HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ [ วันที่ 06/08/2561 ]
ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ต้องใส่ใจเรื่อง กระดูกพรุน

 เนื่องจากสถานการณ์ผู้สูงวัยในประเทศ ไทยกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (ผู้สูงวัยคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี) โดยในปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยมากกว่าประชากรเด็กคือ มีผู้สูงวัย 18% เด็ก 15.9% และในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือมีประชากรสูงวัย มากกว่า 20% และในปี 2574 จะมีอัตราส่วนของผู้สูงวัย 28% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขหันมาสนใจกับเรื่องกระดูกหักในผู้สูงวัยจากโรคกระดูกพรุนมากขึ้น
          โรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัยเป็นภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งในยุโรปและอเมริกามี ผู้หญิงสูงวัยมากกว่า 7 แสนรายประสบปัญหากระดูกตะโพกหัก มีอัตราการตายประมาณ 20-25% ในปีแรก ในขณะที่คนไข้มากกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถกลับไป ใช้ชีวิตตามปกติได้ และประมาณ 1 ใน 5 ต้อง นอนบนเตียงตลอดไป ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยกระดูกตะโพกหักทั่วโลกในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์ จะมีจำนวนประมาณ 6.25 ล้านราย และในเอเชียมีประมาณ 3.25 ล้านราย
          สำหรับในประเทศ ไทยมีข้อมูลสถิติอัตราการตายภายหลังกระดูกตะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนในจังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2541 เป็นจำนวน 289 รายต่อแสนคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 367 รายต่อแสนคนต่อปีในปี 2546 ส่วนใหญ่กระดูกตะโพกหักเกิดจากล้ม การยืนระดับปกติเท่านั้น ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่กระดูกตะโพกหักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐสูงถึง 200,000-300,000 ราย และต้องใช้เวลาในการนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 22.7 วัน
          กระดูกในร่างกายคนเรามีทั้งหมด 206 ชิ้น กระดูกสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และเติบโตได้ตามอายุ มีหน้าที่สำคัญในการเป็น แกนหลักในการยึดเกาะของเอ็นกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทำให้ร่างกายเคลื่อนที่เคลื่อนไหวได้ และทำหน้าที่เป็นส่วนแข็งปกป้องอวัยวะภายใน  รวมทั้งเป็นแหล่งสะสมของแคลเซียมและฟอสฟอรัส อันเป็นแร่ธาตุที่สำคัญในการทำงานของเนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญหลายอย่างในร่างกาย และแคลเซียมยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กระดูกมีความแข็ง ทำให้กระดูกจำเป็นที่ต้องการแคลเซียมเพื่อการทำงานตามหน้าที่ที่ดี
          ศาสตราจารย์ พ.อ.(พิเศษ) ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวในงานกิจกรรมภายใต้หัวข้อภัยจากโรคกระดูกพรุน จัดโดยชมรมรักษ์กระดูก ภายใต้มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บ.แอมเจน ประเทศไทย ว่า "มีกรณีตัวอย่างของผู้หญิงอายุ 65 ปี คนหนึ่งมาพบแพทย์ด้วยอาการกระดูกสันหลังหักยุบ ร่วมกับมีอาการปวดหลัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกเหตุของโรคกระดูกพรุน ถ้าหากแพทย์ให้ความสนใจแค่การให้ยาระงับปวดมารับประทาน แต่ไม่ได้ดูแลรักษาเรื่องโรคกระดูกพรุน หลังจากผ่านไป 4 ปี ผู้ป่วยคนนี้ก็กลับมาหาเราด้วยกระดูกตะโพกหักเนื่องจากล้ม ซึ่งถือว่าเป็นภาวะกระดูกหักซ้ำ ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ประมาณ 20-25% ผู้ป่วยคนนี้มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วตั้งแต่กระดูกสันหลังหักยุบ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาตามแนวทางที่ถูกต้องตั้งแต่แรก อย่าลืมว่าการผ่าตัดดามกระดูกที่หักหรือการเปลี่ยนข้อเทียมใดๆ ไม่สามารถรักษาโรคกระดูกพรุนหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหักที่ตำแหน่งอื่น ๆ ได้ ในปัจจุบันหลายคนยังเข้าใจว่า กระดูกพรุนเป็นเรื่องของโรคคนชราไม่มีทางรักษาได้ ในปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าโรคกระดูกพรุน สามารถรักษาได้ ถึงแม้จะทำให้หายขาดไปเลยไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกัน การให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและให้ได้รับวิตามินดีที่เพียงพอ รวมทั้งการออกกำลังกายที่เหมาะสม และถ้าจำเป็นเราสามารถใช้ยาบางอย่างในการช่วยเพิ่มมวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้"
          ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันหนึ่งของโรคกระดูกพรุน คือ อายุมากขึ้น และผู้หญิงเป็นได้ง่ายกว่าผู้ชาย บางคนมีประวัติกระดูกหักมาก่อน มีประวัติการผ่าตัดที่รังไข่ การขาดประจำเดือนเป็นเวลานาน มีการใช้ยาสเตียรอยด์ บริโภคแคลเซียมน้อยกว่า 400 มิลลิกรัม และขาดการ ออกกำลังกาย
          อาหารที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ กาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสเค็มจัด และรับประทานโปรตีนมากเกินพอดี เพราะจะไปทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกายมากเกินไป
          "สำหรับแนวทางการรักษาโรคกระดูกพรุน ปัจจุบันมียากระตุ้น การสร้างกระดูกใหม่ และยายับยั้งการสลายกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์จะมุ่งเน้นการป้องกันการเกิด โรคคือ ให้ผู้สูงวัยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกายตามความเหมาะสม รับแสงแดดอ่อน ๆ เป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีที่เพียงพอ แต่ไม่ใช่ไปหาซื้อยารับประทานโดยไม่ปรึกษาแพทย์"รศ.พญ.วิไล คุปต์นิรัติศัยกุล ประธานชมรมรักษ์กระดูก  กล่าวสรุป.


pageview  1205112    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved