HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 16/03/2555 ]
ฝุ่นละอองปลอดภัย มองเห็นเสาไฟฟ้า4ต้น

ฝุ่นละอองในอากาศมากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในหลายพื้นที่ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2555 ในโรงพยาบาล 87 แห่ง มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 23,685 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 24,837 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 2,265 ราย และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,610 ราย
          ปริมาณฝุ่นละอองที่มากเกินค่ามาตรฐานและนับว่าอยู่ในระดับอันตรายต่อร่างกายจนยากที่ชาวบ้านจะรับมือและหลีกเลี่ยง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางหมอกควันให้ปลอดภัย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนในสถานการณ์หมอกควัน โดยแบ่งเป็น 4 ระดับตามปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ได้แก่ 1.น้อยกว่า 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสามารถมองเห็นเสาไฟฟ้าได้ไกลประมาณ 4 เสา นับว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ ประชาชนควรช่วยกันดูแลไม่ให้มีการเผาเพื่อป้องกันมลพิษและหากเห็นพื้นที่ใดมีการเผาควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด โรคหอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง และโรคเกี่ยวกับหัวใจหลอดเลือด ควรเตรียมยาให้พร้อม หากมีปัญหาสุขภาพควรรีบไปพบแพทย์
          2.ระหว่าง 120-150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสามารถมองเห็นเสาไฟฟ้าได้ไกลประมาณ 3 เสา ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยง จึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องออกแรงยาวนาน กรณีจำเป็นต้องอยู่ในสถานที่มีฝุ่นควันควรใช้ผ้าหรือหน้ากากเพื่อปิดปากปิดจมูก และปิดคลุมอาหารที่จะรับประทานไม่ให้ปนเปื้อนฝุ่น
          3.ระหว่าง 150-200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสามารถมองเห็นเสาไฟฟ้าได้ไกลประมาณ 2 เสา เป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ทุกคน กลุ่มเสี่ยงงดออกกำลังกายหรือกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนผู้ที่มีร่างกายปกติงดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ใช้หน้ากากปิดปากจมูก คลุมอาหาร และล้างมือบ่อยๆ ในโรงเรียน สถานเด็กเล็ก ต้องงดกิจกรรมที่จัดภายนอกอาคาร แต่หากเกิดปัญหาหมอกควันในระดับรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการเดินทางของเด็ก หรือไม่สามารถหาสถานที่ภายในโรงเรียนที่หลีกเลี่ยงจากหมอกควันได้ อาจพิจารณาหยุดเรียนชั่วคราว และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรออกเยี่ยมเยียนกลุ่มเสี่ยง
          และ 4.มากกว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือสามารถมองเห็นเสาไฟฟ้าได้ไกลประมาณ 1 เสา มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนทุกคนมาก ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องอยู่เฉพาะในบ้าน งดกิจกรรมนอกบ้านทั้งหมด จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัวทุกคน ควรจำกัดระยะเวลาที่อยู่ภายนอกอาคาร หรือกลางแจ้งให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น หากจำเป็นต้องออกไปในพื้นที่มีฝุ่นต้องใช้หน้ากากป้องกันปาก จมูก
          สาเหตุหลักของการเกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ คือ ไฟป่าและการเผาซากพืชจากการเกษตร จนทำให้จุดไฟเล็กๆ ลุกลามกลายเป็นฝุ่นควันฟุ้งกระจายขยายเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่คนในพื้นที่พึ่งปฏิบัติไม่ใช่การป้องกันตัวเองไม่ให้เจ็บป่วยจากหมอกควัน ซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่จะต้องสอดส่องดูแลไม่ให้มีการเผาซากพืช ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีจะได้ไม่เกิดขึ้นอีกอย่างซ้ำซาก
          อย่าคิดว่าเผาแค่เล็กน้อย เพราะผลที่เกิดขึ้นมันมากมาย โดยเฉพาะที่มีผลต่อสุขภาพของคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
 


pageview  1205094    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved