HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 04/07/2562 ]
ไข้เลือดออก ภัยต้องระวัง

แม้จะดูล่าช้าไปนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัย "ไข้เลือดออก" แก่ประชาชน โดยทุก ๆ ปี กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนจิตอาสาจะร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก่อนเข้าฤดูฝน ทั้งนี้ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 35,482 ราย เสียชีวิตแล้ว 62 ราย มากกว่าช่วงเดียวกันของปี พ.ศ. 2561 ที่มีผู้ป่วย 22,539 ราย เสียชีวิต 29 ราย
          สำหรับการกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออก พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการป่วยและเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาได้แก่ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีอายุระหว่าง 5-14 ปี ตามด้วยอายุ 15-34 ปี และ อายุ 35-59 ปี โดยสาเหตุของการเกิดโรคนี้มาจากเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) เมื่อถูกยุงลายกัดแล้วเชื้อที่อยู่ในน้ำลายยุงจะเข้ากระแสเลือดของผู้ที่ถูกยุงลายกัด ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่มีตัวยาหรือวัคซีนฆ่าเชื้อให้หายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำได้เพียงรักษาประคับประคองไปตามอาการเท่านั้น และในปีนี้เชื้อไวรัส เดงกี่สายพันธุ์ที่ 2 จากทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ระบาดมากที่สุด แต่ไม่มีเชื้อสายพันธุ์ใหม่หรือเชื้อกลายพันธุ์
          นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะนำการสังเกตอาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกโดยทั่วไปจะมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ตัวร้อน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามตัว ส่วนอาการเด่นคือ ไข้สูงเฉียบพลัน ส่วนมากไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามแขน ขา ลำตัว และรักแร้ ผู้ป่วยอาการรุนแรงจะมีเลือดออกที่อวัยวะภายในร่างกาย มีโอกาสเกิดภาวะช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นขอให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง รับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพรินและยาแก้ปวดลดไข้กลุ่มเอ็นเสด หาก 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูง อ่อนเพลีย ซึมลง ปัสสาวะสีเข้ม หรือไข้ลดแต่อาการแย่ลง ซึมกว่าเดิม เบื่ออาหาร ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
          "ไข้เลือดออก" ยังเป็นโรคมฤตยูที่เราทำได้เพียงระวังป้องกันด้วยการเก็บกวาดบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับเป็นที่พักของยุง เก็บขยะ เศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ หากทำได้เพียง "3 เก็บ" เท่านี้ เราจะสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงมิให้คนในครอบครัวและเพื่อนบ้านป่วยโรคไข้เลือดออก รวมถึงอีก 2 โรคคือโรคชิคุนกุนยาและโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ที่มียุงลายเป็นพาหะอีกด้วย เพราะการจะมีสุขภาพที่ดีนั้น มิใช่ซื้อขายกันได้ง่าย หากแต่ทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง.


pageview  1205145    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved