HISO - เรื่องเล่าข่าวเด่น

  
   Follow us      
  
หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก [ วันที่ 23/04/2556 ]
นั่งหน้าคอมพ์ เสี่ยงโรค

 ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท เพราะอยู่กับการใช้งานคอมพิวเตอร์มากกว่าในอดีต โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศและคนที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวันเป็นเวลานานๆ เนื่องจากระหว่างใช้คอมพิวเตอร์จะมีการเกร็งและใช้งานบริเวณส่วนหลัง อาจจะมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องและเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม เมื่อทับถมเป็นเวลานานจะส่งผลให้เกิดกระดูกเสื่อม ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูก
          นพ.ธีรศักดิ์ พื้นงาม แพทย์หัวหน้าศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 1 พร้อมทีมแพทย์ Mini Spine ได้ให้ข้อมูลว่า โรคนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรคหมอนรองกระดูกส่วนเอวกดทับเส้นประสาท จะมีอาการปวดร้าวจากเอวลงไปที่ขา ขาชาหรืออ่อนแรงที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง และหมอนรองกระดูกส่วนคอกดทับเส้นประสาท จะปวดต้นคอร้าวไปที่สะบักข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจปวดถึงแขนหรือมือ มืออ่อนแรงจับสิ่งของไม่ถนัด มือและแขนมีอาการชา ซึ่งหากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรีบรักษาก่อนอาการลุกลามรุนแรง สำหรับการรักษาขั้นต้นจะให้ยารับประทานลดอาการบวมและอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณหมอนรองกระดูกกดทับ รวมทั้งการประคบนวด การจัดกระดูก การยืดตัว และทำกายภาพบำบัด จะช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานและอาการยังไม่ดีขึ้นควรต้องเข้ารับการผ่าตัด  
          "การรักษามีหลายวิธี ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก และการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ ในปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศอเมริกาและประเทศอื่นๆ เพราะมีขั้นตอนที่ง่ายและได้ผลดีมากขึ้น ในแง่ของผู้เข้ารับการผ่าตัด จะสามารถฟื้นตัวเร็ว และกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อรักษาแล้วก็ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีกหากไม่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งเพียงแค่จัดท่าทางการทำงานหรือกิจวัตรประจำวันให้ถูกต้อง ให้แนวกระดูกสันหลังอยู่ในแนวตรงเสมอ และหลีกเลี่ยงการทำอะไรที่ใช้กล้ามเนื้อหลังมากๆ รวมถึงหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังให้แข็งแรง เพราะกล้ามเนื้อจะคอยตรึงแนวกระดูกสันหลังไม่ให้เคลื่อนไหวมากเกินไป" คุณหมอ ให้ความรู้
 


pageview  1206109    
สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ Health Information System Development Office (HISO)
ห้อง A3 ชั้น 3 อาคาร 4Plus Buiding เลขที่ 56/22-24 ซอยงามวงศ์วาน 4 ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
Tel : 02-5892490-2 Fax : 02-5892493 www.healthinfo.in.th
 
© Health Information System Development Office (HISO) . All Rights Reserved