HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 24/05/2562 ]
กรมควบคุมโรคชวนวัยเก๋าออกกำลังกายในน้ำสร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ ป้องกันพลัดตกหกล้ม

 อุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุก็คือ "พลัดตกหกล้ม" เช่น ลื่นล้มในห้องน้ำ การตกเตียง ตกบันได โดย 1 ใน 3 พบว่ามักอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ปัญหาที่เกิดจากการพลัดตกหกล้มที่พบบ่อยในผู้สูงอายุคือ กระดูกตะโพกแตกหัก หรืออุบัติเหตุทางสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความพิการ และการเสียชีวิตค่อนข้างสูง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายชวน "วัยเก๋า" ออกกำลังกายในน้ำ สร้างความแข็งแรงกล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 2 ปี
          โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่สระว่ายน้ำ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ และการสาธิตการออกกำลังกาย ในน้ำ โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  พร้อมด้วย นางสาวธัณณ์จิรา ไทยธานี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิชาการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รศ.ดร.ไพลวรรณ สัทธานนท์ รองคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ ผศ.ดร.สันทณี เครือขอน และคณะภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนผู้สูงอายุ ได้ร่วมกันรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ "ก้าวสู่สูงวัย ออกกำลังกายในน้ำ กันล้ม" และกิจกรรมรณรงค์พร้อมการสาธิตการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ช่วยในการทรงตัว เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
          นพ.สุวรรณชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้อีก 2 ปี จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และยังพบปัญหาสุขภาพจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง การเดินบกพร่อง การมองเห็นเลือนราง และปัญหาที่พบบ่อย คือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หกล้มทุกปีโดยผู้สูงอายุเพศหญิงพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศชาย 1.6 เท่า และใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินด้วยสาเหตุการพลัดตกหกล้มวันละ 140 ครั้ง อีกทั้งยังเป็นสาเหตุของผู้ป่วยในอันดับ 1 และผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ยวันละ 2 คน ผลจากการหกล้มทำให้ได้รับบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อย ถึงขั้นรุนแรงจนตะโพกหักกว่า 3,000 คนต่อปี ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง จากการที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดูแล ช่วยเหลือในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
          สำหรับการป้องกันพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุมีมาตรการที่สำคัญ ได้แก่ 1. ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะการออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งมีความปลอดภัย ไม่ทำให้ข้อเข่าและข้อตะโพกเกิดการบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยในการทรงตัว และป้องกันการพลัดตกหกล้มได้ 2. ผู้สูงอายุเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม และ 3. ทีม สหสาขาจัดการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย ร่วมกัน จะช่วยลดโอกาสการหกล้มได้ นอก จากนี้ขอแนะนำให้ชุมชนและเครือข่ายร่วมกันปรับปรุงบ้านและสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ด้วยตนเองที่ www.Thaincd.com ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
          นางวีรยา พิริยะชีวิ หญิงสูงอายุวัย 62 ปี หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมรณรงค์และสาธิตการออกกำลังกายในน้ำเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาปวดเข่า ข้อเข่าติดซึ่งเป็นอยู่ประมาณ 6 ปี และได้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์ตรวจร่างกาย ให้ยา และแนะนำให้ ออกกำลังกายในน้ำหรือทำกิจกรรมธาราบำบัดเพื่อรักษาอาการที่เป็น โดยให้ทำเป็น
          ประจำครั้งละ 40 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วงแรก ๆ ของการออกกำลังกายในน้ำจะรู้สึกเหนื่อยหน่อย พอทำ ไปเรื่อย ๆ ร่างกายก็ปรับตัวได้ และรู้สึกเป็นปกติ หลังขึ้นจากสระน้ำตัว จะเบา ถึงเวลานอนก็จะหลับสบาย ผลจากการออกกำลังกายในน้ำที่ได้รับ คือ อาการปวดเข่า ข้อเข่าติด ทุเลาลง กล้ามเนื้อบริเวณขาแข็งแรงขึ้น ทุกวันนี้จึงยังออกกำลังกายในน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยจะมาใช้บริการที่สระว่ายน้ำ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ที่เหลืออีก 2 ครั้งจะไปใช้บริการตามศูนย์ต่าง ๆ บ้าง เช่น ศูนย์กีฬาเยาวชน และศูนย์ออกกำลังกายอื่น ๆ ที่มีสระว่ายน้ำ จึงฝากถึงผู้สูงวัยที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า การเดินไม่สะดวก ขอเชิญชวนและแนะนำให้ออกกำลังกายในน้ำ เพราะจะช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงกำลังขาดี ช่วยให้การทรงตัวดี การเดินสะดวกและมั่นคงขึ้นและช่วยป้องกันการหกล้มได้อีกด้วย.


pageview  1204999    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved