักษาก็แล้วแต่ความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่มีโอกาสกลับมาเป็นปกติได้ เว้นแต่คนไข้ที่โรคมีความรุนแรงมาก การรักษาอาจใช้เวลานาน ได้ผลไม่ 100%
          ควรสระผมบ่อยแค่ไหน? พญ.ชินมนัส กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสภาพหนังศีรษะของแต่ละคน คนที่หนังศีรษะมันการสระผมบ่อยไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก แต่ในคนที่หนังศีรษะแห้งอาจทำให้หนังศีรษะแห้งมากขึ้น มีโอกาสเป็นรังแคมากขึ้น คันหนังศีรษะได้ง่าย โดยเฉลี่ยควรสระวันเว้นวันหรือขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ คนที่ออกกำลังกายบ่อย เล่นกีฬา สระผมเป็นประจำคงไม่ผิดอะไร ถ้าไม่รู้สึกว่าหนังศีรษะแห้งลง
          สิ่งที่ทำร้ายเส้นผมและควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง? พญ.ชินมนัส กล่าวว่า สารเคมี ความร้อน การดึงผม อย่างผู้หญิงที่ทำผมมาก ๆ ไดร์ผม ดัดผม เปลี่ยนสีผม อบไอน้ำ อาจทำให้ผมขาดหลุดร่วงง่าย แต่ก็เข้าใจเรื่องทำผมโดยเฉพาะผู้หญิง ดังนั้นแนะนำว่า ทำแต่พอประมาณ พอดี เว้นช่วงระยะเวลาให้ผมได้พักบ้าง
          ตกลงการอบไอน้ำดีหรือไม่ดีกับผม? พญ.ชินมนัส กล่าวว่า ให้หมอตอบตรง ๆ คือ ไม่ดี ความร้อนที่มากขึ้น จะทำให้สารเคลือบผมมันเปิดออก ทำให้ผมแห้งลง กระด้าง ขาดหลุดร่วงง่าย แต่ถ้าเปิดออกแล้วมีสารบำรุงผมเข้าไปปกปิดได้ทันมันก็ไม่เป็นอะไรมาก ถามว่าการอบไอน้ำจำเป็นมั้ย ไม่จำเป็น ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ แต่ทำมาก ๆ ไม่ดี อย่างบางคนผมแห้งอยู่แล้วก็ยิ่งทำให้สภาพผมแย่ลง.

 


pageview  1205456    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved