HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 10/05/2555 ]
หมอสูติฯ แนะหญิงมีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ พร้อมอย่างเดียวไม่พอต้องมี 'เวลา'

เติมเต็มความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์หลังแต่งงานคู่สามีภรรยาจึงอยากมีลูก ถ้าไม่เกิดภาวะผิดปกติใด ๆ และมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์  หากไม่มีการคุมกำเนิดภรรยาจะตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติภายใน 1-1 ปีครึ่ง แต่ถ้าหนึ่งปีผ่านไปยังไม่มีวี่แวว หลายคู่เกิดความเครียด ถ้าต่างฝ่ายต่างไม่ได้เป็นหมัน และคิดว่าพร้อมแล้วสำหรับการมีลูก แพทย์ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะอยู่ในข่ายการมีบุตรยากสาเหตุที่แท้จริงของการมีบุตรยาก นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล แพทย์หัวหน้าศูนย์ผู้มีบุตรยาก และสูตินรีแพทย์ดูแลหญิงตั้งครรภ์อาการแทรกซ้อน ผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคป และรักษาผู้มีบุตรยาก รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวในวันเปิด "ศูนย์ผู้มีบุตรยาก" รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ว่า แพทย์ตั้งข้อสังเกตว่า ความเครียด อาการปวดท้องอย่างรุนแรงเมื่อมีรอบเดือน เจ็บในท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ อายุเริ่มมาก หรือการมีเยื่อบุโพรงมดลูกโตผิดที่ (ช็อกโกแลต ซีส)  เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้เลยตลอดชีวิต
          นพ.มฆวัน กล่าวว่า เมื่อทราบถึงสาเหตุเบื้องต้น และแพทย์ได้ช่วยรักษาอาการแล้ว แต่คนไข้ยังไม่ตั้งท้องแสดงว่ายังมีรายละเอียดบางอย่างที่คู่สามีภรรยาไม่กล้าเปิดเผยให้แพทย์ทราบ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาบางคู่ไม่จำเป็นต้องทำกิ๊ฟ เพียงหมอแนะนำให้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้ตรงกัน ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นโอกาสของการประสบความสำเร็จ จนเกิดการตั้งครรภ์กระทั่งคลอด และคุณแม่อุ้มลูกกลับบ้านอย่างมีความสุขจึงไม่ใช่เรื่องง่าย  คนไข้ต้องไม่มีอะไรปิดบัง และเชื่อมั่นในความสามารถของหมอและโรงพยาบาล  โอกาสประสบความสำเร็จจะมีสูง
          "ตอนนี้คนไข้ที่มาหาอายุมากที่สุด 46 ปี ป่วยเป็นโรคไตด้วย แต่อยากมีลูกมากจึงต้องใช้วิธีอุ้มบุญ เพราะผู้หญิงที่เป็นโรคไตไม่ควรตั้งครรภ์เด็ดขาด แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไข้ที่เดินเข้ามาหาอายุเฉลี่ยอยู่ประมาณ 35 ปีบวกลบ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะเสี่ยงต่อการที่ลูกเป็นดาวซินโดรม และแพทย์เองก็ต้องการตัวเลขที่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าถือเอาความสุขของคนไข้เป็นศูนย์กลาง คิดว่าการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ดี เพราะตราบใดที่ผู้หญิงยังมีไข่ตกและมีมดลูกยังมีโอกาส อายุไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ"
          ในทางกลับกันการตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่อสูงวัยด้วยวิธีการทำกิ๊ฟ ทำให้ว่าที่คุณแม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหมออย่างเคร่งครัด เพราะใช่ว่าทุกเคสจะประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่ว นพ.มฆวัน กล่าวว่า ถ้าพูดถึงการประสบความสำเร็จ 14-16 วัน หลังจากการทำกิ๊ฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ก็สามารถบอกได้ว่าท้องหรือไม่อยู่ที่ร้อยละ  50 แต่ถ้าท้องกระทั่งคลอดและอุ้มลูกกลับบ้านร้อยละ 10-30 ซึ่งตัวเลขนี้ได้จากศูนย์ที่มีความพร้อมทุกด้านเท่านั้น ส่วนก่อนตัดสินใจมาทำกิ๊ฟความพร้อมอย่างเดียวไม่พอ ต้องถามตัวเองว่ามีเวลาพอหรือไม่ เพราะการนัดหมายเพื่อฉีดยากระตุ้นไข่ถี่มาก  เวลาคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความล้มเหลว เพราะเด็กเป็นเซลล์เพียงเซลล์เดียวซึ่งมีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ฉะนั้นโอกาสติดเชื้อจึงสูงมาก ห้องแล็บต้องสะอาดและมีประสิทธิภาพ ปลอดเชื้อโดยสิ้นเชิง รวมทั้งระบบเรื่องรักษาความปลอดภัยต้องสำคัญ เพราะการเก็บรักษาสเปิร์มต้องตรงกับคนไข้ มิฉะนั้นจะเกิดความผิดพลาดในการทำกิ๊ฟ.
 


pageview  1205111    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved