HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 30/05/2556 ]
ตัดเต้านม ป้องกันมะเร็ง

 นายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
          เป็นข่าวฮือฮาเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ก่อนไม่ใช่เฉพาะแต่ในเมืองไทยเรา แต่ดังกระฮึ่มไปทั่วโลกเมื่อนางเอกสาวสุดเซ็กซี่วัย 37 ปี แองเจลินา โจลี ออกมายืนยันว่าเธอยอมตัดเต้านมทิ้งทั้งสองข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งเต้านม เพราะเธอมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ ทำเอาหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ทั่วโลกออกอาการเสียดายของ ในขณะที่หญิงไทยจำนวนหนึ่งอาการหวาดระแวงอยากตัดเต้านมทิ้งเลียนแบบคนดังกับเขาบ้าง
          ก่อนอื่นต้องขอเน้นย้ำกันตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าวิธีการตัดเต้านมทิ้งเพื่อหวังผลเรื่องที่จะไม่ต้องเป็นมะเร็งเต้านมนั้น ยังไม่เป็นวิธีการป้องกันที่เป็นมาตรฐานยังไม่เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างแต่อย่างใด เพราะถึงจะตัดเต้านมออกทั้งสองข้างออกแล้วก็ตาม ก็ยังมีเซลล์เต้านมหลงเหลือตกค้างอยู่ตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและตามกล้ามเนื้ออยู่วันยังค่ำ เรียกว่าลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์จากเซลล์เนื้อเต้านมที่ยังหลงเหลืออยู่ ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้นางเอกคนสวยต้องยอมสละของรักของสงวนก็เพราะเธอมีความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ คือยีนบีอาร์ซีเอ 1 ซึ่งคนที่มีความผิดปกติของยีนตัวนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงถึง 87 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ 50 เปอร์เซ็นต์ และเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ 50 เปอร์เซ็นต์ ยืนยันได้จากที่มารดาของเธอเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมด้วยวัยเพียง 56 ปี นอกจากนั้นยายของเธอก็เสียชีวิตจากมะเร็งรังไข่ ล้วนเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าครอบครัวของเธอมีความผิดปกติของยีนตัวนี้ และเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดมะเร็งทั้งสองอวัยวะ นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติของยีนบีอาร์ซีเอ 2 ที่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมสูงและมะเร็งรังไข่ด้วยเช่นกัน แต่โอกาสเกิดจะน้อยกว่ายีนตัวแรก
          ตัวเลขปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด แต่ที่เกี่ยวข้องกับยีนตัวนี้ จากข้อมูลในต่างประเทศพบว่าคนทั่วไปมีโอกาสที่มีความผิดปกติของยีนทั้งสองมีเพียง 1คนใน500-1,000 คน โดยเฉพาะในกลุ่มชาวยิมและไอซ์แลนด์ ส่วนคนไทยมีมากน้อยแค่ไหนยังไม่มีรายงาน แต่จากข้อมูลประชากรในภูมิภาคเอเชียพบว่ามีอัตราการกลายพันธุ์ของยีนทั้งสองตัวนี้น้อยกว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะต้องตรวจหายีนทั้งสองตัวนี้ก็เช่นกัน มีสมาชิก 2 คนขึ้นไปในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน หรือเป็นมะเร็งที่เกี่ยวข้องกัน เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุน้อยกว่า 45 ปี หรือเป็นมะเร็งหลายตำแหน่งในอวัยวะเดียวกันหรืออวัยวะที่เป็นคู่ เช่น เป็นมะเร็งเต้านม2 ข้าง เพราะฉะนั้นหญิงไทยก็จงอย่าได้วิตกกังวลจนเกินเหตุ ไม่ต้องตื่นตระหนกแห่กันไปตรวจหาความผิดปกติของยีนสองตัวนี้ เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายในการตรวจจะแพงมากแล้วยังใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้ผลการตรวจอีกนะครับ...เชื่อผมสิ


pageview  1205450    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved