HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/03/2555 ]
คอลัมน์ ดูแลสุขภาพ: รู้ทัน...อาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรัง

อาการปวดหลัง หรือ ปวดคอ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงหนึ่งของชีวิต หลายรายโชคดีที่อาการปวดนั้นเป็นอยู่ไม่นานก็หายไป ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยมีอาการเรื้อรังจนไม่สามารถทำกิจกรรมระหว่างวันได้ตามปกติ
          สาเหตุแห่งความปวด
          สาเหตุของอาการปวดหลัง ปวดคอ มาจากทั้งปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วยเอง และปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในได้แก่ ความผิดปกติทางพยาธิสภาพของกระดูกสันหลัง อาทิ หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเสื่อม กระดูกสันหลังเคลื่อน กระดูกสันหลังคดงอผิดปกติ มีเนื้องอกที่กระดูกสันหลัง หรือการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง ส่วนปัจจัยภายนอก ได้แก่ กิจกรรมทางร่างกายของผู้ป่วย
          นอกจากนี้ ปัจจัยภายนอก ยังอาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ การนั่งหลังไม่พิงพนัก หลังงอ ก้มคอ ทำงานเป็นเวลานาน กิจกรรมเหล่านี้สร้างความเครียดให้กระดูกหลังและคอ เมื่อเกิดขึ้นซ้ำๆ ทำให้กระดูกเสื่อมลง จนมีอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังในที่สุด ส่วนอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อกระดูกมีอยู่บ้าง เช่น เล่นกีฬาบิดแรงจนหมอนรองกระดูกฉีกทันที แต่เกิดขึ้นน้อย บางรายมาพบแพทย์เพราะเข้าใจว่าอาการปวดเป็นเพราะอุบัติเหตุ แต่เมื่อตรวจดูพบว่า ความเสื่อมของกระดูกมีอยู่แล้ว แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เกิดอาการปวดตามมา
          อาการปวด
          ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจากส่วนใดส่วนหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังบริเวณอื่น เช่น ปวดคอร้าวไปยังแขน หรือปวดหลังร้าวลงขา กรณีแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์ เพราะเป็นสัญญาณว่าเส้นประสาทกำลังถูกรบกวน
          ปวดเรื้อรัง รักษาได้
          หลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า เมื่อพักผ่อนก็แล้วรับประทานยาก็แล้ว ทำกายภาพบำบัดก็แล้ว ก็ยังไม่หาย จะมีทางเลือกในการรักษาอย่างไร ทางเลือกในการรักษาอีกหลายวิธี แต่ 3 วิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังที่ได้ผลดี และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
          1.การฉีดยาเฉพาะจุดเพื่อลดการอักเสบ (Local Steriod Injection)
          วิธีนี้เป็นการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังโดยไม่ต้องผ่าตัด เหมาะสำหรับคนไข้ที่รับประทานยา และทำกายภาพบำบัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น แต่เมื่อตรวจโดยการเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอแล้วพบว่า สภาพของกระดูกสันหลังยังไม่เสื่อมจนต้องผ่าตัด หลังจากการฉีดยาระงับการอักเสบแล้งฤทธิ์ยาจะอยู่ไปได้ 1-3 เดือน และอาจกลับมาปวดใหม่ได้ตลอด หากผู้ป่วยไม่ปรับเปลี่ยนท่าทางและออกกำลังกายอย่างถูกต้อง
          2.การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง (Endoscopic Spine Surgery)
          การผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังที่มีปัญหาออก โดยใช้กล้องขนาดเล็กเพื่อลดอาการปวดหลังเรื้อรังอันเนื่องมาจากหมอนรองกระดูกปลิ้นกดทับเส้นประสาท หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบทับเส้นประสาท วิธีการนี้เป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กซึ่งทักษะของแพทย์มีความสำคัญมากไม่แพ้เครื่องมือ  
          3.การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเทียม (Artificial Disc Replacement)
          การผ่าตัดโดยวิธีนี้เป็นการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลังเดิมที่เสื่อมหรือบาดเจ็บโดยใช้หมอนรองกระดูกเทียม มักจะทำกันที่คอเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกข้อถัดไปเสื่อมเร็วขึ้น เพราะแต่เดิม เมื่อหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม ก็จะมีการผ่าออกและเชื่อมข้อไว้ด้วยกัน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ ข้อกระดูกชิ้นถัดไปต้องทำงานหนักกว่าเดิม และเสื่อมเร็วขึ้น
          แม้เทคนิคในการรับมือกับความผิดปกติของกระดูกสันหลังจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้กระดูกสันหลังเสื่อม จนเป็นที่มาของอาการปวดหลัง ปวดคอเรื้อรังก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ นั่นคือ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งภายหลังจากการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องออกกำลังเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังพร้อมกับปรับเปลี่ยนอิริยาบทให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาการปวดกลับมาอีก
 


pageview  1205127    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved